อดีต รมว.คลัง ค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ระบุ จะพาประเทศลงเหว ชี้ กฎหมายเดิม นิยามรัฐวิสาหกิจอย่างรัดกุมถึง 4 ชั้น แต่รัฐบาลนี้กำลังจะปู้ยี่ปู้ยำกติกากำกับควบคุมรัฐวิสาหกิจ
วันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ “ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ที่จะพาประเทศลงเหว! ตอนที่ 1” โดยระบุว่า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอคัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ ที่จะพาประเทศลงเหว ซึ่งกำลังจะมีการพิจารณากันใน สนช.(สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) วันที่ 20 กรกฎาคม 2561 นี้
นายธีระชัย ระบุว่า กฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณฯ พ.ศ. 2502 ซึ่งมาตรา 4 บัญญัติคำนิยาม “รัฐวิสาหกิจ” ไว้อย่างรัดกุม โดยกำหนดไว้ 4 ชั้น คือ (รูป 1 และ 2)
(ก) องค์การของรัฐบาลหรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ
(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ค) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(ง) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ค) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
(จ) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ส่วนราชการ และ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตาม (ง) และ/หรือ (ก) และ/หรือ (ข) และ/หรือ (ค) มีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
นับว่าเป็นการบัญญัติที่เน้นความรัดกุม เพราะครอบคลุมรัฐวิสาหกิจ ลงไปจนถึงชั้นบริษัทลูกหลาน ถึง 4 ชั้น เรียกว่าไม่ให้บริษัทรุ่นลูก รุ่นหลาน รอดพ้นการกำกับดูแลในระบบงบประมาณได้เลย
ในสมัยนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คือ นายสุนทร หงส์ลดารมภ์ ผู้ซึ่งต่อมาดำรงอีกหลายตำแหน่ง เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ และก่อนหน้านั้น เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ถามว่า ทำไมผู้ใหญ่สมัยนั้น จึงได้ร่างกฎหมายแบบเข้ม เพื่อจะให้ครอบคลุมบริษัทลูกหลานของรัฐวิสาหกิจหลายชั้น?
คำตอบคือ นโยบายของรัฐบาลไทยเน้นให้รัฐวิสาหกิจมีบทบาทเฉพาะเท่าที่จำเป็น มิใช่ให้รัฐบาลเข้าไปสยายปีกทำธุรกิจแบบเอกชนอย่างกว้างขวาง
ถ้าไม่ตีกรอบไว้ให้รัดกุม ก็จะเปิดช่องทางให้บางรัฐบาลในอนาคต ใช้พลังอำนาจของรัฐ เข้าไปทำธุรกิจแบบเอกชน และเอาเปรียบบริษัทเอกชนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้ รัฐถูกบังคับโดยปริยาย จะต้องรับผิดชอบต่อภาระหนี้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกิจกรรมของบริษัทในชั้นลูกและชั้นหลาน หากควบคุมไม่รัดกุม ก็จะกระเทือนมาถึงรัฐวิสาหกิจในชั้นแม่ได้
อีกทั้งการกำกับดูแลผ่านระบบงบประมาณ ทำให้การพิจารณาด้านการเงินจะต้องผ่านรัฐสภา ซึ่งมีทั้งพรรคฝ่ายค้าน และวุฒิสมาชิก คอยทำหน้าที่ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง
ทั้งนี้ ผู้ใหญ่ในวงการการเงินการคลังและเศรษฐการในอดีต ก็ล้วนเป็นปูชนียบุคคล ที่นอกจากสร้างกติกาสำหรับรัฐบาลต่างๆ ในอนาคตแล้ว ยังบริหารบ้านเมืองอย่างระมัดระวังมาตลอดอีกด้วย
ไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่ดีตั้งแต่อดีต จะมาถูกลบทิ้งโดยรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร
“ถามว่า รัฐบาลนี้เตรียมจะปู้ยี่ปู้ยำ กติกากำกับควบคุมรัฐวิสาหกิจ อย่างไร? คำตอบอยู่ในตอนที่ 2” นายธีระชัยระบุ