xs
xsm
sm
md
lg

กคช. เผยดัชนีเศรษฐกิจชุมชน เม.ย. 61 สูงกว่าดัชนี ศก. ฐานราก-ผู้มีรายได้น้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ธัชพล กาญจนกูล
กคช. ชู Flagship Projects 4 โครงการสนองนโยบายเร่งด่วน พม. เผยดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ประจำเดือน เม.ย. 61 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนี 52.1 สูงกว่าดัชนีเศรษฐกิจฐานราก และดัชนีเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย

ดร. ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวถึงดัชนีเศรษฐกิจชุมชน ว่า การเคหะแห่งชาติ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลครัวเรือนของผู้อยู่อาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติ และครัวเรือนของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร, ปริมณฑล, ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำเดือนเมษายน 2561 เพื่อติดตาม และประเมินผลการเติบโตด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยโดยรวมของครัวเรือนในโครงการของการเคหะแห่งชาติ เพื่อเปรียบเทียบการเติบโตด้านเศรษฐกิจกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ รวมถึงศึกษาปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการจัดทำดัชนีชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และด้านที่อยู่อาศัยของครัวเรือน ทั้งในชุมชนโครงการของการเคหะแห่งชาติ และครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนอื่นๆ

โดยพบว่าผลการประเมินด้านเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีค่าดัชนี 55.8 ภาคกลางมีค่าดัชนี 47.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนี 53.1 โดยค่าดัชนีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีค่าสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50) แสดงว่า ครัวเรือนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งสะท้อนได้จากครัวเรือนมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่แน่นอน มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ และในครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีการออมทรัพย์เกินร้อยละ 50 ของครัวเรือนทั้งหมดในชุมชน ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ จะออมทรัพย์ในรูปแบบของเงินสด หรือฝากเงินไว้ในธนาคาร มีพียงครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ที่ออมทรัพย์ในอสังหาริมทรัพย์มากกว่าภูมิภาคอื่นๆ

สำหรับภาระหนี้สินของครัวเรือนของชุมชนการเคหะแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ในการซื้อบ้าน และที่ดิน รองลงมา ได้แก่ หนี้เพื่อการดำรงชีพ และหนี้เพื่อสิ่งอำนวยความสะดวก ตามลำดับ ส่วนแหล่งเงินกู้ของครัวเรือนของชุมชนการเคหะแห่งชาติ ส่วนใหญ่กู้เงินจากธนาคาร รองลงมา กู้เงินจากญาติ หรือพี่น้อง แต่มีบางส่วนที่กู้เงินนอกระบบผลการประเมินด้านสังคมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าดัชนี 50.5 ภาคกลาง มีค่าดัชนี 22 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนี 43.8 โดยค่าดัชนีของกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่ามากกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50) ซึ่งหมายความว่าครัวเรือนในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าภาคอื่นๆ ประเมินได้จากชุมชนสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ มีการรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ จากผลการประเมินด้านที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีค่าดัชนี 55.8 ภาคกลาง มีค่าดัชนี 64.4 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนี 65.1 โดยค่าดัชนีดังกล่าวของทุกภาคมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลาง (ค่ากลาง = 50) ซึ่งสะท้อนได้จากสัดส่วนของครัวเรือนที่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินส่วนใหญ่เกินร้อยละ 45 สภาพที่อยู่อาศัยในโครงการมีสภาพที่ดีไม่เสื่อมโทรมเกินร้อยละ 70 และยังช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน เช่น ดูแลเรื่องขยะ การกำจัดของเสีย เป็นต้น

ดร. ธัชพล กล่าวว่าการเคหะฯ ได้เปรียบเทียบดัชนีเศรษฐกิจในกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ ดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติมีค่า 52.1 ดัชนีเศรษฐกิจฐานรากมีค่า 46.9 และดัชนีเศรษฐกิจของผู้มีรายได้น้อย 31.1 พบว่า ในภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจชุมชนของการเคหะแห่งชาติ มีค่าสูงกว่าดัชนีเศรษฐกิจฐานราก และดัชนีเศรษฐกิจผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากครัวเรือนในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ มีรายได้ที่แน่นอน มีเงินทุนในการประกอบอาชีพ มีตลาดขายสินค้า และครัวเรือนยังมีการออมทรัพย์ในรูปแบบต่างๆ มากกว่ากลุ่มอื่นๆ

สำหรับการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ ที่ตอบสนองนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนด Flagship Projects ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุรายได้ปานกลาง (บ้านเคหะกตัญญู คลองหลวง 1, 2) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเป้าหมายจัดทำจำนวน 2 โครงการ รวม 360 หน่วย ตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบคลองสี่ ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้แก่ โครงการบ้านเคหะกตัญญูคลองหลวง 1 จำนวน 192 หน่วย และโครงการบ้านเคหะกตัญญูคลองหลวง 2 จำนวน 168 หน่วย ขณะนี้เตรียมเสนอโครงการฯ ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือนพฤษภาคม 2561 และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในเดือนมิถุนายน 2561

2. โครงการเคหะประชารัฐ (ร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน) เพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ คุ้มค่า และมีสภาพแวดล้อมที่ดี มีรูปแบบการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการที่มีมูลค่าสูงกว่า 5,000 ล้านบาท (Joint Investment) ดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ขณะนี้การเคหะแห่งชาติอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการให้เอกชนร่วมทุน 3 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ร่มเกล้า โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 3 และระยะที่ 4 (ผู้อยู่อาศัยใหม่) และโครงการเชิงพาณิชย์ในโครงการเคหะชุมชนเชียงใหม่ (หนองหอย) และอยู่ระหว่างจัดหาที่ปรึกษาอีก 2 พื้นที่ ได้แก่ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสวัสดิการข้าราชการปทุมธานี (ลำลูกกา) และโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสวัสดิการข้าราชการสมุทรปราการ (บางเสาธง)

อีกรูปแบบ คือ โครงการที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท มี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบแรก Joint Operation การให้สิทธิการเช่าระยะยาวบนที่ดินของการเคหะแห่งชาติ ที่มีขนาดเล็ก มีเป้าหมายดำเนินโครงการจำนวน 50,000 หน่วย และแบบที่สอง Joint Support โดยการเคหะแห่งชาติ จะเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ สนับสนุน หรือบริหารจัดการโครงการก่อสร้างให้กับเอกชน ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการ 77 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละประมาณ 800-1,000 หน่วย รวม 70,000 หน่วย โดยจะนำร่องใน 10 จังหวัด ได้แก่ มุกดาหาร, นครพนม, ตาก, พิษณุโลก, นราธิวาส, นครศรีธรรมราช, ระยอง, ชลบุรี, นครนายก และสระบุรี

3. โครงการตลาดเคหะประชารัฐ ได้มีการเปิดตลาดเคหะประชารัฐ 3 ประเภท ใน 4 มุมเมือง ได้แก่ ตลาดเคหะประชารัฐ “ชวนเดินเพลินใจ” บวร-ร่มเกล้า ตลาดเคหะประชารัฐ “ชุมชนสุขใจ” พหลโยธิน 44 และนนทบุรี (วัดกู้ 2) รวมถึงตลาดเคหะประชารัฐ “พลาซ่า” เยส บางพลี โดยการเคหะแห่งชาติ เตรียมเดินหน้าขยายตลาดเคหะประชารัฐ ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ กว่า 93 ตลาด รวม 9,900 แผงร้านค้า โดยในปี 2561 จะเริ่มดำเนินการในจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

4. การบริหารจัดการอาคารคงเหลือ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยการเคหะแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายขายในปีงบประมาณ 2561 จำนวน 13,301 หน่วย ปัจจุบันขายได้ 9,281 หน่วย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2561) ในระหว่างนี้ จะจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขาย และลงพื้นที่รณรงค์การขายอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี


กำลังโหลดความคิดเห็น