ปรากฏการณ์การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง แม้จะสร้างความวิตกกังวลให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจ “คุณภาพ” สินค้าในตลาดหุ้น แต่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศกลับมองโลกสวย และเห็นว่า บริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหาเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น
บริษัทที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการนับตั้งแต่ต้นปีมี 3 บริษัท ประกอบด้วยบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น RICH บริษัท โพลารีส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น POLAR และบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น EARTH
แต่ยังมีอีกหลายบริษัทที่ถูกเฝ้าจับตามอง เพราะเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ ฐานะทางการเงินง่อนแง่น จนไม่อาจคาดหมายได้ว่า สุดท้ายแล้วต้องยื่นฟื้นฟูกิจการตามมาอีกหรือไม่
ยังไม่นับรวมบริษัทจดทะเบียนอีกนับสิบแห่งที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาด้านฐานะทางการเงิน กลายเป็นสินค้าที่ด้อยคุณภาพในตลาดหุ้น จึงไม่ได้มีจำนวนเพียงไม่กี่บริษัท แต่รวมแล้วนับสิบๆบริษัท และในอนาคตอาจทยอยขอฟื้นฟูกิจการเพิ่มขึ้น
การยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทจดทะเบียน 3 แห่ง ไม่ใช่ปัญหาที่ใครจะพยายามกลบเกลื่อน แต่เป็นปัญหาที่ทุกหน่วยงานจะต้องเร่งจัดการแก้ไข เร่งกำหนดหาแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม และส่งสัญญาณอย่างทันเหตุการณ์ เพื่อเตือนให้นักลงทุนระมัดระวัง
นักลงทุนนับแสนรายที่ได้รับความเสียหาย จากบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว จนต้องฟื้นฟูกิจการ เฉพาะตัวเลขผู้ถือหุ้น 3บริษัทจดทะเบียนที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการในปีนี้ก็ปาเข้าไป 27,750 รายแล้ว
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยแสดงความกังวลว่าบริษัทจดทะเบียนทีตบเท้ากันขอฟื้นฟูกิจการ จะสร้างความวิตกให้นักลงทุน กังวลต่อคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. จึงต้องร่วมมือกันหาแนวทางการทำงานที่รวดเร็วมากขึ้น เพื่อดูแลคุณภาพบริษัทจดทะเบียน
แต่นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์กลับมองว่า คุณภาพของบริษัทจดทะเบียนยังมีความแข็งแกร่ง มีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่มีปัญหา และบริษัทที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ บางแห่งเกิดจากความขัดแย้งภายในกลุ่มผู้ถือหุ้น บางแห่งเกิดจากการดำเนินงาน
สาเหตุที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนต้องยื่นขอฟื้นฟูกิจการไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ทำไมตลาดหลักทรัพย์จึงไม่รับรู้ถึงปัญหาของบริษัทจดทะเบียน ทำไมไม่ส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนก่อนหน้า
ระบบการกำกับ ดูแล ตรวจสอบฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนมีความหละหลวม ขาดประสิทธิภาพหรือไม่ ตลาดหลักทรัพย์จึงไม่สามารถปกป้องนักลงทุนได้
จะอ้างว่า บริษัทจดทะเบียนที่สร้างความเสียหายให้นักลงทุนเป็นเพียงส่วนน้อยได้อย่างไร ในเมื่อมีนักลงทุนได้รับความเสียหายจากบริษัทจดทะเบียนด้อยคุณภาพนับแสนราย ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ลงทุนบ้างหรือไม่
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ต้องทบทวนระบบการตรวจสอบ กำกับ ดูแลบริษัทจดทะเบียน เพราะกระบวนการควบคุมผลกระทบจากบริษัทจดทะเบียนที่เกิดปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ กรณีบริษัท อินเตอร์ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือหุ้น IFEC จนป่านนี้ปัญหายังคาราคาซังอยู่ ทั้งที่เวลาผ่านมาแล้วค่อนปี ส่วนบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด(มหาชน) ตลาดหลักทรัพย์ไม่เคยส่งสัญญาณเตือนภัยใดๆให้นักลงทุน จนกระทั่งบริษัทมีอันเป็นไป
นักลงทุนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า บริษัทจดทะเบียนที่งบการเงินดูดีอยู่ แต่เนื้อในจริงๆเป็นอย่างไร หนี้จะโผล่ และกลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวเหมือน“เอิร์ธ”ที่ล้มทั้งยืนหรือไม่
ปัญหาของ “เอิร์ธ” ควรถูกนำมาเป็นกรณีศึกษา เพื่อทบทวนระบบการตรวจสอบ การกำกับดูแลคุณภาพจดทะเบียนทั้งระบบ เพื่อหาคำตอบว่า ทำไมตลาดหลักทรัพย์จึงไม่พบความผิดปกติของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ ทำไมไม่สามารถส่งสัญญาณเตือนนักลงทุนได้ล่วงหน้า
การแสดงความเป็นห่วงเป็นใยในคุณภาพบริษัทจดทะเบียนของประธานสภาธุรกิจทุนไทย ไม่ใช่เรื่องที่ไร้เหตุผล เพราะหลังเกิดกรณี “เอิร์ธ” ไม่มีใครมั่นใจว่า
บริษัทจดทะเบียนอีกกว่า 600 แห่ง ยังมีบริษัทใดที่ซุกขยะไว้ใต้พรมเหมือน”เอิร์ธ” อีกหรือไม่