กนง. มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยร้อยละ 1.50 ตามคาด จับตาเงินบาทแข็งค่าอาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี การประชุมครั้งนี้กรรมการ 1 ท่าน ลาประชุม โดย กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชัดเจนต่อเนื่องจากการส่งออกและบริการที่ขยายตัวดี แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป และยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม เช่น การเบิกจ่ายงบรายจังหวัด และงบกลางปี ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ เช่น แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก
อย่างไรก็ตาม กนง. เห็นว่า เงินบาทปรับแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินในภูมิภาคบางช่วง เนื่องจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลง อาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
“การส่งออกในแง่ปริมาณขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นหลัก แต่การที่เงินบาทอ่อนอาจจะช่วยผู้ส่งออกมีสภาพคล่องมากขึ้น ดังนั้น เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอาจจะกระทบต่อผู้ส่งออกในการกำหนดราคา และกำไร โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่ไม่ได้ซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน” นายจาตุรงค์ กล่าว
ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กนง. ประเมินว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ 7,500 ล้านบาท หากเทียบกับสัดส่วนของจีดีพีถือว่าน้อยมาก แต่เป็นห่วงความเป็นอยู่ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า และคาดว่าจะรวมผลกระทบน้ำท่วมในการปรับประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวระดับต่ำ เนื่องจากราคาอาหารสดปรับลดลง ซึ่งเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้า ๆ คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 2.5 ช่วงต้นปี 2561
ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ อาทิ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางปรับสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อย จากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากราคาอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผัก และผลไม้ ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย และผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีทิศทางปรับสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีอย่างช้า ๆ ตามปัจจัยด้านอุปทานที่ทยอยลดลง และการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่ากลางของกรอบเป้าหมาย
ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นที่ปรับลดลง เป็นผลจากปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของ ธปท. และรัฐบาลที่ลดลงเป็นสำคัญ ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้เพิ่มขึ้นทั้งจากสินเชื่อสถาบันการเงิน และตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับลดลง และปัจจัยพื้นฐานด้านต่างประเทศของไทยปรับดีขึ้น ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น
“คณะกรรมการฯ เห็นว่า การที่เงินบาทปรับแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินภูมิภาคในบางช่วง อาจกระทบต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด” เลขานุการ กนง. ระบุ
คณะกรรมการฯ เห็นว่า ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ดี แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด โดยเฉพาะพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร (underpricing of risks) นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
หากมองไปข้างหน้า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยด้านต่างประเทศ ขณะที่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่า นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
“ปัจจัยสนับสนุนด้านต่างประเทศโดยเฉพาะส่งออก และท่องเที่ยว กลับมาเป็นแรงส่งที่ชัดเจน แต่ในประเทศยังไม่มีการเร่งตัวตาม ตรงนี้ต้องมีการติดตามว่า การกระจายตัวของการฟื้นตัวสำหรับปัจจัยในประเทศจะมีการฟื้นตัวกระจายตัวเมื่อไหร่ ขณะนี้ภาครัฐไม่ใช่แรงขับเคลื่อนหลักเพียงอย่างเดียว ดังนั้น เรื่องต่างประเทศจะเข้ามาชดเชยได้บ้าง โดยในการประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจครั้งต่อไปจะต้องมีการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจ และองค์ประกอบเศรษฐกิจ โดยจะมีการนำผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคอีสานเข้ามาด้วย ซึ่งเบื้องต้น คาดมีผลกระทบอยู่ที่ 7,500 ล้านบาท ถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับตัวเลขจีดีพี แต่ในแง่ผลกระทบกับประชาชนถือว่าค่อนข้างรุนแรง อีกทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นช้าที่คาดการณ์ ตรงนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า เงินเฟ้อจะไม่เข้ากรอบล่างในช่วงปลายปีนี้ตามคาดการณ์ แต่ขอดูในรายละเอียดก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณในการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นการพิจารณาตามภาวะของเศรษฐกิจ” นายจาตุรงค์ กล่าว