การเปิดเผยยอดหนี้ล่าสุดของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น EARTH สร้างความตกตะลึงให้คนในตลาดหุ้นไม่น้อย เพราะฐานะทางการเงินของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้เลวร้ายเกินกว่าใครจะคาดถึง
“เอิร์ธ” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ถึงสาเหตุการยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน โดยมีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 31,828.55 ล้านบาท แต่มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 47,480.01 ล้านบาท
ไม่มีเบาะแสก่อนหน้าว่า เอิร์ธจะสะสมหนี้ไว้มากมายขนาดนี้ แม้แต่สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ หรือแม้แต่นักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ หรือลงทุนในตัวแลกเงิน (ตั๋วบี/อี) ก็ไม่ระแคะระคายข้อมูลใดใด
ฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ เก็บความลับข้อมูลหนี้ เก็บความลับฐานะทางการเงินมาตลอดจนกระทั่งความลับแตก บริษัทประกาศเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2560 ยอมรับว่าผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อีจำนวนเพียง 40 ล้านบาท จนตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ชี้แจงปัญหาผิดนัดชำระหนี้
ปัญหาหนี้สินต่างๆ จึงถูกตีแผ่ออกมา ปรากฏว่า บริษัทอยู่ในภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว หมดสภาพที่จะชำระหนี้คืนได้
เอิร์ธดำเนินธุรกิจ ผลิต จัดซื้อและจำหน่ายถ่านหินทั้งในและต่างประเทศ มีผลประกอบการที่ดีติดต่อกันหลายปี จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง และเพิ่งจะแสดงอาการไม่ดีไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังจากประกาศงบการเงินไตรมาสแรกปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 68 ล้านบาท
ราคาหุ้นเอิร์ธไม่ได้สั่นไหวเท่าไหร่นัก แม้ผลประกอบการไตรมาสแรกจะขาดทุน โดยยืนในระดับ 4 บาทเศษมายาวนาน แต่ราคาหุ้นเริ่มทรุดตัวลง เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ก่อนที่บริษัทจะแจ้งการผิดนัดชะระหนี้ตั๋วบี/อี
ข่าวการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้เกิดแรงขายถล่มใส่หุ้นตัวนี้ จนราคาร่วงลงไปอยู่ที่ 1.46 บาท ก่อนจะถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งพักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เนื่องจากไม่สามารถชี้แจงผลกระทบต่อการดำเนินงานจากการผิดนัดชำระหนี้ได้
จากหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐาน มียอดขายปีละเกือบ 2 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิปีละประมาณ 1 พันล้านบาท และจ่ายเงินปันผลผู้ถือหุ้ได้หลายปีติดต่อ เอิร์ธต้องล้มทั้งยืนภายในเวลาชั่วข้ามคืน หลังจากผิดนัดชำระหนี้ตั๋วบี/อี ใบแรกด้วยเงินจำนวนเพียง 40 ล้านบาท
เกิดอะไรขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ มีเพียงคณะกรรมการบริษัทหรือฝ่ายบริหารบริษัทเท่านั้นที่จะให้คำตอบกับสาธารณะชนได้
ฝ่ายบริหารเอิร์ธเกิดความผิดพลาดในจุดไหน จึงทำให้บริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ต้องตกอยู่ในอาการ “โคม่า” และความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่
การล้มตึงของเอิร์ธทิ้งคำถามไว้มากมาย โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องเข้าไปตรวจสอบ และค้นหาคำตอบให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งตกอยู่ในฐานะผู้เสียหาย
7 เดือนแรกปีนี้ มีบริษัทจดทะเบียนที่ล้มตายคากระดานหุ้น เพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว จนต้องยื่นศาลล้มละลายกลาง ขอฟื้นฟูกิจการแล้ว 3 บริษัท ประกอบด้วยบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือหุ้น RICH บริษัท โพลารีส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น POLAR และหุ้นเอิร์ธ
POLAR มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน 11,523 ราย RICH มีผู้ถือหุ้นรายย่อยจำนวน9,268 ราย และ EARTH มีผู้ถือหุ้นรายย่อย 6,949 ราย รวม 3 บริษัท มีนักลงทุนรายย่อยได้รับความเสียหายรวม 27,750 ราย
ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินจึงถูกเทขายอย่างหนักในช่วงนี้ เพราะสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้บริษัทจดทะเบียนทั้ง 3 แห่ง ต้องร่วมแบกรับหนี้เสีย ต้องตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญ ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ นักลงทุนจึงแห่เทขายหุ้นกลุ่มแบงก์
สิ่งที่นักลงทุนยังมีคำถามคาใจกันอยู่คือ บริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาฐานะการเงิน มีปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว จะมีเพียง โพลาริสฯ ริชฯ และเอิร์ธเท่านั้นหรือ จะไม่มีบริษัทจดทะเบียนที่ซุกหนี้ไว้อีกหรือ
และบริษัทจดทะเบียนที่ฐานะการเงินเน่า ผลดำเนินงานฟอนเฟะ แต่ถูกคณะกรรมการและฝ่ายบริหารบริษัทร่วมกันปกปิดไว้ จะมีเพียง 3 บริษัทจดทะเบียนที่ประกาศล้มละลายไปแล้วเท่านั้นหรือ