xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” จวกกรมเชื้อเพลิงฯ อ้างโมเดลบรรษัทน้ำมันปล้นคนไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล (แฟ้มภาพ)
อดีต รมว.คลัง นึกไม่ถึง กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แพร่โมเดลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อ้างไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทขึ้นมาอีก เพราะการบริหารจัดการปิโตรเลียมของไทยปัจจุบันเป็นบรรษัทอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นโมเดลปล้นประชาชน

วันที่ 16 ก.ค. เวลา 23.04 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ในหัวข้อ “กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเผยแพร่โมเดลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ที่มีผลเป็นการปล้นประชาชนคนไทย”

ไม่น่าเชื่อว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะคิดอ่านเผยแพร่โมเดลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ตามภาพข้างล่าง

ภาพนี้พยายามสื่อว่า ประเทศไทยมีบรรษัทอยู่แล้ว โดยแบ่งการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย มี 3 คณะกรรมการอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีบรรษัท และไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการบรรษัทเกิดขึ้นมาอีก ระดับกำกับดูแล มี 3 องค์กรอยู่แล้ว จึงไม่ต้องมีบรรษัท และไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการบรรษัทเกิดขึ้นมาอีก

ระดับ “การดำเนินการ” มี 2 บริษัทอยู่แล้ว คือ ปตท. และ ปตท.สผ. และไม่จำเป็นต้องตั้งบรรษัทขึ้นมาอีก แต่ขออภัยที่จะต้องบอกผู้อ่านว่า ไม่ทราบว่าผู้ออกแบบโมเดลนี้ตั้งใจหรือไม่ แต่โมเดลนี้เป็นการปล้นประชาชนคนไทยครับ โดยปัญหาหลัก อยู่ที่ระดับ “การดำเนินการ”

ในกิจกรรมปิโตรเลียมนั้น มีหลายกิจกรรมที่จำเป็นต้องมีบรรษัท เช่น

(1) การขายก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของรัฐ เนื่องจากก๊าซส่วนนี้เป็นทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้น การขายก๊าซจะต้องดำเนินการตามระเบียบการพัสดุ เพื่อให้รัฐได้รับราคาสูงสุด รัฐไม่สามารถขายก๊าซส่วนนี้ให้แก่ ปตท. โดยวิธีเจรจา หรือโดยไม่มีการแข่งขัน เพราะไม่เป็นไปตามระเบียบการพัสดุ และไม่มีกลไกที่แน่ใจได้ว่ารัฐได้รับราคาสูงสุด ผู้ที่ทำหน้าที่ขายก๊าซดังกล่าว จึงจะต้องเป็นบรรษัท และบรรษัทก็ต้องขายโดยมีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใส ทั้งนี้ การที่ ปตท. จะทำหน้าที่นี้แทนบรรษัท นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังจะทำให้รัฐไม่ได้ประโยชน์สูงสุดอีกด้วย

(2) การซื้อก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของเอกชน เนื่องจากสิทธิในการซื้อขายก๊าซส่วนนี้เกิดขึ้นตามเงื่อนไขใน TOR จึงเป็นทรัพยสิทธิที่เกิดขึ้นโดยอาศัยอำนาจมหาชนของรัฐ ผู้ที่จะใช้สิทธิดังกล่าวได้ จึงจะต้องเป็นบรรษัทซึ่งรัฐเป็นเจ้าของ 100% เท่านั้น

(3) ประโยชน์ที่รัฐจะให้แก่ ปตท. และ ปตท.สผ. เปรียบเทียบกับบรรษัท ผลประโยชน์ใดก็ตาม ที่รัฐให้แก่ ปตท. และ ปตท.สผ. ถึงแม้ทั้งสองบริษัทขณะนี้ยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และถึงแม้กระทรวงการคลังถือหุ้นใหญ่ แต่รัฐไม่ได้ถือหุ้น 100% (ดังเช่นกรณีบรรษัท) ดังนั้น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ทั้งสองบริษัท จึงไม่ได้ตกเป็นของประชาชนชาวไทย 100% แต่ผลประโยชน์บางส่วนจะตกเป็นของผู้ถือเอกชน ซึ่งถึงแม้ผู้ถือหุ้นบางส่วนจะเป็นคนไทย แต่ก็มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก ที่เป็นชาวต่างชาติ

ดังนั้น ถ้าหากรัฐมอบทรัพยสิทธิที่เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไปให้แก่บรรษัทซึ่งรัฐเป็นเจ้าของ 100% ผลประโยชน์ทั้งหมดก็จะตกเป็นของคนไทยทั้งมวลเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐมอบสิทธิที่เป็นของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไปให้แก่ ปตท. หรือ ปตท.สผ. แทนที่จะมอบให้บรรษัท ผลประโยชน์ทั้งหมดจะไม่ตกเป็นของคนไทยทั้งมวลเต็มเม็ดเต็มหน่วย

กรณีนี้ ผลประโยชน์บางส่วน จะรั่วไหลไปเป็นของผู้ถือเอกชน ซึ่งบางส่วนเป็นคนไทย และบางส่วนเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งยื่งไม่เป็นธรรมแก่คนไทย เพราะชาวต่างชาติเหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีให้แก่ประเทศไทย

“ผมจึงเห็นว่า โมเดลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ (NOC) ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเผยแพร่ มีผลไม่ต่างกับการปล้นประชาชนคนไทย เพียงแต่ผมไม่ทราบว่า ผู้คิดโมเดลนี้ เพราะยังไม่เข้าใจหลักเศรษฐกิจเท่าที่ควร หรือเพราะมีวัตถุประสงค์อื่น” นายธีระชัย ระบุ





กำลังโหลดความคิดเห็น