xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่นฟัน นายกฯ-รมว.คลัง-พลังงาน พร้อมบิ๊ก ปตท.ฝืนมติ คตง.ยื้อคืนท่อก๊าซ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ยื่นหนังสือถึง คตง. ให้ดำเนินคดี นายกฯ - รมว.คลัง - รมว.พลังงาน และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ฐานเพิกเฉยต่อมติ คตง. ที่ให้ ปตท. คืนท่อก๊าซ 3.2 หมื่นล้าน ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดปี 50 แถมโยนเรื่องกลับให้ศาลฯ วินิจฉัยประเด็นเดิมอีกรอบ

วันนี้ (26 พ.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ถนนพระรามที่ 6 เขตพญาไท กทม. เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ น.ส.รสนา โตสิตระกูล เดินทางไปยื่นหนังสือถึง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) โดยมี นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มารับหนังสือ

หนังสือ คปพ. ดังกล่าวได้เรียกร้องให้ คตง. ดำเนินคดีความกับ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะความผิดตามมาตรา 17, 63 และ 64 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ. ความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 44 กรณีที่ คตง. มีมติให้ ปตท. ส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติให้กระทรวงกาคลังให้ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครองวันที่ 12 ธันวาคม 2550 และให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2559 ซึ่งปัจจุบันเวลาได้ผ่าน 60 วันไปแล้ว ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ให้ถูกต้อง การกระทำความผิดดังกล่าวจึงได้สำเร็จไปแล้ว

กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2550 ที่พิพากษาว่า การแปรรูป ปตท. เมื่อปี 2544 มีบางส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้แยกสาธารณสมบัติ และไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาในการยุติการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ และการแปรรูปทำให้ บมจ.ปตท. ไม่ใช่องคาพยพของรัฐ ไม่สามารถครอบครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐอีกต่อไป จึงให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจ และสิทธิของ ปตท. ที่ได้จากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐมอบคืนให้เป็นของกระทรวงการคลัง โดยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และ กระทรวงการคลัง รับไปดำเนินการตามหลักการดังกล่าว โดยให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการก่อนที่จะรายงานการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาต่อศาลฯ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 ไม่ได้มีการนำเสนอเรื่องนี้ให้ ครม. พิจารณาก่อนว่ามีการดำเนินการตามมติ ครม. เรียบร้อยหรือไม่ และ สตง. ก็ยังไม่ได้รับรอง เพราะมีความเห็นแย้งว่าท่อก๊าซในทะเล ก็เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องคืนด้วย แต่ในรายงานที่เสนอต่อศาลฯ กลับรายงานเท็จว่า ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเห็นชอบในการแบ่งแยกทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว

ต่อมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก พร้อมด้วยประชาชนอีก 1,455 คน ได้ฟ้องต่อศาลปกครอง ว่า มีการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. และศาลฯ มีคำสั่งที่ 800/2557 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 ความตอนหนึ่งระบุว่า การปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. เป็นเรื่องภายในที่ต้องไปว่ากล่าวกันเองในหน่วยงานที่มีคณะรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานนั้น

หลังจากนั้น คตง. ได้เข้ามาตรวจสอบและวินิจฉัย ว่า มีการไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. วันที่ 18 ธ.ค. 2550 คตง. จึงมีมติให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นท่อก๊าซในทะเล และท่อก๊าซบนบก รวมมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท และ คตง. ได้มีหนังสือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ บมจ.ปตท. ให้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินดังกล่าวคืนกระทรวงการคลังให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับตั้งแต่มีการแจ้งด้วยหนังสือ และให้คณะรัฐมนตรียื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีการบังคับคดีที่ถูกต้องครบถ้วน

นอกจากนี้ คตง. ยังเห็นว่า มีการยื่นคำร้องอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ว่า มีการส่งมอบท่อก๊าซธรรมชาติครบถ้วนแล้ว โดยไม่รอผลการตรวจสอบ และรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 และ พ.ร.บ. ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาตรา 24 ก่อน และให้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินคดีอาญากับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กับพวกที่ดำเนินการแปรรูป ปตท. เนื่องจากมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ทั้งให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และความรับผิดชอบทางละเมิดด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจาก คตง. แจ้งมติให้ ครม. ทราบ เวลาผ่านไปจนเลย 60 วันมาแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามมติ คตง. ตรงกันข้าม ครม. กลับมีมติให้สำนักงานอัยการสูงสุดยื่นขอให้ศาลปกครองพิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง อันเป็นเจตนาฝืนมติคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2557 และ มติ คตง.
คปพ. เห็นว่า การกระทำดังกล่าวแสดงว่าคณะรัฐมนตรีมีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และทำให้ประเทศชาติเสียหาย ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสอบของ คตง. ระบุชัดเจนว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐรายงานอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่รักษาสมบัติของชาติ และยังมีพฤติการณ์ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยว่าคณะรัฐมนตรีใช้วิธีหลบเลี่ยงความผิดของตนเอง ด้วยการรีบสรรหา คตง. ชุดใหม่ โดยปราศจากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น