ปลัด มท.มึนตึ้บ! ยังไม่กล้าฟันธงเก็บภาษีป้ายปั๊ม ปตท.1,675 แห่งทั่วประเทศ อ้างเหตุบริษัท ปตท.ไม่เห็นด้วย ทำหนังสือสั่ง 77 ผู้ว่าฯ แจ้ง อปท.ที่มีปั๊ม ปตท.ในพื้นที่ทบทวนแนวทางเรียกเก็บภาษี ยกมติกฤษฎีกาคณะที่ 12 ยกมติ คกก.พิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานขี้ขาดแล้วว่าปตท.คงได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีป้าย ให้รอตามข้อสังเกตกฤษฎีกาที่ให้ ก.พลังงาน-ก.คลัง ชงบอร์ดนโยบายรัฐวิสาหกิจ ที่มี “สมคิด” ตัดสิน ตาม ม.26 แห่ง พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ 2542 เพื่อเสนอแนะทบทวนแก้ไขกฎหมายให้เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบธุรกิจปิโตรเลียมรายอื่น
วันนี้ (14 ธ.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือขอให้ทบทวนแนวทางปฏิบ้ติกรณีการเรียกเก็บภาษีป้ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่พื้นที่มีสถานบริการน้ำมันของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถือปฏิบัติ
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ตามที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติกรณีการเรียกเก็บภาษีป้าย ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติ แต่เนื่องจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่เห็นพ้องด้วยกับแนวทางปฏิบัติดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยจึงส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาให้ความเห็น และคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า การจัดเก็บภาษีป้ายรายบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นกรณีที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาขี้ขาดแล้วว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังคงได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีป้าย
อนึ่ง กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันการประกอบธุรกิจปิโตรเลียมได้อย่างเท่าเทียมกันกับผู้ประกอบธุรกิจปิโตรเลียมรายอื่น จึงได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยขอให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังพิจารณาเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีหน้าที่ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ในการเสนอแนะเพื่อทบทวนแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา จำกัดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียม โดยผลของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เรื่องการยกเว้นภาษีป้ายให้สิ้นสุดลง ทั้งนี้ เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจต่อไปแล้ว
มีรายงานว่า กระทรวงมหาดไทยเคยมีหนังสือหลายฉบับเกี่ยวกับประเด็นการจัดเก็บป้ายรายบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เช่นเมื่อปี 2558 มีหนังสือที่ มท.08085.3/19733 เรื่องขอทบทวนคำตัดสินชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หนังสือดังกล่าวลงนามโดย นายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ส่งหนังสือถึงปลัดกรุงเทพมหานคร อ้างถึงกรณีที่กรุงเทพมหานคร ได้เสนอเรื่องขอทบทวนคำตัดสินชี้ขาดของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกรณีภาษีป้ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตามที่คณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้วินิจฉัยให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังคงได้รับการยกเว้นภาษีป้ายตามมาตรา 8 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ในตอนท้ายระบุเนื้อหาว่า “การที่ ปตท.นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งฯ พิจารณานั้น ไม่น่าจะสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง อีกทั้งข้อพิพาทดังกล่าวก็ไม่ใช่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีข้อพิพาทระหว่างกันด้วย”
ต่อมาปี 2559 กระทรวงมหาดไทยได้ออกหนังสือที่ มท 0808.3/ว 2513 เรื่องแนวทางปฏิบัติกรณีการจัดเก็บภาษีป้ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้น จ.สงขลา ปทุมธานี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร และกาฬสินธุ์ เพื่อแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกแห่งทราบและถือปฏิบัติ ตามความเห็นกระทรวงมหาดไทยที่ได้ตอบข้อหารือของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2559 ในประเด็นการจัดเก็บภาษีป้ายรายบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
“โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทราบว่า อปท.เหล่านั้นต้องแจ้งให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือผู้แทนซึ่งเป็นเจ้าของป้าย ให้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคมของปี ทั้งนี้ อปท.จากจังหวัดข้างต้น ได้ทำหนังสือเพื่อทราบแนวทางปฏิบัติดังกล่าว แต่กระทรวงมหาดไทยได้เคยชี้แจงแนวทางปฏิบัติยัง กทม. จ.สงขลา ปทุมธานี สุพรรณบุรี กำแพงเพชร และกาฬสินธุ์ แล้วมีใจความว่า อปท.ที่มีสถานีบริการน้ำมันของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และสถานีบริการน้ำมันของเอกชนซึ่งเป็นบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในเขตพื้นที่นั้น อปท.ต้องแจ้งให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังกล่าว ซึ่งเป็นเจ้าของป้ายแล้วแต่กรณีให้ดำเนินการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ป.ภ.1) ตามาตรา 12 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติภาษป้าย พ.ศ. 2510 ที่กำหนดให้เจ้าของป้ายจะต้องเสียภาษีป้าย ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายตามวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดภายในเดือนมีนาคมของปี
สำหรับการที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) นั้น ตามมาตรา 19 แห่ง พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ.2510 กำหนดว่า หากเจ้าของป้ายมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้อง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจแจ้งการประเมินย้อนหลังไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีป้าย
ดังนั้น หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) อปท.ก็สามารถดำเนินการแจ้งการประเมินย้อนหลังได้ไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน โดยใช้อำนาจหน้าที่แจ้งการประเมินตามาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ที่กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้ายตามหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีป้ายที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) และ (7) ท้ายพระราชบัญญัตินี้ และตามอัตราภาษีป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวง แล้วแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังเจ้าของป้าย”
หนังสือดังกล่าวระบุด้วยว่า หากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือหรือผู้แทนจำหน่ายของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ปฏิเสธการชำระภาษีป้าย หรือไม่พอใจการประเมินภาษีป้ายของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็ให้ดำเนินการอุทธรณ์ภาษีป้าย (ภ.ป.4) ต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งบริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายในสามสิบวัน นับตั้งแต่วันที่ได้ประเมิน และหากไม่พอใจการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้บริหารท้องถิ่น ก็สามารถฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายนามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามาตรา 30 และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510
มีรายงานด้วยว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มอบให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ตรวจสอบในเรื่องของการเก็บรายได้ของหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะกรณีการจัดเก็บภาษีป้ายซึ่ง อปท.จัดเก็บแทนรัฐบาลกลาง ซึ่งนอกจากมีป้ายนิ่งแล้ว ยังมีป้ายเคลื่อนไหว หรือป้ายดิจิตอล โดยที่แต่ละป้ายมีสินค้าไม่ต่ำกว่า 5 ชนิดหรือ 10 ชนิด แต่ขณะนี้ยังมีการเก็บภาษีในลักษณะของป้ายนิ่งอยู่ซึ่งใน พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 บัญญัติว่า หากจะมีการเก็บภาษีป้ายที่เคลื่อนไหวได้ ต้องตราเป็นกฎกระทรวง เพราะที่ผ่านมาการเก็บแบบป้ายนิ่ง ทำให้ อปท.ต้องขาดรายได้ภาษีป้ายมหาศาล
“ปตท.ได้รับยกเว้นภาษีป้าย ดังนั้น สตง.จึงควรเข้าไปตรวจสอบว่า อปท.ได้จัดเก็บภาษีป้ายจาก ปตท.หรือไม่ หากไม่เก็บก็ควรแจ้งให้เก็บ มิฉะนั้น อปท.จะมีความผิดทางวินัยและอาญา” รายงานข่าวระบุ
มีรายงานว่า ปตท.เผยแพร่ข้อมูลจากเว็บไซต์ถึงทิศทางการทำธุรกิจน้ำมันในปีนี้ 2560 เปิดสถานีบริการน้ำมันรูปแบบ Friendly Design จำนวน 180 แห่งบนถนนสายหลักและถนนสายรอง ขณะที่กรมธุรกิจพลังงานได้รายงานจำนวนสถานีบริการน้ำมัน เฉพาะ ปตท.มีจำนวน 1,675 แห่ง
ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แยกเป็น 1. องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง 2. เทศบาล 2,441 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง 3. องค์การบริหารส่วนตำบล 5,333 แห่ง 4. องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) 2 แห่ง โดยยุบ อบต.ไป 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 7,851 แห่ง