นักบริหารเงิน ธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า เงินบาทวานนี้เปิดตลาดที่ระดับ 31.47 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดตลาดปลายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 31.38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดตลาดที่ระดับ 31.52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่องทั้งตลาดหุ้น และตลาดเกิดใหม่ หลังจากตลาดคาดเงินเฟ้อสหรัฐฯ เร่งตัวมากขึ้น โดยเงินบาทแข็งค่าสุดของวันที่ระดับ 31.45 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 31.57 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.30-31.65 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.38 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทเข้าทดสอบระดับแข็งค่าสุดในรอบ 50 เดือน ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่า ขณะที่กระแสเงินทุนไหลออกชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้น และพันธบัตรไทย มูลค่า 7.0 พันล้านบาท และ 1.6 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ดอลลาร์สหรัฐฯ ฟื้นตัวเทียบกับสกุลเงินสำคัญส่วนใหญ่ โดยได้แรงหนุนจากท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งแม้จะตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.25-1.50% ด้วยเสียงเอกฉันท์ในการประชุมรอบล่าสุด แต่เฟด ระบุว่า เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ มีแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นหลังข้อมูลการจ้างงานเดือนมกราคมของสหรัฐฯ แข็งแกร่งกว่าคาดอย่างมีนัยสำคัญ
ประเมินว่าแรงซื้อคืนดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นหลังเฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม โดยเฟดมีมุมมองเชิงบวกมากขึ้นต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยิ่งไปกว่านั้น ทิศทางขาขึ้นของเงินเฟ้อชัดเจนมากขึ้นจากการเติบโตของค่าจ้างในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า เฟดอาจจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ ภาวะดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ท่ามกลางความกังวลที่ว่า ต้นทุนทางการเงินอาจสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และสภาพคล่องในตลาดจะตึงตัวในไม่ช้า ส่วนปัจจัยชี้นำอื่น ๆ ได้แก่ การประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ โดยตลาดคาดว่า บีโออี จะขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสที่สองของปีนี้ ขณะที่การเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป กำลังคืบหน้า
ทั้งนี้ การปรับฐานของสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาทตามแรงขายทำกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง อาจสะท้อนการเริ่มต้นของจุดเปลี่ยนของบรรยากาศการลงทุนในตลาดการเงินโลก แม้การปรับฐานนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่บ่งชี้ถึงความเปราะบางต่อการปรับสถานะการลงทุน เนื่องจากผู้เล่นในตลาดเคยชินกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และธนาคารกลางหลักปรับสมดุลนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินยังมีอยู่มากในระยะที่ผ่านมา เมื่อภาพดังกล่าวเริ่มจะกลับทิศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทจะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากเงินบาทแข็งค่าตลอดเดือนมกราคม