xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ออมสินยึดผลงาน 2 ขากำไรดี-ดูแลสังคม รุกเพิ่มรายได้ไม่ใช่ดอกเบี้ย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารออมสินโชว์กำไร Q1 แตะ 1.3 หมื่นล้าน เล็งเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมการขาย ลงทุนบริษัทฟินเทค พร้อมลดค่าใช้จ่ายบริหารงาน แต่ยังเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา มั่นใจทั้งปีสินเชื่อโตตามเป้า 6% และอาจต้องระดมเงินฝากเพิ่มช่วงครึ่งปีหลังแม้มีสภาพคล่องเหลือ 3-4 แสนล้านบาทก็ตาม ย้ำดูแลทั้งผลงานและสังคม เล็งปล่อยสินเชื่อ SME ดูแลคนแก่ หนี้นอกระบบ รวมถึงเยาวชนต่อเนื่อง

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการดำเนินงานธนาคารออมสินช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 (1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2561) ว่า ธนาคารฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 1.34 หมื่นล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.17 พันล้านบาท โดยมาจากกำไรจากการขายหุ้นสามัญและรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ โดย 3 เดือนแรกมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ถึง 1.49 แสนล้านบาท ทำให้สินเชื่อคงเหลือ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 อยู่ที่ 2.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.24 จากสิ้นปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 2.01 แสนล้านบาท

ส่วนเงินฝาก ไตรมาส 1 อยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2560 ที่ธนาคารฯ มียอดเงินฝากสูงเป็นอันดับ 1 ในระบบสถาบันการเงิน จากเงินฝากครบกำหนด โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ธนาคารฯ มีสินทรัพย์รวม 2.62 ล้านล้านบาท ลดลงจากสิ้นปี 2560 จำนวน 4.29 หมื่นล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.61 ซึ่งเป็นไปตามกรอบทิศทางธนาคารฯ

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีสภาพคล่องอยู่ประมาณ 3-4 แสนล้านบาท โดยในปี 2561 บริษัทตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตขึ้น 6% อยู่ที่ประมาณ 2.06 ล้านล้านบาท และอาจจะต้องระดมเงินฝากเข้ามาเพิ่มเติมในช่วงไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปีนี้ โดยคาดว่าจะสามารถทำกำไรสุทธิเติบโตได้มากกว่าในปีที่ผ่านมา หลังจากในปี 2560 ธนาคารมีกำไรสุทธิอยูที่ 3.1 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 2.59 หมื่นล้านบาท

“ที่ผ่านมาเรามียอด NPL เฉลี่ยต่ำสุดในระบบอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท หรือ 2.19% ซึ่งต่ำสุดเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งระบบธนาคารที่ 3.09% อีกด้วย นอกจากนี้ กำไรที่เติบโตในช่วงที่ผ่านมายังมาจากการลดค่าใช้จ่ายภายใน รวมถึงการเพิ่มรายได้ด้านค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุนและประกันเพิ่มอีกด้านหนึ่ง” นายชาติชายกล่าว

นายชาติชายกล่าวอีกว่า การปรับตัวในด้านค่าธรรมเนียมของแบงก์พาณิชย์มิได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารออกมสิน โดยบริษัทมีผ่านการเพิ่มรายได้จากด้านอื่นเข้ามากขึ้น ทั้งด้านการลงทุนในรูปแบบบริษัทร่วมทุน การขายหน่วยลงทุน และประกัน บัตรเครดิต และบัตรเดบิต ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารฯ มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการขายเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10% ของรายได้ทั้งหมดภายใน 3 ปีข้างหน้า

“ปัจจุบันเรามีรายได้จากดอกเบี้ยประมาณ 95% ซึ่งหลังจากนี้สัดส่วนด้านค่าธรรมเนียมการขายน่าจะเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันเรามีพนักงานที่มีใบอนุญาตการขายหน่วยลงทุนแล้ว 3,000 คน และในส่วนค่าใช้จ่ายก็น่าจะลดลงอีกหลังจากลูกค้าเข้ามาใช้แอปฯ MYmo เป็นจำนวนมาก แต่แบงก์ยังมีแผนที่จะเพิ่มสาขาจากเดิมอีก 3 สาขาเป็น 1,059 ในปีนี้” นายชาติชายกล่าว

ขณะที่การลงทุนในบริษัทร่วมทุนประเภทสตาร์ทอัพและฟินเทค ธนาคารได้ทำการลงทุนไปแล้ว 9 บริษัทรวมประมาณ 279 ล้านบาท และปีนี้น่าจะถึง 300 ล้านบาท ซึ่งยังคงมีเงินลงทุนที่คาดว่าจะเพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 900 ล้านบาท รวม 1.2 พันล้านบาท ซึ่งจะเป็นแผนการลงทุนระยะแรก 4 ปีเพื่อการคุ้มทุน และอีก 4 ปีเป็นการสร้างผลกำไร และคาดว่าจะออกจากธุรกิจได้ภายใน 8-10 ปี โดยคาดว่าการลงทุนในรูปแบบนี้จะทำกำไรจากมูลค่าธุรกิจที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเงินปันผลจากการทำธุรกิจ

นายชาติชายกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานในปี 2561 นอกจากการสร้างรายได้และผลประกอบการที่ดีแล้ว ธนาคารฯได้มุ่งเป้าหมายสู่การเป็น The Best & Biggest Local Bank in Thailand “ธนาคารที่ดีที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุด” โดยมุ่งเน้นลูกค้าใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มลูกค้าฐานราก/นโยบายรัฐ มุ่งเน้นกลุ่มผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ กลุ่มผู้มีหนี้นอกระบบ และกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก หรือพ่อค้า-แม่ค้า 2. กลุ่มลูกค้าบุคคล มุ่งเน้นกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง กลุ่มผู้สูงวัย และ 3. กลุ่มลูกค้า SMEs มุ่งเน้นกลุ่ม SMEs Start Up

สำหรับกลุ่มฐานรากและนโยบายรัฐนั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชาชนที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นโครงการที่ธนาคารฯ ได้เข้าไปสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มประชาชนฐานรากอื่นๆ โดยธนาคารฯ จะยกระดับให้ประชาชนก้าวพ้นจากความยากจนด้วยกลไก 3 สร้าง ได้แก่ 1. สร้างรายได้/อาชีพ ผ่านโครงการมหาวิทยาลัยประชาชน โดยการจัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาอาชีพร่วมกับ 17 มหาวิทยาลัย, โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ผ่านโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 84 ชุมชน, พัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ 2. สร้างตลาด ด้วยการจัดตลาดนัดประชารัฐวายุภักษ์, ตลาดประชารัฐสีชมพู, ร้านค้าประชารัฐ, Thailand Street Food, e-Market Place ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และ 3. สร้างประวัติทางการเงิน ด้วยการส่งเสริมการรับชำระเงินผ่าน QR Payment (MyMo Pay และ GSB Pay) โดยได้ดำเนินการติดตั้งคิวอาร์โค้ดไปแล้วกว่า 26,000 ร้านค้า พร้อมกันนี้ มีการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อ Street Food สินเชื่อผู้รับสิทธิ์สวัสดิการรัฐ สินเชื่อ Home Stay สินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ ตลอดจนการให้ออมก่อนกู้

ทั้งนี้ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ธนาคารออมสินได้ปลูกฝังการออมตั้งแต่เยาว์วัย ธนาคารฯ ได้ยกระดับธนาคารโรงเรียน สู่ Virtual School Bank ซึ่งจะจูงใจให้นักเรียน กลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รับความรู้ความเข้าใจและออกแบบการออมด้วยตัวเองได้ในโลกเสมือนจริง ที่สำคัญถือเป็นครั้งแรกที่จะตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ในยุค Digital Banking 4.0 ผ่านทางหน้าเว็บไซต์ www.gsbschoolbank.com ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปเรียนรู้กันมากขึ้น และยังมีโครงการต่างๆ อีกมากมายครอบคลุมทุกมิติของการเรียนรู้สำหรับเยาวชน เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยสู่ความเป็นเลิศทัดเทียมสากล ทั้งด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านวิชาการ ตลอดจนส่งเสริมความมีคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงโครงการ GSB Generation ที่เน้นกิจกรรมตอบโจทย์ Life Style คนรุ่นใหม่

ขณะที่กลุ่มบุคคลรายได้ปานกลาง ธนาคารฯ จะนำเสนอและส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัย ด้วยบริการ Digi-Thai Life Solution ผ่านบริการ Mobile Banking ในชื่อ MyMo ของธนาคารออมสิน บริการธุรกรรมออนไลน์ฟรีค่าธรรมเนียม, MyMo My Life ครบทุกความต้องการในแอปฯ เดียว ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ ลงทุน และประกันชีวิต, Market Place ธุรกิจใหม่บนมือถือรองรับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่, QR Payment รับ-จ่ายแบบไร้เงินสด ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมแก่ธนาคารฯ ในอนาคต

นายชาติชายกล่าวต่อไปว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงวัยนั้น ธนาคารออมสินเป็นสถาบันการเงินแห่งแรกที่ประกาศความพร้อมในการดูแลผู้สูงวัย รองรับการก้าวเข้าสู่ Aging Society ของประเทศ ด้วยการเปิดตัวธนาคารผู้สูงวัยเมื่อต้นปี 2560 เพื่อให้บริการทางการเงินที่เหมาะกับผู้สูงวัย ทั้งเงินฝาก สินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อ Reverse Mortgage ที่ธนาคารเปิดให้บริการเป็นแห่งแรกของประเทศ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันด้านรายได้อย่างมั่นคง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง พร้อมกับการสร้างรายได้/อาชีพ ส่งเสริมการออม เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในช่วงบั้นปลายของชีวิต

ส่วนกลุ่ม SMEs Start Up จะมุ่งเน้นพัฒนา SMEs ให้มีนวัตกรรม นำไปสู่การพัฒนาประเทศ ตั้งแต่หากลุ่มเป้าหมาย จัดโปรแกรมอบรมและพัฒนา ไปจนถึงการให้สินเชื่อและการร่วมลงทุน สำหรับในกลุ่ม SMEs นั้น ธนาคารฯ ได้ขยายศูนย์ธุรกิจลูกค้า SMEs ทั่วประเทศเพิ่มเติมจาก 18 ศูนย์ในปี 2560 เป็น 37 ศูนย์ในเดือนมีนาคม 2561 และจะครบตามเป้าหมาย 82 ศูนย์ในเดือนกันยายน 2561 ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการอนุมัติสินเชื่อและดูแลลูกค้ากลุ่มนี้ได้อย่างทั่วถึง


กำลังโหลดความคิดเห็น