xs
xsm
sm
md
lg

ธนารักษ์ เตรียมใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“กรมธนารักษ์” เตรียมประกาศราคาประเมินที่ดินรายแปลงใหม่ทั้ง 32 ล้านแปลงทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค. 61 ระบุที่ดินย่านสีลม แพงสุด 1 ล้านบาทต่อ ตร.ว. พร้อมเดินหน้าผลักดันโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุ มูลค่า 9 หมื่นล้าน ในปีงบประมาณ 61 เผยปีหน้าเริ่มลงทุนโครงการสร้างหอชมเมือง กทม. มูลค่า 4.6 ส่วนโครงการพัฒนาโรงแรมบนที่ราชพัสดุโรงภาษีร้อยชักสามบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา คาดได้ข้อสรุปในไตรมาส1/61

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการประเมินราคาที่ดินรายแปลงว่า กรมธนารักษ์สามารถดำเนินการเสร็จสิ้นจนครบทั้งหมด 32 ล้านแปลงแล้ว โดยเตรียมประกาศบังคับใช้เพื่อเป็นราคาอ้างอิงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 สำหรับราคาที่ดินที่มีปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ทำเลย่านสีลม ซึ่งมีราคาประเมินอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อตารางวา ขณะที่ราคาประเมินต่ำสุด คือ บริเวณเขตบางขุนเทียน แถวคลองโล่ง โดยมีราคาประเมินอยู่ที่ 500 บาทต่อตารางวา ส่วนต่างจังหวัดนั้น ราคาที่ดินบริเวณถนนประชาธิปัตย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ถูกขยับเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาทต่อตารางวา ส่วนราคาต่ำสุดจะอยู่แถวโคกเจริญ จ.ลพบุรี ราคา 20 บาทต่อตารางวา

อย่างไรก็ตาม ราคาประเมินที่ดินใหม่ทั้งหมดจนี้ะใช้เป็นราคาอ้างอิงเพื่อการจัดเก็บภาษีดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังจากเบื้องต้นกำหนดขั้นต่ำจัดเก็บภาษีจากราคาบ้านไม่เกิน 20 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ จะเริ่มในปี 2562

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กรรมาธิการการเงินการคลังฯ สนช. และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นและสำรวจข้อมูลจากกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มในการพิจารณาจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ตามการแบ่งประโยชน์การใช้ที่ดินใน 4 ประเภท ได้แก่ 1. ที่ดินเพื่อการเกษตร กำหนดเพดานภาษี 0.2% และยกเว้นเก็บภาษีที่ดินมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท จัดเก็บสัดส่วนลดลงเมื่อราคาบ้านสูงขึ้นตามสัดส่วนที่กำหนด, ประเภทที่ 2 เป็นที่ดินเพื่ออยู่อาศัย กำหนดเพดานภาษี 0.5% ยกเว้นภาษีบ้านหลังแรกที่มูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท ส่วนที่มีราคาเกิน 20 ล้านบาท กำหนดให้จัดเก็บภาษี 0.05%, ประเภทที่ 3 ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และประเภทที่ 4 ที่ดินว่างเปล่า กำหนดเพดานภาษีไม่เกินร้อยละ 2 โดยมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านบาท เสียภาษีร้อยละ 0.3 เมื่อต้องทบทวนอัตราการจัดเก็บใหม่ จากการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพิ่ม เพื่อต้องการปรับสัดส่วนการจัดเก็บให้ตรงกับข้อมูลอย่างรอบด้าน

ด้านนางสาวอมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวทางการผลักดันโครงการการพัฒนาที่ราชพัสดุ อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมีวงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 90,000 ล้านบาท ว่าจะประกอบไปด้วยการพัฒนาอาคารเชิงพาณิชย์บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต หลังจากได้หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาจนเรียบร้อยแล้ว โดยโครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุน 26,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 30 ปี ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และยังจัดสรรพื้นที่ชดเชยคืนให้กับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จำนวนพื้นที่ 120,000 ตารางเมตร เพื่อใช้เป็นสถานที่จอดรถมินิบัสขนาดเล็กเชื่อมโยงการขนส่งผู้โดยสารทั้งรถไฟฟ้า และรถมินิสับขนาดเล็กไปต่างจังหวัด

สำหรับการพัฒนาที่ดินบริเวณศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มูลค่าลงทุน 6,000 ล้านบาท ระยะเวลา 50 ปีนั้น รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ย้ำว่า โครงการคืบหน้ามากแล้วจากเดิมที่มีแผนการก่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ แต่ติดปัญหาเรื่องความสูง จึงต้องแก้ไขสัญญาเพื่อสร้างเป็นศูนย์ประชุมเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงต้องเสนอ ครม. พิจารณาเพิ่มอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของท่าเรือสาธารณะ และเชิงพาณิชย์นั้น

กรมธนารักษ์ ยืนยันว่าได้มอบอำนาจให้กรมเจ้าท่าดำเนินการพิจารณาจัดหาผู้เช่าและบริหารท่าเรือได้ทั้งหมด 35 ท่าเรือ หลังจากปรับลดค่าเช่ารายปีลดลงร้อยละ 60-70 ดังนั้น หากในอนาคต จะมีการพัฒนาท่าเรือแห่งหนึ่งแห่งใดแล้ว กระทรวงคมนาคจะต้องเสนอ ครม. พิจารณาเป็นรายโครงการด้วยตนเองทั้งหมด

ส่วนความคืบหน้าของแผนลงทุนโครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ มูลค่า 4,600 ล้านบาท โดยมีรูปแบบการลงทุนกึ่ง PPP นั้น ขณะนี้อัยการอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างสัญญา และคาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ในปี 2561 ขณะที่แผนการก่อสร้างศูนย์ราชการโซน C ขณะนี้ส่วนราชการยื่นแสดงความจำนงขอเช่าพื้นที่เต็มจำนวนทั้งหมดแล้ว โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ส่วนความคืบหน้าพัฒนาที่ราพัสดุ บริเวณโรงภาษีร้อยชักสาม บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท อายุสัญญาสัมปทาน 36 ปี ซึ่งภาคเอกชนเตรียมนำมาพัฒนาเป็นโรงแรมหรูแนวอนุรักษ์ริมแม่น้ำนั้น แม้การเจรจาคืบหน้าไปมากแล้วก็ตาม แต่ยังต้องรอให้อัยการตรวจร่างเพิ่มเติม โดยคาดว่าน่าจะสรุปได้ไตรมาส 1/2561
กำลังโหลดความคิดเห็น