อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ย้ำเหตุผลต้องฟ้องนายกฯ และพวก ต่อ ป.ป.ช.ฐานเมินเฉยไม่สั่งการคืนทรัพย์สินท่อก๊าซฯ ให้ครบตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่มีความเห็นจากกฤษฎีกา ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ สตง.มีหนังสือแจ้งชัดเจนแล้ว กลับให้อัยการยื่นร้องศาลปกครองอีกรอบ จนเวลาผ่านมาครบ 10 ปี หมดอายุความบังคับคดี
วันนี้(14 ธ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “ทำไมต้องฟ้องนายกฯ เพราะทรัพย์สินแผ่นดินตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” มีรายละเอียดดังนี้
วันนี้ (14 ธันวาคม 2560) ครบ 10 ปีที่มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดี ปตท.ที่สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ได้แก่ ครม.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 รมว.พลังงาน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งทั้ง 3 รายนี้ทำหน้าที่เจ้าหนี้และเจ้าของทรัพย์แทนประชาชน ส่วน บมจ.ปตท.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีฐานะเป็นลูกหนี้
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดมี 3 ข้อ
1) แบ่งแยกสาธาณสมบัติของแผ่นดินคืนให้กระทรวงการคลัง
2) แบ่งแยกที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและรอนสิทธิสำหรับวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ
3) แบ่งแยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ.ปตท.)
ตลอดระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนที่เป็นผู้ฟ้องคดีแม้ถูกกันออกไปจากสารบบการเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพราะกฎหมายมอบหมายให้รัฐบาลมีหน้าที่เป็นเจ้าทรัพย์แทนประชาชน ต้องทำหน้าที่ในการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ถูกยักยอกไปในตอนแปรรูป แต่ปรากฏว่าในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนนั้น มีการคืนไม่ครบถ้วน ผู้ฟ้องคดีได้ฟ้องคดีหลายครั้งแม้จะถูกยกคำร้อง แต่ก็ไม่ละความพยายาม แม้ศาลจะยกคำร้องผู้ฟ้องคดีเพราะไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะมีสิทธิร้องต่อศาลว่ามีการคืนทรัพย์ไม่ครบถ้วน แต่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็พอใจทรัพย์สินเท่าที่ลูกหนี้คืน
อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลมีคำสั่งที่ 800/2557 บอกว่าการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อ 18 ธ.ค 2550 นั้น เป็นเรื่องที่ ครม.ต้องไปว่ากล่าวกันเอง และจากคำสั่งที่ 800/2557 ของศาลปกครองสูงสุดได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีสามารถนำเรื่องไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ในการคืนทรัพย์สินไปร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คตง.ที่จะตรวจสอบได้
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พบว่า มีการกระทำผิดในกระบวนภายในของกระทรวงการคลังร่วมกับลูกหนี้ในการคืนทรัพย์ไม่เป็นไปตามคำพิพากษา และมีการรายงานเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค 2551
คสช.บริหารบ้านเมืองมา 3 ปีกว่า ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จด้วยมาตรา 44 ปลดล็อกอุปสรรคตั้งแต่ระดับไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ยกเลิกกฎหมายหลักต่างๆ ก็ยังทำได้ แต่กลับไม่ยอมใช้อำนาจตามกฎหมายจัดการเอาทรัพย์สินแผ่นดินคืนตามคำพิพากษาที่เวียนมาบรรจบครบรอบ 10 ปีในวันนี้
แม้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินจะมีการตรวจสอบและแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ปัจจุบันมีรัฐบาล คสช.เป็นเจ้าหนี้ และ ปตท.ที่เป็นลูกหนี้ว่าการคืนทรัพย์สินที่รายงานศาลเมื่อ 25 ธ.ค. 2551 นั้นยังไม่ครบถ้วน ยังขาดท่อส่งก๊าซในทะเลและบนบกอีก รวมแล้วมีมูลค่าขาดไปอีก 32,613.45 ล้านบาทที่ต้องส่งคืนให้กระทรวงการคลัง สตง.ได้ส่งรายละเอียดการสอบสวน 180 แผ่น ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 และ รมว.กระทรวงคลังในฐานะผู้ได้รับทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกคืน ตลอดจน ป.ป.ช., ปปง. สำหรับ ป.ป.ช.ได้รับหลักฐานประกอบการสอบสวนเพิ่มอีก 2,566 แผ่น เอกสารเหล่านี้ส่งถึงบุคคลและองค์กรตามที่เอ่ยนามตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559
ผ่านมากว่า 1 ปี หลังจาก สตง.ส่งคำวินิจฉัยแต่ไม่มีองค์กรใดแสดงความกระตือรือร้นปฏิบัติให้เป็นไปตามการตรวจสอบเลย!!!!
