xs
xsm
sm
md
lg

ยักษ์ปิโตรเลียมจากตะวันออกกลางจ่อขอนำเข้าแอลพีจี ใช้ไทยฐานส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เผยข่าวดีบริษัทด้านปิโตรเลียมขนาดใหญ่จากตะวันออกกลางเข้าหารือดูช่องทางการขอเป็นผู้นำเข้าแอลพีจีป้อนตลาดไทย และหวังใช้ไทยเป็นฐานส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทด้านปิโตรเลียมขนาดใหญ่จากตะวันออกกลางได้มาหารือถึงแนวทางขอเป็นผู้นำเข้าก๊าซแอลพีจีสำหรับจำหน่ายในไทย และต้องการใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกไปยังจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน นับเป็นต่างชาติรายใหญ่ที่ต้องการเป็นผู้ค้าแอลพีจี จากที่ก่อนหน้านี้กลุ่มมิตซูบิชิจากญี่ปุ่นได้มาจดทะเบียนเพื่อค้าแอลพีจีแล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นไปตามนโยบายส่งเสริมการเปิดตลาดแอลพีจีเสรีของกระทรวงพลังงาน

“ขณะนี้แม้ว่าไทยจะนำเข้าแอลพีจี 2 หมื่นตันต่อเดือน แต่แนวโน้มความต้องการใช้หลังปี 2565-2566 จะพุ่งสูงขึ้น โดยต้องมีการนำเข้ากว่า 2 แสนตัน/เดือน หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแหล่งปิโตรเลียม” เอราวัณ-บงกช” ที่ปริมาณก๊าซธรรมชาติจะลดลงจาก 2,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน ขณะที่ภูมิภาคอาเซียนก็ยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจที่เติบโต” นายวิฑูรย์กล่าว

ปัจจุบันไทยมีผู้นำเข้าแอลพีจี 4 ราย คือ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัล จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด แต่จนถึงขณะนี้มิตซูบิชิยังไม่มีการยื่นเสนอแผนนำเข้าแอลพีจีแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ในส่วนมิตซูบิชิระบุว่า หากจะมีการนำเข้าแอลพีจีจะเป็นการเช่าคลังเขาบ่อยาของ ปตท. ซึ่งมีแนวโน้มที่ ปตท.จะลดค่าเช่าคลังลงเพื่อให้เกิดการแข่งขันและเป็นอีกแนวทางที่จะเสริมรายได้ให้ ปตท.

อย่างไรก็ตาม ปตท.อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กร หลังจากได้โอนย้ายธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกไปอยู่ภายใต้ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ซึ่งในส่วนของธุรกิจแอลพีจีจะไปอยู่กับธุรกิจก๊าซของ ปตท.หลังจากแยกหน่วยธุรกิจน้ำมันออกไป เนื่องจากคลังแอลพีจีถือเป็นทรัพย์สินเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น