xs
xsm
sm
md
lg

“เอิร์ธ” โดน SP ยาว-ยอดหนี้เข้าเงื่อนไขผิดนัดชำระเฉียด 7 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังขึ้นเครื่องหมาย SP ห้ามซื้อขายหุ้น “เอิร์ธ” หลังแจงข้อมูลการผิดนัดชำระและผลกระทบไม่ครบถ้วน ด้านผู้บริหาร คาดมีหนี้ผิดนัดชำระ และเข้าเงื่อนไขผิดนัดชำระเฉียด 7 พันล้าน เหตุถูกระงับการปล่อยสินเชื่อ ต้องรอผลการเจรจาผ่อนผันหนี้

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังคงขึ้นเครื่องหมาย “SP” ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH เนื่องจากบริษัทยังไม่ได้ชี้แจงผลกระทบที่ชัดเจนว่าปัจจุบัน บริษัทมีการดำเนินธุรกิจอยู่หรือไม่ อย่างไร ประกอบกับภาระหนี้ที่ผิดนัด และหนี้ที่คาดว่าจะผิดนัดมีนัยสาคัญอันอาจกระทบต่อฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัท โดยที่บริษัทยังไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลา และแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นสารสนเทศสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยังคง “SP” หลักทรัพย์ EARTH จนกว่าบริษัทจะชี้แจงข้อมูลได้ชัดเจน และครบถ้วน

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หยุดพักการซื้อขายหลักทรัพย์ EARTH ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2560 เนื่องจากบริษัทแจ้งการผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน ทำให้เข้าเงื่อนไขของการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ของบริษัท 5,500 ล้านบาท ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงขอให้บริษัทชี้แจงว่า ปัจจุบัน บริษัทยังคงสามารถดำเนินธุรกิจตามปกติหรือไม่ อย่างไร รวมถึงผลกระทบต่อฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัท

ต่อมา วันที่ 20 มิถุนายน 2560 บริษัทชี้แจงข้อมูลว่า มีภาระหนี้ที่ผิดนัด หนี้ที่เข้าเงื่อนไขการผิดนัด และหนี้ที่คาดว่าจะผิดนัดชาระภายในเดือนมิถุนายน 2560 รวม 6,952 ล้านบาท และการผิดนัดชำระหนี้ทำให้บริษัทต้องดำเนินธุรกรรมต่างๆ ในรูปแบบเงินสดมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทอย่างยากลำบาก การประกอบธุรกิจของบริษัทมีการชะลอตัว ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาผ่อนผัน และข้อตกลงกับเจ้าหนี้เอ็นเนอร์ยี่

โดย นายธนาวรรธน์ ประทุมสุวรรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ได้ชี้แจงว่า บริษัทมีการผิดนัดชำระหนี้ และเข้าเงื่อนไขการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ และหนี้สินที่คาดว่า จะผิดนัดชำระภายในเดือน มิ.ย. 60 รวม 6,952 ล้านบาท ได้แก่

1. การผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงิน และตั๋วแลกเงินแล้ว รวมจำนวน 1,047,126,015.47 บาท คือ ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน รวมเป็นเงิน 160,000,000 บาท และผิดนัดชำระหนี้ทรัสรีซีท และแพกกิงเครดิตกับสถาบันการเงิน รวมเป็นเงิน 887,126,015.47 บาท

2. เข้าเงื่อนไขการผิดนัดชำระหุ้นกู้ 2 กอง วงเงินรวม 5,500,000,000 บาท คือ หุ้นกู้ของ EARTH ครั้งที่ 1/2558 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2560 มีมูลค่ารวม 1,500 ล้านบาท และหุ้นกู้ของ EARTH ครั้งที่ 1/2559 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2562 มีมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท

3. หนี้สินที่คาดว่าจะไม่สามารถชำระได้อีก 405,706,091.10 บาท คือ ผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงิน 1 ฉบับ รวมเป็นเงิน 10 ล้านบาท และผิดนัดชำระหนี้ทรัสรีชีต และแพกกิ้งเครดิต 6 ฉบับกับสถาบันการเงิน รวมเป็นเงิน 395.71 ล้านนบาท

สำหรับผลกระทบในการผิดนัดชำระหนี้ของทางบริษัทฯ ทำให้สถาบันการเงินทุนแห่งที่บริษัทใช้วงเงินอยู่ใด้ระงับการให้สินเชื่อแก่บริษัท และได้พิจารณาทบทวนวงเงินสินเชื่อทั้งหมดของบริษัทอีกครั้ง ทำให้บริษัทไม่สามารถใช้วงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ รวมทั้งไม่สามารถออกตราสารหนี้ประเภทตั๋วแลกเงินฉบับใหม่ เพื่อทดแทนตั๋วแลกเงินฉบับเดิมที่จะถึงกำหนดชำระได้

ณ วันที่ 31 มี.ค. 60 บริษัทมีสินทรัพย์รวม 35,725 ล้านบาท หนี้สินรวม 25,034 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 10,690 ล้านบาท โดยหนี้สินรวมคิดเป็น 70.07% ของสินทรัพย์รวม

โดยบริษัทต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้และผู้ถือหุ้นกู้ ข้อ 11.2 หากบริษัทได้รับการร้องขอเป็นหนังสือจากผู้ถือหุ้นกู้ไม่ว่ารายเดียวหรือหลายรายที่ถือหุ้นกู้หรือถือหุ้นกู้รวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นกู้ที่ยังมิได้ไถ่ถอนทั้งหมด ทั้งนี้ มติที่ประชุมในเรื่องดังกล่าวต้องเป็นมติโดยคะแนนเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเข้าร่วมประชุม และออกเสียงลงคะแนน หรือบริษัทต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นโดยเร็วไม่กิน 30 วัน นับแต่เกิดกรณีดังกล่าว ตามข้อกำหนดว่าด้วยสิทธิ และหน้าที่ของผู้ออกหุ้นกู้ และผู้ถือหุ้นกู้

ส่วนแนวทางแก้ไขการผิดนัดชำระหนี้นั้น เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้บริษัทฯ ได้ถูกลดระดับความน่าเชื่อถือจากคู่ค้าทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งทำให้บริษัทต้องดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบเงินสดมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทฯ อย่างยากลำบากในขณะนี้ การประกอบธุรกิจของบริษัทมีการชะลอตัว ฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในอนาคต จึงขึ้นอยู่กับการพิจารณาผ่อนผัน และข้อตกลงกับเจ้าหนี้ในแต่ละกลุ่มข้างต้น เพื่อที่จะให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ

ปัจจุบัน บริษัทพยายามหาแนวทางการชาระหนี้ที่แน่นอนเป็นรูปธรรม เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินทุกแห่ง อยู่ในช่วงเวลาของการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย หากบริษัทมีความคืบหน้าบริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น