xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ถามจี้ใจดำ ครม.โยนปมท่อก๊าซคืนศาล ยื้อเวลาให้หมดอายุความหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ถาม ครม.ส่งคดีท่อก๊าซฯ ให้ศาลปกครองวินิจฉัยซ้ำ ฝืนมติ คตง.-ผู้ตรวจการ-กฤษฎีกา จงใจถ่วงเวลาให้หมดอายุความบังคับคดีหรือไม่ หลังศาลฯ มีคำสั่งเมื่อปี 50 ให้ ปตท.คืนท่อก๊าซฯ และจะครบ 10 ปี 14 ธ.ค.ปีนี้

จากกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติให้อัยการสูงสุดยื่นศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยซ้ำในประเด็นที่ ปตท.ยังส่งมอบทรัพย์สินท่อก๊าซคืนให้กระทรวงการคลังไม่ครบถ้วนภายหลังจากการแปรรูปนั้น เป็นเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน จึงให้ศาลตัดสิน ไม่ใช่ว่าเป็นเพราะ ครม.ไม่ฟังความเห็นของสำนักงานแผ่นดิน (สตง.) ที่เคยมีมติให้ ครม.ใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งการให้ ปตท.คืนท่อก๊าซได้ทันที น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน ได้แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ตั้งคำถามว่า ครม.นำคดีท่อก๊าซไปศาลปกครองครั้งนี้เป็นเพียงการถ่วงเวลาเพื่อให้คดีหมดอายุความใช่หรือไม่?

“ข้อสงสัยดังกล่าวมาจากข้อพิจารณาดังต่อไปนี้

1) คดีฟ้องเพิกถอนการแปรรูป ปตท.ที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟ35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 นั้นแม้ไม่ได้เพิกถอนการแปรรูป ปตท.แต่วินิจฉัยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (คณะรัฐมนตรี ที่ 1 นายกรัฐมนตรี ที่ 2 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ 3 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ 4) ร่วมกันกระทำการ (1) แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (2) สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ (3) รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4

2) รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นรัฐบาลมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ความว่า (1) ยอมรับในคำพิพากษานั้น (2) มอบหมายให้รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังเป็นผู้ทำหน้าที่แบ่งแยกสาธารณสมบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษา (3) มอบหมายให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา (4) หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความตามคำพิพากษาให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ

3) การแบ่งแยกทรัพย์สินและรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 เป็นการรายงานโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยไม่ได้ให้ สตง.เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สินเสียก่อนตามที่มติ ครม.ได้มอบหมาย เเละเมื่อมีคำโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความสาธารณสมบัติที่ต้องแบ่งแยก ก็มิได้ให้กฤษฎีกาพิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติ ตามมติ ครม.ซึ่ง สตง.ได้ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและท่อก๊าซบางส่วนบนบกมูลค่าประมาณ 3.2หมื่นล้านบาทที่ต้องแบ่งแยกคืนให้รัฐ

4) เมื่อไม่มีการดำเนินการคืนทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบของ สตง. จึงมีประชาชน 1,455 คน นำเรื่องการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาไปฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557 ได้พิพากษาว่า “กรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 1,455 คนกล่าวอ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษา ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันในหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี”

จากคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557แสดงว่าศาลปกครองวินิจฉัยว่า การแบ่งแยกและคืนทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา ที่ ฟ 35/2550 ตามมติ ครม.เมื่อ 18 ธันวาคม 2550 เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของคณะรัฐมนตรี ที่จะใช้หลักการบังคับบัญชาให้มีการส่งมอบทรัพย์สินมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทคืนให้กระทรวงการคลังให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบของ สตง.ได้

5) เมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557 จึงมีการนำเรื่องไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ประกอบคำสั่งที่ 800/2557 ไปร้องต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจตรวจสอบว่าหน่วยราชการที่เป็นผู้รับตรวจได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือมติคณะรัฐมนตรีหรือไม่

คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีมติเมื่อ 10 พ.ค. 2559 ให้มีการคืนทรัพย์สินท่อก๊าซมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทให้กระทรวงการคลัง และมีมติแจ้งให้นายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงการคลัง รมว.กระทรวงพลังงานและ บมจ.ปตท.ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ 24 สิงหาคม 2559 ซึ่งครบกำหนดไปแล้วเมื่อ 24 ตุลาคม 2559

6) คณะกรรมการกฤษฎีกาก็มีความเห็นในทางเดียวกันว่าคำพิพากษา ที่ ฟ 35/2550 มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า “ศาลปกครองสูงสุดมิได้แยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกเป็นส่วนๆ หรือคำนึงว่าท่อส่งก๊าซและอุปกรณ์ตั้งอยู่บนที่ดินของใคร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้งระบบ ไม่สามารถแยกออกเป็นท่อนๆ ได้”

7) ผู้ตรวจการแผ่นดินก็มีคำวินิจฉัยว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน

แต่จนบัดนี้คณะรัฐมนตรีก็ยังคงเตะถ่วงเวลา ไม่ดำเนินการให้มีการคืนท่อก๊าซให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ 800/2557 ที่วินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีสามารถใช้หลักการบริหารเพื่อรักษาผลประโยชน์อันชอบธรรมของแผ่นดิน ดำเนินการให้มีการส่งมอบทรัพย์สินที่ยังคืนไม่ครบถ้วน ให้ครบถ้วนได้

คณะรัฐมนตรีควรดำเนินการตามหลักการบังคับบัญชาให้มีการคืนทรัพย์สินให้ครบถ้วนตามการตรวจสอบของ สตง.หลังจากนั้นจึงควรที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 จะไปรายงานต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งว่าได้ดำเนินการใหม่ตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การประวิงเวลาด้วยการจะนำคดีท่อก๊าซกลับไปให้ศาลพิจารณาใหม่นั้น น่าจะไม่มีประเด็นที่ศาลจะรับคำร้องมาพิจารณาเพราะในคำพิพากษา ที่ ฟ 35/2550 นั้น มีคำสั่งที่ชัดเจนอยู่แล้วให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ตลอดจนสิทธิและอำนาจมหาชนที่ต้องแบ่งแยกออกจากสิทธิและอำนาจของเอกชน ซึ่งในมติ ครม.เมื่อ 18 ธ.ค. 2550 ก็ได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติไว้แล้ว เมื่อการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามมติ ครม. ก็เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีปัจจุบันที่ต้องใช้หลักการบริหารแก้ปัญหาซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้รับรองไว้แล้วในคำสั่งที่ 800/2557

14 ธันวาคม 2560 จะครบ 10 ปีของคำพิพากษาในคดีนี้แล้ว ต้องถามว่าคดีนี้จะหมดอายุความในการบังคับคดีเมื่อครบกำหนด 10 ปีหรือไม่

ดังนั้น การประวิงเวลาเอาคดีไปขึ้นศาลปกครองอีกครั้งโดยไม่จำเป็น จึงมีคำถามว่ารัฐบาลตั้งใจจะปล่อยคดีนี้ให้หมดอายุความเป็นเทคนิคัลเฟาว์ใช่หรือไม่” น.ส.รสนาระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น