xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. เผยยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมคุมเก็งกำไรค่าเงินบาท ยันดูแลตามพื้นฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท. เผยยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติมคุมเก็งกำไรค่าเงินบาท ยันดูแลตามพื้นฐานเศรษฐกิจ ระบุ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงินเพื่อให้รายงานข้อมูลในเชิงลึกกว่าระดับปกติในกรณีพบเห็นพฤติกรรมการโอนเงินบาทระหว่างบัญชีของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศที่ผิดปกติ

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ ธปท. ยังอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงินเพื่อให้รายงานข้อมูลในเชิงลึกกว่าระดับปกติในกรณีพบเห็นพฤติกรรมการโอนเงินบาทระหว่างบัญชีของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non resident) ที่ผิดปกติ และอาจเกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรค่าเงิน แต่ขณะนี้ยังไม่พบเห็นความผิดปกติเกิดขึ้น และยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อมาจำกัดโอกาสการเก็งกำไรค่าเงิน

“ยังไม่ได้เห็นอะไรที่ผิดปกติขนาดนั้น แต่ต้องขอดูรายละเอียดข้อมูลที่เป็นเชิงลึก เรายังไม่ได้ทำอะไร แค่เป็นการเตรียมข้อมูลไว้ เราแค่ต้องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน แต่คงไม่ได้ถึงกับจะต้องทำ capital control” นายเมธี ระบุ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ทำหนังสือเวียนไปถึงสถาบันการเงิน เพื่อขอความร่วมมือให้ติดตามการทำธุรกรรมเงินบาทของผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ

ส่วนทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยน หรือค่าเงินบาทที่ยังมีความกังวลว่า บาทยังมีโอกาสแข็งค่าต่อได้อีกนั้น นายเมธี ระบุว่า ช่วงนี้ค่าเงินมีความผันผวนสูงเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งการดูแลค่าเงินก็จะต้องให้มีความสมดุลไปตามพื้นฐานเศรษฐกิจ เพราะการที่ค่าเงินเคลื่อนไหวไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งนั้นมีทั้งข้อดี และข้อเสีย

อย่างไรก็ดี ธปท. ได้ให้ความสำคัญกับการเข้าไปดูแลผู้ประกอบการ SMEs ในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน คาดว่าในช่วงเดือน ก.ย. นี้ จะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

“ผู้ประกอบการรายใหญ่ดูแลตัวเองได้ มีความรู้เพียงพอ แต่เราห่วงเอสเอ็มอี เราจะไม่ได้ให้แค่เครื่องมือแก่เขา จะต้องอบรมให้ความรู้เรื่องการดูแลอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการให้ความรู้พร้อมเครื่องมือ คาดว่าอาจจะออกมาช่วง ก.ย.” นายเมธี ระบุ

สำหรับการดูแลนโยบายการเงินนั้น ธปท. ยังคงคำนึงถึงปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก แต่ถ้าปัจจัยภายนอกประเทศส่งผลกระทบมาถึงภายใน ก็จะต้องนำมาพิจารณาควบคู่กันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น