ธปท. มอง ศก. ไทยโตได้ดี เชื่อบริโภคเอกชนดีขึ้นตามส่งออกฟื้น แม้หนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหา สำหรับนโยบายการเงินของไทยจะเน้นจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าปัจจัยต่างประเทศ
นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในหัวข้อ “ความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศไทย” ในงาน Thailand Focus 2017 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก การท่องเที่ยวยังแข็งแกร่ง แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบหลายครั้ง ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และรายได้ภาคเกษตร ปรับตัวดีขึ้น แม้ราคาสินค้าเกษตรจะยังอยู่ในระดับต่ำก็ตาม ซึ่งรายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นนี้นำมา ซึ่งอำนาจการซื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น
“ภาคการส่งออกที่กลับมาดี ส่งผลดีต่อรายได้และการบริโภคภายใน คาดว่า ในระยะ 1-2 ปีนี้ การบริโภคในประเทศจะยังเติบโตเล็กน้อยเพียง 1-2% จากที่เคยเติบโตได้ 4-5% สาเหตุจากหนี้ครัวเรือนที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ยังชะลอการลงทุน” นายเมธี กล่าว
พร้อมระบุว่า ธปท. คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ที่ระดับ 3.5% และ 3.7% ในปี 61 ซึ่งสาเหตุที่มองไว้ต่ำกว่าตัวเลขจากหน่วยงานอื่น เพราะ ธปท. ยังคงมีมุมมองแบบอนุรักษ์นิยม แต่คาดการณ์ว่า การบริโภคภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้นจากภาคการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะยังเป็นปัญหา
นายเมธี กล่าวว่า สำหรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตามีหลายด้าน เช่น ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ทั้งสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี และท่าทีของสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์ที่ยากแก่การคาดเดา รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ขณะนี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเดินหน้านโยบายต่าง ๆ และไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้ตามแผน
รองผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า สำหรับนโยบายการเงินของไทยจะเน้นจากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าปัจจัยต่างประเทศ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นเพราะราคาพืชผักผลไม้ปรับตัวลดลงจากที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ซึ่งสินค้าในกลุ่มอาหารมีสัดส่วนค่อนข้างมากในการคำนวณเงินเฟ้อของไทย ดังนั้น จึงส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในปีหน้าจะปรับดีขึ้น หากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานแม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่น่ากังวล
อย่างไรก็ดี ธปท. มีความกังวลต่อปัญหาหนี้ครัวเรือนที่จะผลต่อการบริโภคภายในประเทศ เพราะหากประชาชนที่มีหนี้สูงจะอ่อนไหวต่อแนวโน้มรายได้ และภาวะดอกเบี้ย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้ประกาศปรับเกณฑ์สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 20% เหลือ 18% อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ต้นเหตุนั้น ประชาชนจะต้องมีความรู้ทางด้านการเงิน รวมทั้งธนาคาร หรือสถาบันการเงิน จะต้องมีความโปร่งใสต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้นทั้งในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม
นายเมธี กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำนั้น เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่าน ซึ่งนักลงทุนรายใหญ่มีช่องทางระดมทุนหลากหลายทั้งในและนอกตลาด รวมถึงการออกตั๋วบีอี แต่อย่างไรก็ตาม คุณภาพของนักลงทุนรายย่อยก็ยังทำให้การปล่อยสินเชื่อต้องมีความระมัดระวัง ทั้งนี้ เชื่อว่า อัตราการปล่อยสินเชื่อในปีนี้จะยังเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียว
สำหรับประเด็นเงินบาทแข็งค่านั้น นายเมธี มองว่า ไม่น่ากังวล เพราะเงินบาทที่แข็งค่ามีสาเหตุจากดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลง และจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าไปแล้ว 7.7% และแม้ว่าจะแข็งค่าที่สุดในเอเชีย แต่ก็ยังสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค