อดีต รมว.คลัง เสนอโมเดลบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ที่เหมาะกับประเทศไทย ทำหน้าที่ใช้สิทธิแทนรัฐซื้อขายปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมาได้ หรือเข้าร่วมหุ้นเอกชนในแหล่งปิโตรเลียมที่สำรวจพบใหม่ รวมทั้งเป็นผู้ถือสิทธิในอุปกรณ์ที่จะตกเป็นของรัฐหลังสัมปทานหมดอายุ แต่ไม่ต้องยุ่งกับการสำรวจ ตั้งโรงกลั่นหรือทำปั๊มขายปลีก โดยหน้าที่เหล่านี้จะให้ ปตท.มาทำแทนบรรษัทไม่ได้ เพราะ ปตท.ถูกแปรรูปไปแล้ว
วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กและช่องยูทูบส่วนตัวในชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala เกี่ยวกับโมเดลบรรษัทพลังงานแห่งชาติที่เหมาะสมแก่ประเทศไทย ทั้งนี้หากย้อนกลับไปตอนที่ประเทศไทยเริ่มให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่เอกชนเมื่อ 40 ปีก่อน ยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันและพลังงานของโลกเป็นกลุ่ม 7 บริษัท ที่เรียกว่า 7 สาวงาม เป็นของอเมริกา 5 บริษัท และยุโรป 2 บริษัท คือ บีพี ของอังกฤษ และเชลล์ ของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่ 5 บริษัทของอเมริกามีการควบรวมกิจการกันไปมาจนปัจจุบันเหลือ 2 บริษัท คือ เชฟรอน และ เอ็กซ์ซอน หรือ เอสโซ่
เมื่อ 40 ปีก่อน ตอนที่ประเทศไทยเริ่มต้นให้สัมปทานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เราจำเป็นต้องพึ่งบริษัทต่างประเทศ เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งมีก๊าซหรือน้ำมัน จะใช้ระบบสัมปทานแล้วก็อาศัยบริษัทยักษ์ใหญ่ 7 บริษัทดังกล่าว แต่ในปัจจุบัน บริษัทที่ธุรกิจพลังงานไม่ว่าจะเป็นด้านน้ำมันหรือก๊าซ เรียงลำดับ 1-10 ของโลก ไม่มี 7 สาวงามอยู่เลย แต่เป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ทั้งสิ้น โดยอันดับ 1 คือบรรษัทน้ำมันของประเทศซาอุดิอาระเบีย อันดับที่ 2 ของประเทศอิหร่าน และอันดับที่ 3 ก็คือบรรษัทน้ำมันของประเทศกาตาร์
จนเวลานี้กิจกรรมด้านพลังงานในเรื่องของการสำรวจและการผลิตน้ำมันและก๊าซของโลกในแง่ของสำรองน้ำมันอยู่ในมือของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วการผลิตน้ำมันทั่วโลกก็ผลิตโดยบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ 75 เปอร์เซนต์ เช่นเดียวกันกับก๊าซ นั่นเพราะ 40 ปีที่ผ่านมา ได้เกิดบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาเป็นดอกเห็ดในประเทศกำลังพัฒนา เพราะได้เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจในเรื่องพลังงานและยืนบนขาตัวเองได้แล้วไม่จำเป็นต้องไปพึ่ง 7 บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว
ขณะนี้แม้ธุรกิจพลังงาน 25 อันดับใหญ่ที่สุดของโลกก็ยังเป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติของประเทศต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ เพราะว่าเขาต้องการให้ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพลังงานตกเป็นผลประโยชน์ของประชาชนของประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติจึงเป็นเรื่องจำเป็น
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาตอนนี้ กระทรวงพลังงานโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพยายามขายไอเดียว่าประเทศไทยมีบรรษัทอยู่แล้ว ซึ่งจริงๆ ถ้าจะว่าไปการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ ปตท.สผ.ในขณะนั้นก็เพื่อจะทำหน้าที่เป็นบรรษัทพลังงานแห่งชาติ แต่ว่าข้อเสียคือถูกแปรรูปไปก่อนที่จะมีการแบ่งสรรปันส่วนในแง่ของทรัพย์สินต่างๆ ให้เรียบร้อย ขณะนี้กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงในระบบการสำรวจและระบบผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้เกิดสิทธิ์และหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการแทนรัฐซึ่งทั้ง ปตท. และ ปตท.สผ.ไม่สามารถดำเนินการได้
ในปี 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับปิโตรเลียม แล้วได้ออกรายงานเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ระบุว่า การที่จะนำเอาบริษัทปตท.เข้ามาทำหน้าที่บรรษัทอาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนบางส่วน เนื่องจากเป็นบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว และมีการบริหารงานเป็นแบบเอกชนไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นจะต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมา
ทั้งนี้ 40 ปีที่ผ่านมา เราใช้ระบบสัมปทาน ก๊าซและปิโตรเลียมที่ได้ ปตท.จะเป็นผู้รับซื้อจากผู้ได้สัมปทานทั้งหมด แต่ระบบนี้กำลังเปลี่ยน เมื่อสัมปทานเดิมครบกำหนดในอีก 4 ปีและอีก 5 ปีข้างหน้า มันจะไม่เป็นของผู้รับสัมปทานเหมือนเดิม แต่ระบบแบ่งปันผลผลิตจะแบ่งก๊าซเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของรัฐบาลอีกส่วนหนึ่งเป็นของเอกชนแล้วทั้ง2 ส่วนไม่สามารถจะให้ ปตท และ ปตท.สผ.ไปทำหน้าที่แทนบรรษัทได้ เพราะว่าก๊าซส่วนที่เป็นของรัฐบาลจะต้องขายโดยทำให้รัฐได้ผลประโยชน์สูงสุดตามกฎหมาย อยู่ดีๆ จะเอาสิทธิ์การขายก๊าซส่วนที่เป็นส่วนแบ่งของรัฐไปให้เอกชนเพื่อทำให้เกิดประโยชน์กับผู้ถือหุ้นเอกชนไม่ได้
ส่วนก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของเอกชน สิทธิในการซื้อมันเกิดจากเงื่อนไขในการแบ่งปันผลผลิต เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิทธิ์ที่เกิดขึ้นโดยอำนาจมหาชนของรัฐ ปตท.จึงไม่สามารถจะใช้สิทธิ์นี้ได้ทั้ง 2 กิจกรรม การขายก๊าซของภาครัฐ การซื้อก๊าซจากเอกชนในลักษณะเป็นการเหมาซื้อแต่ผู้เดียวอย่างนี้ต้องให้บรรษัทเป็นผู้ดำเนินการทั้งสองฝั่ง
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ส่วนโมเดลบรรษัทที่ภาคประชาชนคือเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) คิดว่า เหมาะสมกับประเทศไทยนั้น เห็นว่าบรรษัทไม่ควรจะทำตัวเหมือนอย่าง ปตท.แต่ควรทำลักษณะที่แคบกว่ามาก สิ่งที่บรรษัทไม่ควรทำเพราะว่าเอกชนทำได้อยู่แล้ว ประการแรกคือบรรษัทไม่ควรทำหน้าที่ในการสำรวจหาก๊าซ-น้ำมันเอง และไม่ควรทำหน้าที่ผลิตเอง เพราะว่าการสำรวจและผลิตเองมีความเสี่ยง ต้องใช้ทุน เอกชนทำตรงนี้ได้อยู่แล้ว ก็ควรจะให้เอกชนแข่งขันกันในการที่จะได้สิทธิ์เป็นคนสำรวจและผลิต
โมเดลสำคัญอีกประการหนึ่ง กิจกรรมในส่วนของกลางน้ำและปลายน้ำ หรือการตั้งโรงกลั่นและการตั้งปั๊มขายปลีกน้ำมัน ก็ไม่ควรจะเป็นหน้าที่ของบรรษัท แต่บรรษัทควรจะทำหน้าที่เพียงแคบๆ แต่จำเป็นจะต้องทำเนื่องจากจะเป็นแขนขาให้กับรัฐ
ประการแรกคือ เป็นผู้ใช้สิทธิ์ในการซื้อและขายปิโตรเลียม ตรงนี้เป็นเรื่องง่ายๆ หน้าที่ในการที่จะเข้าไปขายก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของรัฐ กับก๊าซที่เป็นส่วนแบ่งของเอกชนที่จะรับซื้อเข้ามา บรรษัทก็ทำตรงนี้
ประการที่ 2 ถ้าหากว่าเอกชนไปสำรวจในพื้นที่ที่ยังไม่เคยมีการสำรวจมาก่อนแล้วเจอน้ำมันหรือเจอก๊าซเราก็จะมีเงื่อนไขว่าต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลสามารถเข้าไปร่วมถือหุ้นได้ และคนที่จะเข้าไปถือหุ้นก็ควรจะเป็นบรรษัท
ประการที่ 3 ในแง่ของอุปกรณ์ เวลานี้กลางอ่าวไทยมีแท่นขุดเจาะจำนวนมาก เฉพาะเอราวัณ-บงกช ก็มีเกือบ 2.000 แท่น แล้วแท่นทั้งหมดและอุปกรณ์ทั้งหมดกำลังจะตกเป็นของรัฐเมื่อสัมปทานหมด คนที่ควรจะเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในอุปกรณ์ ควรจะเป็นบรรษัท เพื่อให้รู้เท่าทันเอกชน
ทั้งนี้ ในการจัดจ้างบุคลากรเข้ามาทำงานในบรรษัทควรจะมีเงินเดือนผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับภาคเอกชน ถึงแม้จะทำงานแบบแคบ แต่ก็จะทำงานในลักษณะที่ทันเหตุการณ์ รู้เท่าทันภาคเอกชนที่จะมาเป็นผู้สำรวจ ผู้ผลิต ที่สำคัญจะเป็นผู้ที่มีความรู้ในเชิงเทคนิคในเชิงธุรกิจสำหรับปิโตรเลียมที่รัฐจะพึ่งพาได้จริงๆ
เพราะว่าบรรษัทจะถือหุ้นโดยรัฐ 100% ตลอดเวลา การทำอย่างนี้รัฐจะได้ไม่ต้องกังวล แล้วคนที่อยู่ในบรรษัทก็จะให้คำแนะนำ เพื่อจะทำกิจกรรมปิโตรเลียมเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าทำอย่างนั้นแล้วผู้ถือหุ้นจะได้ประโยชน์ครบถ้วนหรือไม่