บางท่านอาจสงสัยว่าดิฉันได้เอกสารการสอบสวนของ คตง.และสตง.ได้อย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของธรรมะจัดสรร คือ บมจ.ปตท.ฟ้องคุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ด้วยข้อกล่าวหาการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่คอมพิวเตอร์ ว่า ปตท.คืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน ดิฉันไปเป็นพยานในคดีนี้ และทางทนายขอศาลเรียกข้อมูลการสอบสวนจาก คตง.และ สตง. จึงทำให้ดิฉันมีโอกาสเห็นรายละเอียดคำวินิจฉัยของ คตง.และเอกสารที่ส่งถึงองค์กรและผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4
แต่ปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีคือรัฐบาล คสช.ในขณะนี้ ที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนก็ไม่ทำอะไร ขนาด สตง.ที่เป็นฝ่ายตรวจสอบแจ้งว่ายังคืนทรัพย์สินไม่ครบ มีการสมคบทำผิดคำพิพากษาอย่างไร สมคบทำผิดมติ ครม.อย่างไร รวมทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลก็วินิจฉัยว่ามีการคืนท่อก๊าซไม่เป็นไปตามคำพิพากษา เพราะศาลปกครองสูงสุดมองท่อก๊าซเป็นระบบ ไม่ได้มองเป็นส่วนๆ หรือเป็นท่อนๆ ความหมายคือท่อก๊าซต้องคืนทั้งระบบทั้งบนบกและในทะเล ไม่ใช่คืนเฉพาะบางส่วนบนบก
แต่รัฐบาล คสช.ที่มีหน้าที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา และเป็นเจ้าทรัพย์แทนประชาชนและได้รับคำวินิจฉัยจาก คตง.ให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา (เมื่อ 14 ธ.ค.2550 ) ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วันหลังจากได้รับหนังสือเมื่อ 24 ส.ค. 2559 ซึ่งครบกำหนดไปแล้วตั้งแต่ 24 ตุลาคม 2559 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่ดำเนินการแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับเวลาแก้ปัญหากรณีที่ผลิตพลังงานแบบผิดกฎหมายในที่ดิน สปก.นายกฯ รีบใช้มาตรา 44 ยกเว้นกฎหมายหลักให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ทันที แต่กรณีทรัพย์สินของแผ่นดินไม่เห็นสนใจดำเนินการในอัตราความเร็วระดับเดียวกัน ใช่หรือไม่
ปัจจุบันรัฐบาลกลับให้อัยการส่งเรื่องนี้ไปให้ศาลปกครองวินิจฉัยอีกครั้งว่า “ลูกหนี้” คืนทรัพย์สินครบหรือยัง? แทนที่จะรายงานว่ามีการคืนทรัพย์สินไม่ครบ ขาดไปอีก 32,613.45 ล้านบาท และใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งลูกหนี้ให้คืน และรายงานต่อศาล เท่านี้ก็เสร็จเรื่อง และเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ที่บอกชัดเจนว่าเป็นอำนาจของ ครม.ที่จะบังคับบัญชาหน่วยงานที่อยู่ใต้บังคับบัญชา
เรื่องนี้อุปมาง่ายๆ ว่าบริษัทประเทศไทยมหาชนถูกผู้จัดการคนก่อนโกงทรัพย์สินของบริษัทไป เมื่อมีการฟ้องร้องโดยประชาชนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ และศาลก็พิจารณาแล้วพบว่ามีการฉ้อทรัพย์ของบริษัทฯ ไปจริง จึงตัดสินและมีคำสั่งให้เจ้าทรัพย์ไปแบ่งแยกทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงคืน แต่ผู้จัดการบริษัทคนใหม่ทุกคนในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาซึ่งมีหน้าที่เป็นเจ้าทรัพย์แทนประชาชนผู้ถือหุ้นในบริษัทประเทศไทยมหาชนที่ต้องไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ถูกฉ้อโกงไปก่อนหน้านั้นตามคำพิพากษา แต่ไม่มีใครยอมทำหน้าที่ ปล่อยให้มีพนักงานบางส่วนของบริษัทฯ ร่วมมือกับลูกหนี้ทำรายการทรัพย์สินคืนให้บริษัทฯเพียงบางส่วน ประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนตัวจริงก็พยายามติดตามแม้กฎหมายจะบัญญัติว่าประชาชนไม่ใช่เจ้าของทรัพย์หรือไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่ประชาชนที่ถือว่าตัวเองเป็นหุ้นส่วนของบริษัทฯ ก็สามารถทำให้ฝ่ายตรวจสอบของบริษัท คือ คตง.และ สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดินทำการตรวจสอบจนพบว่ามีการคืนทรัพย์ไม่ครบจริง และมีกระบวนการที่ทำผิดกฎหมายอย่างไร และสำนักกฎหมายของผู้จัดการบริษัทคือคณะกรรมการกฤษฎีกาก็บอกว่าการคืนทรัพย์สินไม่เป็นไปตามคำพิพากษา
แต่ผู้จัดการบริษัทฯ ก็ไม่ยอมรับฟัง กลับส่งทนายบริษัทคืออัยการให้ไปถามศาลว่า ทรัพย์สินที่ลูกหนี้คืนมานั้นถือว่าคืนครบหรือยัง?!!
ช่างเป็นตลกร้ายใช่ไหมที่รัฐบาล คสช.เป็นเจ้าของทรัพย์แต่ไม่รู้ว่าตัวเองมีทรัพย์อะไรบ้างที่ถูกฉ้อโกงไป กลับไปถามศาลว่าลูกหนี้คืนทรัพย์ครบหรือยัง !?!
นี่เป็นการจงใจแกล้งตีมึน ใช่หรือไม่!?!
เมื่อวานนี้ (13 ธ.ค. 2560) ประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนของบริษัทประเทศไทยมหาชน จึงจำเป็นต้องฟ้องผู้จัดการและคณะบริหารของบริษัทฯ ต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้มีการพิจารณาลงโทษผู้ที่มีหน้าที่ แต่หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติหน้าที่ และการไม่ทำหน้าที่ เป็นการทำให้บริษัทประเทศไทยมหาชนได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ประชาชนที่เป็นหุ้นส่วนบริษัทประเทศไทยมหาชน ต้องช่วยกันจับตาว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาความผิดของทีมผู้บริหารประเทศไทยนี้กันอย่างไรต่อไป
รสนา โตสิตระกูล
14 ธ.ค 2560