กนง.ประเมิน ศก.ไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น แต่ยังกระจุกตัวบางภาคส่วน ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ จึงควรรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบันไว้ก่อน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง และกระจายตัวมากขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2560 เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ซึ่งคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% เพื่อให้นโยบายการเงินอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
"ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี อย่างไรก็ดี การขยายตัวของเศรษฐกิจยังกระจุกตัวในบางภาคส่วน อีกทั้ง ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากด้านต่างประเทศ จึงควรรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับต่ำเช่นในปัจจุบันไว้ก่อน เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง และกระจายตัวมากขึ้น ขณะที่กรรมการบางส่วนเห็นว่า การรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ไว้ยังมีความจำเป็นภายใต้ความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก และภายในประเทศที่ยังมีอยู่" รายงาน กนง.ระบุ
ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการอภิปรายว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนขึ้นตามการส่งออกเป็นหลัก แต่ยังกระจุกตัวในบางภาคส่วน และต้องเผชิญความเสี่ยงจากภายนอกประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยกรรมการบางส่วนแสดงความกังวลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวต่อเนื่อง และตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มธุรกิจส่งออก ที่ปรับดีขึ้น มีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่พอสมควร ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนจะเริ่มลงทุนใหม่ จึงมองว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำยังจำเป็น
ทั้งนี้ กรรมการอีกส่วนหนึ่งเสริมว่า ผลบวกจากเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นในช่วงแรก จะกระจุกตัวที่ธุรกิจรายใหญ่มากกว่ารายย่อย ส่วนหนึ่งเพราะ SMEs ขาดความสามารถในการปรับตัว
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงกว่าคาดจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก แต่มีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้อาจมีผลบวกจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้กรรมการบางส่วนเห็นว่า โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางของสาธารณชนจะปรับลดลงต่อเนื่องหรือเกิดภาวะเงินฝืดมีน้อย เพราะการใช้จ่ายภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น
อีกทั้ง กรรมการบางส่วนเห็นว่า แนวโน้มราคาน้ำมันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าในระยะต่อไปทิศทางราคาน้ำมันที่ค่อนข้างทรงตัว หรือปรับขึ้นเล็กน้อยจะไม่เป็นแรงกดดันเงินเฟ้อด้านต่ำเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีความผันผวนมากขึ้นตามความผันผวนของราคาอาหารสด อย่างไรก็ตาม กรรมการหนึ่งท่านเห็นว่า แม้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะปานกลางของสาธารณชนยังใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่มีการเปลี่ยนแปลงลดลงบ้าง จึงควรติดตามพัฒนาการใกล้ชิดต่อไป
ด้านเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs และพฤติกรรม search for yield โดยกรรมการบางส่วนเห็นพ้องว่า NPL ของบางกลุ่มอาจไม่ปรับดีขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น การขาดความสามารถในการปรับตัวของธุรกิจ ทั้งนี้ ภายใต้ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง กรรมการบางส่วนแสดงความกังวลต่อพฤติกรรม search for yield ที่ยังมีอยู่ รวมทั้งปัญหาเสถียรภาพการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ในจุดอื่น นอกเหนือจากที่ได้ประเมินมาแล้ว
ด้านภาวะตลาดการเงินในระยะต่อไป เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงมีความผันผวน ตามปัจจัยด้านต่างประเทศที่สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ รวมทั้งการคาดการณ์ของตลาดถึงจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed คณะกรรมการฯ จึงให้ติดตามกระแสเงินทุนระยะสั้น โดยเฉพาะที่เข้ามาลงทุนในตราสารระยะสั้นอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ อภิปรายถึงสาเหตุที่นักลงทุนไม่ได้ให้น้ำหนักมากกับความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่ปรับสูงขึ้น สะท้อนจากดัชนีราคาของตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ยังปรับสูงขึ้น โดยกรรมการส่วนหนึ่งเห็นว่า นักลงทุนอาจมองว่า ความเป็นไปได้ของความเสี่ยงดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำมาก (tail risk) ซึ่งในทางปฏิบัติการป้องกันความเสี่ยงประเภทนี้ทำได้ยาก และมีต้นทุนสูง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ปรับลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากนัก ดังนั้น หากความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ราคาสินทรัพย์เสี่ยงในตลาดการเงินโลกอาจปรับตัวได้มาก (sharp correction)
คณะกรรมการฯ ยังได้อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับผลการศึกษาเบื้องต้นของ ธปท. เกี่ยวกับศักยภาพการเติบโต (potential growth) ของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ซึ่งวิเคราะห์จากแนวโน้มอัตราการขยายตัวในระยะยาวของปัจจัยการผลิต (Production Function Approach) ได้แก่ จำนวนชั่วโมงการทำงาน คุณภาพแรงงาน ทุนและผลิตภาพการผลิตรวม ที่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
โดยกรรมการบางส่วนมองว่า ศักยภาพการเติบโตของไทยมีแนวโน้มลดลงจากในอดีตจากหลายปัจจัยสำคัญ อาทิ (1) ปริมาณแรงงานที่ปรับลดลงจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (2) ความไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์ และอุปทานในส่วนของทักษะและประสบการณ์ของแรงงาน (skill mismatch) ส่งผลให้เกิดการจ้างแรงงานที่ไม่สามารถทำงานได้เต็มตามศักยภาพ และ (3) ผลิตภาพการผลิตโดยรวมที่เติบโตช้าลงจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของการลงทุนจากภาคอุตสาหกรรม มาสู่ภาคบริการซึ่งเป็นภาคที่ใช้ทุน (capital) น้อยกว่า และมีผลิตภาพน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ
อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้า หากภาครัฐสามารถดำเนินการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ (S-curve) ได้ตามแผนที่วางไว้ คาดว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะสามารถปรับสูงขึ้นได้ ขณะที่กรรมการบางส่วนเห็นว่า การประเมินศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญบางประการ อาทิ (1) ผลของ automation (2) การลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) เช่น การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการลงทุนในทรัพย์สินทางปัญญา และ (3) การใช้แรงงานต่างด้าวเพื่อทดแทนแรงงานไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้การประเมินศักยภาพการเติบโตของไทยเป็นไปอย่างรอบด้าน และครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อทั้งการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อปิดช่องว่างการผลิต (output gap) ในระยะเวลาที่เหมาะสม และนโยบายการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว