รายย่อยร่อนหนังสือพร้อมข้อมูลเพิ่มเติมให้สำนักงาน ก.ล.ต. เร่งจัดการปัญหาไอเฟคด่วน!!! ก่อนที่บริษัทจะเหลือแต่ซาก ชี้พาณิชย์ไม่รับจดทะเบียนกรรมการชุดใหม่ ส่งผลให้การเลือกตั้ง 2 พ.ค. เป็น “โมฆะ” ลั่น “หมอวิชัย” ไม่ใช่เจ้าของไอเฟค หยุดจับเป็นตัวประกัน ถึงเวลาคืนอำนาจผู้ถือหุ้น หลังแอบขาย 2 โรงไฟฟ้า-ทำธุรกรรมโดยไร้ซึ่งอำนาจโดยชอบธรรม สร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับบริษัท
นายประจักษ์ รัศมี ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นรายย่อย บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IFEC) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือถึงนายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมกับทำสำเนาถึงนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้ตรวจสอบบริหารของนายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ และกรรมการชุดปัจจุบันของไอเฟค ที่มีพฤติกรรมเจตนาบริหารงานผิดพลาด บริหารงานด้วยความประมาทเลินเล่อ อนุมัติการเข้าทำรายการโดยขาดอำนาจอันชอบธรรม ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อไอเฟค และผู้ถือหุ้นของไอเฟคเป็นอย่างมาก
โดยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา กรรมการไอเฟคชุดปัจจุบันได้ขายหุ้นและหนี้ในบริษัท วี.โอ.เน็ต ไบโอ ดีเซล เอเชีย จากัด (VON) ให้กับ บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) (VTE) รวมมูลค่า 126.80 ล้านบาท ทั้งที่ไอเฟคยังไม่สามารถจดทะเบียนกรรมการใหม่ตามที่ได้รับเลือกจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560 กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ดังนั้น กรรมการที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ครบตามองค์ประชุม เพื่ออนุมัติการเข้าทำรายการดังกล่าวได้
ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ไอเฟคได้นำเอาหุ้นจำนวน 51% ของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป แมนเนจเม้นท์ จากัด (ICAP) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกลุ่มบริษัทโรงแรมดาราเทวี ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4,000-5,000 ล้านบาท โดยมีการชี้แจงว่าไปค้ำประกันหนี้ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange) ของ บลจ. แลนด์แอนเฮ้าส์ (LH) วงเงิน 100 ล้านบาท ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงตามสัญญาจำนำที่ไอเฟคได้ค้ำประกันต่อ LH Fund ซึ่งไม่ได้ระบุวงเงินของการค้าประกัน และยังเป็นการประกันหนี้ของบริษัททั้งในปัจจุบัน และในอนาคต ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำการที่ไม่ได้คำนึงถึงผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นของบริษัทฯ และในขณะนั้น ไอเฟคมีกรรมการเพียง 2 ท่าน ซึ่งไม่สามารถดำเนินการอนุมัติได้
นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2559 ไอเฟคยังได้รับเงินมัดจำจากบริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) เพื่อเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล TRUE-P จำนวน 50 ล้านบาท แต่ผู้บริหารกลับทำสัญญาเงินกู้ยืมระยะสั้นอัตราดอกเบี้ย 6.25% ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ผู้ขายกลับต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับผู้ซื้อที่วางเงินมัดจำเอาไว้ และครบกำหนดจ่ายดอกเบี้ยเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ที่ผ่านมา
อีกทั้งผู้ถือหุ้นรายย่อยยังเรียกร้องให้ไอเฟคเปิดเผยข้อมูลผู้บริหารชุดปัจจุบัน เนื่องจากยังไม่ได้มีการส่งงบการเงินงวดประจำปี 2559 และงวดไตรมาส 1/2560 ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่ทราบถึงขอบเขตและอำนาจของคณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการย่อยอื่น ๆ
นอกจากนี้ การดำเนินการบริหารที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 นั้น เป็นการบริหารงานโดยไม่มีคณะกรรมการตรวจสอบที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ขาดการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการบริหารและผู้บริหาร ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการเข้าทำรายการต่าง ๆ ที่ขาดความระมัดระวัง
รวมถึงบริษัทไม่ได้นำส่งงบการเงินประจำปี 2559 และสำหรับไตรมาส 1 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2560 ส่งผลให้ไม่สามารถปลดเครื่องหมาย SP ได้ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อกลุ่มผู้ถือหุ้น โดยทางไอเฟค ไม่ได้ดำเนินการนำส่งงบการเงินให้ทันตามที่ได้แจ้งไว้ต่อการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น และตามที่ได้รายงานสารสนเทศต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยปราศจากเหตุผลอันควร และไม่มีกำหนดการที่เป็นรูปธรรมชัดเจน
ทนายความที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้ถือหุ้นรายย่อยไอเฟค กล่าวอีกว่า ก.ล.ต. ควรเร่งจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับไอเฟคอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าปล่อยให้ผู้บริหารใช้อำนาจตามอำเภอใจ ไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย หรือทำผิดข้อบังคับ เหมือนกับที่เกิดขึ้นในช่วง 8-9 เดือนที่ผ่านมา จะทำให้ปัญหายิ่งลุกลามบานปลายมากกว่านี้ สุดท้ายคนที่ได้รับความเสียหายที่สุด คือ ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีกว่า 27,000 คน และเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดทุน เพราะนายวิชัยไม่ใช่เจ้าของไอเฟค แต่ผู้ถือหุ้นรายย่อย คือ เจ้าของตัวจริง