อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ย้ำคำวินิจฉัย คตง.ให้ ปตท.มอบท่อก๊าซฯ ในทะเล มูลค่า 3.2 หมื่นล้านบาทกลับคืนให้กระทรวงการคลัง เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองเมื่อ 14 ธ.ค. 50 และคำสั่งศาลปกครองที่ 800/2557 ให้นายกฯ และ ครม.สั่งการให้ ปตท.คืนทรัพย์สินให้ครบ ไม่ได้วินิจฉัยเกินอำนาจศาลแน่นอน
วันนี้ (10 ก.พ.) เมื่อเวลา 00.13 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจรสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “คำวินิจฉัยของ คตง.ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซในทะเล เป็นการวินิจฉัยเกินอำนาจศาลหรือไม่?” มีรายละเอียดว่า
“มหากาพย์กรณีทวงท่อก๊าซ สมบัติชาติ มีเรื่องราวยืดยาวจนหลายๆท่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องราวมาตั้งแต่ต้นอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูก ขอนำเรื่องราวมาสรุปให้ผู้อ่านเห็นภาพรวม ดังนี้
1 ) การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2544 ไม่ได้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซ ออกจาก กิจการจัดหาและจัดจำหน่าย ตามมติ ครม.ในรัฐบาลชวน หลีกภัย (เมื่อ 16 ก.พ. 2542 )ที่มีมติให้แยกกิจการก๊าซออกก่อนการแปรรูป และการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ และให้การปิโตรเลียมถือไว้ 100%
2 ) สาเหตุที่ไม่แยกท่อก๊าซออกก่อนการแปรรูปนั้น อาจมีสาเหตุจากมูลค่ากิจการก๊าซที่มีสูงมากในมูลค่าหุ้น ดังที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท. ครั้งที่ 3/2544 เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2544 ที่ปรึกษาทางการเงินได้ประเมินราคาหุ้นไว้ว่ามูลค่าที่เกิดจากธุรกิจก๊าซในมูลค่าหุ้นขั้นต่ำนั้นคำนวณคิดเป็นร้อยละ 78.64 และคิดเป็นร้อยละ 81.31 ของมูลค่าหุ้นขั้นสูง
3 ) การไม่แยกระบบท่อส่งก๊าซออกไปก่อนที่จะมีการแปรรูป ทำให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน ซึ่งขัดหลักการการแปรรูปเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการแข่งขัน ประชาชนจะได้บริการที่มีคุณภาพดีในราคาเหมาะสม แต่การแปรรูปในครั้งนั้นกลับเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นภาคเอกชน 48% ในบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อย่างมาก โดยจ่ายเม็ดเงินซื้อหุ้นจำนวน 48% เพียงประมาณ 28,277 ล้านบาทเท่านั้น แต่การแปรรูปใน 14 ปีที่ผ่านมา( 2544-2558) เพียงรายได้จากค่าผ่านท่อก๊าซเพียงอย่างเดียว บมจ.ปตท.ก็มีรายได้สูงประมาณ 356,000 ล้านบาท โดยจ่ายค่าเช่าท่อให้รัฐจากท่อก๊าซที่คืนให้บางส่วนในช่วงเวลาเดียวกัน ประมาณ 5,996 ล้านบาท หรือเท่ากับว่า บมจ.ปตท.มีรายได้ 100 บาท จะมีกำไรขั้นต้นมากกว่า 98 บาท และจ่ายค่าเช่าให้รัฐเพียงประมาณ 2 บาทเท่านั้น
4 ) การฟ้องเพิกถอนการแปรรูป ปตท.เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม2549 และศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาหมายเลขคดีแดงที่ ฟ 35/2550 ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ศาลปกครองสูงสุด มีคำวินิจฉัยว่า ในการแปรรูปมีส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้แยกสาธารณสมบัติและไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการยุติการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ และการแปรรูปทำให้ บมจ.ปตท.ไม่ใช่องคาพยพของรัฐ จึงไม่สามารถครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐอีกต่อไป ดังนั้นในคำพิพากษาจึงสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ บมจ.ปตท. ร่วมกันกระทำการ (1) แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (2)สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ (3)รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ.ปตท.)
