xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์คาด กนง. คงดอกเบี้ยถึงสิ้นปีชี้ ธปท. ห่วงปัจจัยนอก-ค่าเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แบงก์คาด กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงสิ้นปี ระบุ กนง. มองเศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก โดยเฉพาะนโยบายทางเศรษฐกิจ และการค้าของสหรัฐฯ และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า พร้อมจับตาเงินบาทที่แข็งค่ากว่าเพื่อนบ้าน

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ระบุคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 16 สิงหาคม 2017 โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวครอบคลุมในหลายกลุ่มสินค้า และตลาดส่งออกสำคัญ ประกอบกับการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตต่อเนื่อง ด้านการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก

ด้านเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นนับจากต้นปี เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ ที่อาจทำให้แผนปฏิรูปภาษีล่าช้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลง ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยปรับดีขึ้น ทั้งนี้ กนง. มองว่า เงินบาทที่แข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาคอาจกระทบต่อการปรับตัวของธุรกิจ และเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม อีไอซีคาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ตลอดทั้งปี 2017 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวแบบไม่ทั่วถึง การลงทุนที่ยังฟื้นตัวช้า และเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าคาด โดยอีไอซี มองว่า ความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีน้อย แม้คาดการณ์เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1.0%-4.0% เนื่องจาก กนง. มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอาจส่งผลให้ผู้ลงทุนแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ด้วยการเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกินตัว

เงินบาทแกว่งแคบ หลัง กนง. คง ดบ. ตามคาด

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่า ค่าเงินบาทซื้อขายอยู่ใกล้ระดับ 33.30 ต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากการประชุม กนง. นับตั้งแต่ต้นปี เงินบาทแข็งค่าขึ้น 6.9% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคตามปัจจัยหนุนจากยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และเงินทุนไหลเข้าพอร์ตลงทุนที่เกี่ยวข้องกับพันธบัตร

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังคงเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยว ที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนการลงทุนของภาครัฐขยายตัวได้น้อยกว่าคาด แต่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ กนง. คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวสู่ระดับเป้าหมายในช่วง 1-4% ช้ากว่าที่ประเมินไว้ในไตรมาส 4/2560 แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการปรับขึ้นอย่างช้า ๆ ของราคาสินค้ามีสาเหตุมาจากต้นทุนเป็นหลัก โดยทาง กนง. ยังคงติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าสกุลเงินในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ มองว่า กนง. น่าจะยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ตลอดปีนี้ โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกน่าจะยังไม่เกิดขึ้นก่อนกลางปี 2561 เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แรงกดดันด้านเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ต่ำ และการแข็งค่าของเงินบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น