“อบจ.สงขลา” ลุ้น! บอร์ด ก.ก.ถ. ชี้ช่องกฎหมายผ่าน “แผนศึกษาโลจิสติกส์ทางน้ำ” วงเงิน 30 ล้าน หวั่นกระทบเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์สงขลา” ท่าเรือชายฝั่ง - ท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้า เหตุ “สตง.สงขลา” ยกข้อกฎหมายกระจายอำนาจ อปท. ชี้ “อบจ.” ไม่มีอำนาจหน้าที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แถมซ้ำซ้อนแผนงานคมนาคม คาด! ก.ก.ถ. เห็นชอบตามมติ อนุฯแก้ปัญหา ยกกฎหมายให้สร้าง “ท่าเทียบเรือ” เหตุมีเงื่อนไขบังคับ แต่ต้องขออนุญาต “กรมเจ้าท่า” ก่อนเท่านั้น
วันนี้ (17 ธ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ในวันที่ 19 ธ.ค. นี้ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เตรียมพิจารณาเรื่องที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) เสนอเพื่อขอให้พิจารณาความชอบตามกฎหมายของแผนการศึกษาโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ ของ อบจ.สงขลา วงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าจ้างเอกชน นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา เพื่อศึกษาออกแบบตามโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ ที่ อบจ.สงขลา กำหนด และได้บรรจุโครงการศึกษาออกแบบโลจิสติกส์ทางบกและทางน้ำในแผนพัฒนาท้องถิ่น 4 ปี (พ.ศ. 2561 - 2564)
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มี นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานประชุม และมีมติว่า ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 และกฎกระทรวง พ.ศ. 2541 ซึ่งออกตามความในมาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีท่าเทียบเรือ แต่เป็นอำนาจหน้าที่ที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ต้องมีหนังสือถึงกรมเจ้าท่า เพื่อขออนุญาตกรมเจ้าท่าในการดำเนินการศึกษาและออกแบบและการก่อสร้างท่าเทียบเรือ
เหตุ สตง.สงขลา ชี้ อบจ.ไม่มีอำนาจก่อสร้างโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ-จี้ทบทวน
มีรายงานว่า สำหรับประเด็น ที่ อบจ.สงขลา ขอให้ ก.ก.ถ. พิจารณาโครงการนี้ เนื่องจาก สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดสงขลา (สตง.สงขลา) มีความเห็นมายัง อบจ.สงขลา ว่า แผนดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้อำนาจไว้ โดยพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ไม่ได้กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีอำนาจหน้าที่ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งขนส่งสินค้าภายในประเทศ หรือ ท่าเรือน้ำลึกขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
รวมตลอดถึงเครือข่ายระบบการขนส่งทางน้ำ (โลจิสติกส์ทางน้ำ) ภารกิจดังกล่าวต่างอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จะสามารถดำเนินการได้ ต่อเมื่อกรมเจ้าท่าได้มอบอำนาจหน้าที่ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาปฏิบัติตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ซึ่งปัจจุบันกรมเจ้าท่ายังไม่ได้มอบอำนาจ หน้าที่ หรือถ่ายโอนอำนาจหน้าที่ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาปฏิบัติแต่อย่างใด
นอกจากนั้น โครงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ดังกล่าวยังอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงคมนาคม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2556 - 2560) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จึงไม่มีความจำเป็นใดที่จะต้องดำเนินโครงการให้เป็นการซ้ำช้อนอีก
“สตง. ขอให้ อบจ.สงขลา ทบทวนความชัดเจน ความจำเป็น ความเป็นไปได้ ความคุ้มประโยชน์และความซ้ำซ้อน ของงานโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ ทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่รวมถึงประสานงานกับกรมเจ้าท่าและกรมธนารักษ์ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวซ้องกับงานโครงการดังกล่าว และทบทวนเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดทำ เป็นความร่วมมือสนับสนุนประสานบูรณาการ หรือต่อยอดงานในการดำเนินโครงการๆ ของกรมเจ้าท่าและกรมธนารักษ์ ตามขอบอำนาจหน้าที่เพื่อให้โครงการทั้งสองสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ คุ้มค่าคุ้มประโยชน์ต่อไป”