5 ) รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ว่า (1) รับทราบคำวินิจฉัยและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด (2) เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังรับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
6 ) ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.ที่ต้องให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินก่อน แต่เพราะความเห็นแย้งกันที่ สตง.เห็นว่าท่อก๊าซในทะเลก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องคืนด้วย แต่เมื่อมีความเห็นแย้งกลับไม่มีการส่งเรื่องนี้ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ
7 ) ในคำสั่งศาลฯ ที่ ฟ 35/2550 ระบุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา แต่ในกระบวนการก่อนที่จะรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาต่อศาลฯเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 ไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องสำคัญนี้เข้า ครม.เพื่อพิจารณาก่อนว่ามีการดำเนินการตามมติ ครม.เรียบร้อยหรือไม่ แต่ในรายงานที่เสนอต่อศาลฯ มีการรายงานว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 และผู้เกี่ยวข้องเห็นชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สิน จึงเป็นการให้ข้อมูลต่อศาลฯ ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะ สตง.เห็นว่าท่อก๊าซในทะเลก็เป็นทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติที่ต้องแบ่งแยกคืนให้แผ่นดินด้วย แต่ทรัพย์สินส่วนนี้ไม่ได้แบ่งแยกคืนให้รัฐ
8 ) ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 ได้แก่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกพร้อมด้วยประชาชนอีก 1,455 คนได้ฟ้องต่อศาลปกครองว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ที่ต้องให้ สตง.ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเสียก่อน และเมื่อมีความเห็นขัดแย้งกันว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ก็ไม่ได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ในการฟ้องคดีนี้ ศาลฯ มีคำสั่งที่ 800/2557 ความตอนหนึ่งระบุว่า การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เป็นเรื่องภายในที่ต้องไปว่ากล่าวกันเองในหน่วยงานที่มีคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น
คำสั่งที่ 800/2557 แสดงว่าการที่ศาลฯ สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไปร่วมกันกระทำการตามคำสั่งศาลฯ นั้นเป็นขั้นตอนของฝ่ายบริหารที่ต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องก่อนที่จะมารายงานต่อศาลฯ และหากมีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง
9 ) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน(คตง.)เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบว่าหน่วยงานของรัฐมีการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือมติครมหรือไม่
10 ) คตง.จึงมีอำนาจตรวจสอบตามคำสั่งศาลปกครอง ที่ 800/2557 ว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 เรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหมายเลขคดีแดงที่ ฟ 35/2550 ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของการแบ่งแยกทรัพย์สินว่ามีการดำเนินการครบถ้วนตามมติครม.หรือไม่
11 ) คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีคำวินิจฉัยว่าคำพิพากษาหมายเลขคดีแดงที่ ฟ 35/2550 มีความชัดเจนว่าการคืนท่อก๊าซต้องคืนทั้งระบบ ศาลไม่ได้ให้คืนเป็นส่วนๆ จึงขึ้นอยู่กับว่าได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาครบถ้วนหรือไม่
12 ) เมื่อ คตง.เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจและหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานด้านบริหารที่เรียกว่าหน่วยรับตรวจว่าปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และมติ ครม.หรือไม่ ประกอบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ว่าเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินที่มีคำร้องว่าไม่ได้ปฏิบัติตามมติ ครม.นั้น ให้ไปว่ากล่าวกันเองในฝ่ายบริหาร คตง. จึงมีอำนาจวินิจฉัยว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ที่ต้องให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินจริงหรือไม่ และ คตง.วินิจฉัยว่าท่อก๊าซในทะเลก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ บมจ.ปตท.ต้องส่งมอบคืนให้กระทรวงการคลังด้วย
คำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ ฟ 35/2550 มีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซทั้งระบบเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และต้องคืนทั้งระบบไม่ใช่คืนเป็นท่อน เป็นส่วนๆ ทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาเอง ก็ยืนยันว่าคำพิพากษานั้นมีความชัดเจนว่า ท่อก๊าซต้องคืนทั้งระบบ ขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนหรือไม่
เมื่อ คตง.ตรวจสอบและวินิจฉัยว่า มีการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.วันที่ 18 ธ.ค. 2550 ในกระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วน คตง.จึงมีมติให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซในทะเล และ ท่อก๊าซบนบก รวมมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท และมีหนังสือแจ้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ บมจ.ปตท.ให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าวคืนกระทรวงการคลังให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีการแจ้งด้วยหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 ซึ่งครบกำหนด 60 วัน เมื่อ 24 ตุลาคม 2559
ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 จึงชอบที่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารสูงสุดของฝ่ายบริหาร จะดำเนินการสั่งการหน่วยราชการในกำกับให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ ฟ 35/2550 ให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบและวินิจฉัยของ คตง.เสียก่อน แล้วจึงนำความไปกราบเรียนต่อศาลปกครองสูงสุดใหม่อีกครั้ง
ดังนั้น การตรวจสอบและวินิจฉัยของ คตง.จึงเป็นการตรวจสอบความถูกต้องในการดำเนินการของหน่วยราชการในฝ่ายบริหาร เพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ ฟ 35/2550 อย่างถูกต้อง และเป็นการตรวจสอบตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 คำวินิจฉัยของ คตง.จึงไม่เป็นการขัดแย้งกับศาลปกครองแต่ประการใด”