xs
xsm
sm
md
lg

บจ. ขายไอพีโอครึ่งปีแรก 3 หมื่น ล.-ตลาดหุ้นมั่นใจมูลค่าเข้าเป้า 2.8 แสน ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอกชนชะลอแผนระดมทุนเข้าตลาดหุ้นไทยช่วง 6 เดือนแรกปี 60 ยอดจดทะเบียน 10 ราย มูลค่าขายหุ้นไอพีโอ รวม 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ฯ ชี้สัญญาณเริ่มดีขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ 2 แห่งเตรียมเข้าจดทะเบียน มั่นใจมาร์เกตแคปเข้าเป้า 2.8 แสนล้านบาท

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา ค่อนข้างเงียบเหงาจากหลายปัจจัยลบที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นไทย รวมทั้งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเทียบดัชนีตลาดหุ้นไทย ณ สิ้นปี 2559 ที่ระดับ 1,542.94 จุด กับดัชนีตลาดหุ้น ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ที่ระดับ 1,574.74 จุด พบว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 31.8 จุด หรือคิดเป็นอัตราส่วน 2.06% เท่านั้น

จากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ซบเซา ได้ส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงครึ่งปีแรก ที่เอกชนบางรายชะลอแผนการระดมทุนออกไปก่อน เนื่องจากเกรงว่า แผนการระดมทุนอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีเอกชนเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) รวม 10 บริษัท คิดเป็นมูลค่ารวม 30,033.66 ล้านบาท แบ่งเป็นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 5 ราย และตลาดเอ็มเอไอ 5 ราย

สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เสนอขายหุ้นไอพีโอมูลค่าสูงสุดในช่วง 6 เดือนแรก คือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP มูลค่า 17,500 ล้านบาท อันดับสองบริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP มูลค่า 6,024.38 ล้านบาท และอันดับสามบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC

หากพิจารณาราคาไอพีโอเปรียบเทียบกับราคาที่เข้าซื้อขายวันแรก ปรากฏว่า หุ้นไอพีโอส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้จองซื้อหุ้น โดยหุ้นไอพีโอที่ราคาวันแรกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาจองสูงสุด คือ บมจ. สยามอีสต์ โซลูชั่น (SE) เข้าซื้อขายวันแรกที่ 4.18 บาท สูงกว่าราคาจองที่ 2.45 บาท คิดเป็น 70.61% ตามมาด้วย บมจ. เดนทัล คอร์ปอเรชั่น (D) และ บมจ. ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ (ASAP) ที่ให้ผลตอบแทนผู้จองซื้อ 45.00% และ 43.23% ตามลำดับ

ขณะที่มีเพียง 2 บริษัทที่มีราคาซื้อขายวันแรกต่ำกว่าราคาไอพีโอ คือ บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ WHAUP และ บมจ. ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ราคาปรับตัวลดลง 0.95% และ 4.29%

นายสันติ กีระนันท์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) จะเริ่มทยอยเข้ามาตั้งแต่เดือนนี้จนถึงปลายปี โดยจะมีบริษัทขนาดใหญ่ 2 แห่งที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) แห่งละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้มูลค่ามาร์เกตแคปหุ้น IPO จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.8 แสนล้านบาท จำนวนบริษัทประมาณ 30 บริษัท จากครึ่งปีแรกจดทะเบียนแล้ว 11 ราย มาร์เกตแคปรวมประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

พร้อมกันนี้ คาดว่าจะมีบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย 1 แห่ง ก่อนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีถัด ๆ ไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะนำบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาขยายตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย

นายสันติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทที่อยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมเข้าจดทะเบียนกว่า 100 แห่ง โดยแต่ละบริษัทใช้เวลาเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนประมาณ 2 ปี ซึ่งสาเหตุประการหนึ่งเกิดจากบุคลากรด้านการตรวจสอบบัญชีขาดแคลน ทำให้การเข้าจดทะเบียนของบริษัทต่าง ๆ ต้องล่าช้าออกไป

นายสันติ กล่าวต่อว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตั้งบริษัทย่อย คือ บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือหุ้น 99.99% และล่าสุด ได้เปิดตัว “LIVE” platform ตลาดซื้อขายสำหรับธุรกิจ Startup และ SMEs โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ซึ่งอยู่ระหว่างการขออนุญาตการประกอบธุรกิจจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้บริการปลายไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ Startup เข้าถึงแหล่งเงินทุน และเพิ่มสภาพคล่อง โดยเบื้องต้นจะคัดเลือก Startup ที่มีศักยภาพจากจำนวน Startup ที่เคยมาลงทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ 700 ราย โดยจะประเมินจากผู้ประกอบการสตาร์ทอัปที่มีการนำส่งงบการเงินอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ แม้ว่าผลการดำเนินงานยังไม่มีกำไรสุทธิ
กำลังโหลดความคิดเห็น