อบจ.สงขลา ร่อนหนังสือชี้แจง ก.ก.ถ.ชัดเจน จำเป็น เป็นไปได้ คุ้มประโยชน์ ไม่ซ้ำซ้อน
มีรายงานด้วยว่า อบจ.สงขลา ได้ทำหนังสือชี้แจงมายัง ก.ก.ถ. ว่า ในเรื่องของความชัดเจน ความจำเป็น ความเป็นไปได้ ความคุ้มประโยชน์ และความซ้ำซ้อน จากสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าตามรูปแบบการขนส่งต่างๆ ในประเทศไทยของกระทรวงคมนาคม พบว่า การขนส่งทางน้ำภายในประเทศและขายฝังมีอัตราการขยายตัวเพิ่มต่อเนื่องทุกปี และมีต้นทุนการขนส่งต่ำที่สุด คือ 0.65 บาท/ตัน - กิโลเมตร กลับมีสัดส่วนการขนส่งเพียงร้อยละ 1.40 และ 11.08 ตามลำดับ จึงทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศยังคงอยู่ในระดับ สูงถึงร้อยละ 14.3
ดังนั้น การศึกษาออกแบบตามโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนส่งในประเทศ ดังนั้น การพัฒนาท่าเรือชายฝังสงขลาจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่อ่าวไทยตอนบนและอ่าวไทยตอนล่าง และเมื่อพิจารณาบทบาทหน้าที่ของโครงการที่กล่าวมาจะเห็นว่า การพัฒนาท่าเรือขายฝังสงขลา จึงไม่ได้มีความซ้ำซ้อนกับโครงการทั้งสองดังกล่าว เพราะท่าเรือขายฝังสงขลา เป็นท่าเรือชายฝังในขณะที่ท่าเรือสงขลา 1 และ 2 เป็นท่าเรือชายฝังเพื่อการส่งออกและนำเข้าในปัจจุบันสถานะภาพการพัฒนาของโครงการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพท่าเรือน้ำลึก สงขลา 1 (เดิม) มีความเป็นไปได้สูง และคาดว่าจะได้ผู้ประกอบการในเร็วๆ นี้
ในขณะที่การพัฒนาท่าเรือใหม่แห่งที่ 2 นั้น ประสบปัญหามากมาย ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ทำให้การพัฒนาท่าเรือไม่สามารถรองรับปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป้าประสงค์ของโครงการด้งกล่าวกับโครงการนี้จะแตกต่างกัน เพราะการก่อสร้างท่าเรือชายฝั่งสงขลา จะรองรับการขนส่งทางชายฝังในประเทศเป็นหลัก อีกทั้งยังเป็นท่าเรือขนาดเล็กเมื่อเทียบกับท่าเรือทั้งสองแห่ง และใช้งบประมาณไม่มาก และมีความต้องการการขนส่งทางชายฝัง จึงมีความเป็นไปไต้ค่อนข้างสูง
ส่วนการทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่รวมถึงประสานงานกับกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานส่วนราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพัฒนาและส่งเสริมการขนส่งทางน้ำได้ดำเนินการก่อสร้างท่าเรือหลายแห่ง ครอบคลุมทั้งท่าเรือน้ำลึก ท่าเรือชายฝังและท่าเรือลำน้ำ โดยใช้งบประมาณของกรมเจ้าท่าเอง เมื่อก่อสร้างเสร็จก็ส่งมอบให้กรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินของแผ่นดิน เนื่องจากใช้งบประมาณแผ่นดินในการก่อสร้างเพื่อขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุก่อนจัดหาผู้บริหารดูแลท่าเรือ
มีรายงานว่า โครงการศึกษาออกแบบตามโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ ดำเนินการโดยฝ่ายวางผังพัฒนาเมือง กองผังเมือง อบจ.สงขลา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาออกแบบการขนส่งทางบกและระบบโลจิสติกส์ของจังหวัดสงขลาในปัจจุบัน เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าให้มีความรวดเร็ว เอื้อต่อการค้าและลดภาระต้นทุนค่าใช้จ่าย และเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานทางการค้า
“มีเป้าหมาย ศึกษาออกแบบตามโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ พื้นที่จังหวัดสงขลา ดำเนินการก่อสร้างตามผลการศึกษาออกแบบตามโครงการโลจิสติกส์ทางน้ำ มีงบประมาณดำเนินการศึกษาออกแบบ 30 ล้านบาท โดยบรรจุอยู่ในส่วนที่ 4 ลำดับที่ 4 หน้า 72 แผนพัฒนาจังหวัดสงขลา ประกาศโดนนายนิพนธ์ บุญญามณี อดีต นายก อบจ.สงขลา”
สนข.บรรจุโครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่สงขลา 1,500 ล้านบาท
มีรายงานอีกว่า ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม มีแผนยุทธศาสตร์การขนส่งทางน้ำของประเทศตามนโยบายเชื่อมโยงรูปแบบการขนส่งของประเทศ (Shift Mode) เพื่อเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันและลดต้นทุนโลจิสติกส์ (ระบบการจัดการขนส่งสินค้า) ของประเทศ โดยมอบให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดทำแผนปฏิบัติการเร่งด่วน หรือแอคชั่นแพลน ระยะ 20 ปี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาคุณภาพขนส่งเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคมากขึ้น โดยมีโครงการพัฒนาท่าเรือชายฝั่งที่สงขลา 1,500 ล้านบาท อยู่ในแผนด้วย