ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ พร็อพเพอร์ตี้ อินเด็กซ์ (DDproperty Property Index) ได้รายงานดัชนีที่อยู่อาศัยฉบับล่าสุด ระบุว่า แนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ยังคงเป็นบวก สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น ชี้ แม้อุปทานในตลาดจะถูกดูดซับช้า แต่ยังคงไร้สัญญาณโอเวอร์ซัปพลาย
แม้แนวโน้มของราคาจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่อัตราการเติบโตเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสแล้ว ถือว่าเป็นไปอย่างช้า ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงไว้อาลัย 1 ปีหลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทำให้การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และอีเวนต์ต่าง ๆ ของผู้ประกอบการในช่วงนั้น ๆ ไม่หวือหวานัก โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 60 ดัชนีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 199 จุดในช่วงไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 205 จุด คิดเป็นสัดส่วนการเติบโตระหว่างไตรมาส (Q-o-Q) ราวร้อยละ 3
“แม้ว่าการอัตราการเติบโตของดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 60 จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังถือเป็นภาพรวมที่ดีของตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ ที่กำลังค่อย ๆ ฟื้นตัว ในขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคในเซกเมนต์ระดับกลางไปจนถึงระดับบนมีการปรับตัวดีขึ้น” นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยในเครือพร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป กล่าว
อย่างไรก็ตาม ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่เริ่มทำการเก็บข้อมูลในปี 2558 พบว่าการเติบโตของราคาที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ สูงขึ้นถึงร้อยละ 105 ถือเป็นอัตราการเติบโตที่น่าจับตา โดยเฉพาะราคาต่อตารางเมตรของคอนโดมิเนียม โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ดัชนีราคาคอนโดฯ ขึ้นไปแตะที่ระดับ 154 จุด เพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ 54 อย่างไรก็ตาม ที่อยู่อาศัยประเภททาวน์เฮาส์มีการเติบโตด้านราคาสูงที่สุดในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 โดยเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 60 ร้อยละ 7 และเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 14 ในช่วง 1 ปี
เมื่อดูแนวโน้มราคาตามเซกเมนต์ต่าง ๆ พบว่า ดัชนีของที่อยู่อาศัยราคา 15 ล้านบาทขึ้นไป มีการเติบโตสูงสุด โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราวร้อยละ 12 และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39 ภายในระยะเวลา 2 ปี
ในฝั่งของอุปทานช่วง 2 เดือนสุดท้ายของไตรมาส 4 ปี 60 กำลังซื้อก็กลับมาอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงไตรมาส 4 ปี 60 ดัชนีอุปทานที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงร้อยละ 7 มาอยู่ที่ 240 จุด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการพากันแข่งออกแคมเปญและโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ คอนโดฯ จะเป็นสินค้าที่มีอุปทานที่อยู่ในตลาดส่วนใหญ่ ซึ่งทำเลที่มีมากที่สุด ได้แก่ เขตวัฒนา เขตลาดพร้าว มีปริมาณทาวน์เฮาส์เข้าสู่ตลาดมากที่สุด ส่วนเขตคลองสามวา เป็นโซนยอดนิยมสำหรับบ้านเดี่ยว
“แม้การดูดซับอุปทานในตลาดจะเป็นไปแบบช้า ๆ ขณะที่ผู้ประกอบการเองก็มีแผนเปิดโครงการใหม่ ๆ ออกมาอย่างคึกคักในปี 2561 แต่เราเชื่อว่าไม่น่าจะมีภาวะโอเวอร์ซัปพลาย หรือสินค้าล้นตลาดเกิดขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเฝ้าสังเกตการณ์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด และผู้ขายจะยังคงได้รับอานิสงส์ที่ดีจากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ โดยดัชนีราคามีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 100 ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งผู้ซื้อเองก็ยังคงได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงต่ำ และจากโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ จากผู้ประกอบการที่เร่งระบายสินค้า”.