“ทวิช เตชะนาวากุล” ลาออกจากการเป็นกรรมการไอเฟค มีผลตั้งแต่ 31 พ.ค.60 เป็นต้นไป พร้อมแจงข้อมูลหมอวิชัย พาดพิง เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจเจตนาตน
นายทวิช เตชะนาวากุล ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และกรรมการของบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC แถลงว่า วันนี้ (31 พ.ค.) ตน และกรรมการที่ตนเรียนเชิญมาเป็นกรรมการ IFEC ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการ IFEC มีผลตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เป็นต้นไป และขอถือโอกาสนี้ชี้แจงประเด็นต่างๆ ที่นายวิชัย ซื้อพื้นที่ประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆ เพื่อออกแถลงการณ์ของ IFEC เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีการพาดพิงถึงผม ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนทั่วไปได้เข้าใจความเป็นจริงต่างๆ ขอชี้แจงดังนี้
1.ตนได้ทำการซื้อหุ้น จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่งของ IFEC โดยเป็นการซื้อขายแบบ Big Lot และมีการชำระค่าหุ้น ไม่ใช่ เป็นการโอนหุ้น ตามที่นายวิชัย ได้กล่าวอ้าง
2.การประชุมคณะกรรมการบริษัท ภายหลังจากที่ตนได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการ กรรมการทุกคน ไม่เคยได้รับข้อมูล และเอกสารประกอบการประชุม พร้อมกับหนังสือเชิญประชุมฯ จากบริษัทเป็นการล่วงหน้า ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติจากบริษัทจดทะเบียน หรือบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ทั่วไป
3.การเลือกตั้งกรรมการ ในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น สองครั้งที่ผ่านมา นายวิชัย อ้างข้อกฎหมายเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน โดยวิธีลงคะแนนแบบสะสม (Cumulative voting) นั้น ซึ่งขัดกับข้อบังคับของบริษัท โดยมีเจตนาที่ต้องการให้ฝ่ายตนได้เป็นกรรมการเสียงข้างมาก โดยอ้างอิงมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน แต่ในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชน มีการกำหนดวิธีการเลือกตั้งกรรมการไว้ในสองมาตรา คือ มาตรา 70 และ 71 ซึ่งต้องพิจารณาพร้อมกัน โดยมาตรา 71 กำหนดว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีทุกครั้ง ให้เลือกตั้งคณะกรรมการทั้งชุดพร้อมกันในคราวเดียว ทั้งนี้ มิให้ใช้บังคับกับกรณีที่บริษัทมีข้อบังคับกำหนดวิธีการเลือกกรรมการแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 70 ซึ่งในกรณีเช่นนั้น ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนหนึ่งในสามเป็นอัตรา ถ้าจำนวนกรรมการที่จะแบ่งออกให้ตรงเป็นสามส่วนไม่ได้ ก็ให้ออกโดยจำนวนใกล้ที่สุดกับส่วนหนึ่งในสาม ซึ่งเห็นได้ว่า หากนายวิชัย จะใช้วิธีการลงคะแนนแบบสะสม ตามมาตรา 70 ก็ต้องเลือกตั้งคณะกรรมการทั้งชุด แต่ถ้าหากจะเลือกกรรมการแค่หนึ่งในสาม ก็ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัท คือ วิธีการลงคะแนนแบบแบ่งแยกคะแนนไม่ได้ (One man one vote)
4.การฟ้องร้องอดีตผู้บริหารที่ทุจริต ในส่วนของตนเห็นว่า ทั้งนายวิชัย และอดีตผู้บริหารได้ร่วมกันบริหาร IFEC มาตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงาน บริษัทควรตั้งคณะกรรมการตรวจสอบตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา และมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบ เรื่องการลงทุนในโครงการทุกโครงการที่ผ่านมาของบริษัท หากพบว่ามีการทุจริตในโครงการใด ก็ต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้บริหาร และอดีตผู้บริหารทุกคน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นของบริษัท
5.การที่บริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินให้แก่ตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ตามกำหนดเวลา มีการขอเลื่อนกำหนดนำส่งมาหลายครั้ง ซึ่งตนให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และได้พยายามเรียกร้องให้นายวิชัย ในฐานะผู้บริหาร และกรรมการที่รับผิดชอบเดิมเร่งดำเนินการ แต่นายวิชัย กลับให้ความสำคัญเรื่องการที่จะให้ฝ่ายตนมีจำนวนกรรมการเป็นเสียงข้างมาก และโยนความผิดไปยังอดีตผู้บริหารแต่ฝ่ายเดียว ซึ่งตนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการให้บริษัทสามารถส่งงบการเงินให้ได้ แต่ถูกกีดกันจากนายวิชัย ในการรับทราบถึงสถานะและปัญหาที่แท้จริงในการปิดงบการเงินของบริษัท
สาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์ไทย (ตลท.) ขึ้นเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ของ IFEC คือ
ครั้งแรก วันที่ 12 มกราคม 2560 บริษัทไม่ชี้แจงเรื่อง การผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินของบริษัท
ครั้งที่ 2 วันที่ 1 มีนาคม 2560 บริษัทไม่ส่งงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2559
ครั้งที่ 3 วันที่ 16 พฤษภาคม 2560 บริษัทไม่ส่งงบการเงิน สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 และยังขึ้นเครื่องหมาย NP เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 เนื่องจาก IFEC ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วนภายในเวลาที่กำหนด
โดยตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า หากครบ 3 เดือนนับแต่วันขึ้นเครื่องหมาย NP แล้ว บริษัทยังไม่สามารถตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์จะขึ้นเครื่องหมาย SP ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 และหากขึ้นเครื่องหมาย SP ครบ 3 เดือน IFEC ยังไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ครบถ้วน ตลาดหลักทรัพย์จะประกาศ IFEC เข้าข่ายถูกเพิกถอน และหากบริษัทยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อกำหนด ตลาดหลักทรัพย์อาจพิจารณาเพิกถอนหลักทรัพย์ของ IFEC ต่อไป
ดังนั้น การที่นายวิชัย จะพยายามโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อต่างๆ ว่า IFEC จะสามารถปลดเครื่องหมาย SP ได้ เมื่อส่งงบการเงินประจำปี 2559 เท่านั้น อาจทำให้ผู้ถือหุ้น และนักลงทุนทั่วไปเข้าใจคลาดเคลื่อนถึงข้อเท็จจริง เพราะการที่ตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาปลดเครื่องหมาย SP บริษัทจะต้องแก้ไขสาเหตุที่ตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมายให้ครบทุกข้อก่อน ตลาดหลักทรัพย์จึงจะพิจารณาปลดเครื่องหมาย SP ให้
นอกจากนี้ การส่งงบการเงินสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 ยังมีขั้นตอนที่ต้องให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทจะต้องอนุมัติการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2560 ก่อน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ขั้นตอนนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ การที่บริษัทไม่แต่งตั้งกรรมการตรวจสอบแทนกรรมการตรวจสอบเดิมที่ลาออก แม้ว่าตนจะมีหนังสือขอให้ประธานกรรมการบริษัทบรรจุวาระเรื่องดังกล่าว แต่ประธานกรรมการบริษัทเห็นว่า ยังไม่มีความจำเป็น อันอาจเป็นเจตนาของนายวิชัย ที่ไม่ต้องการให้คณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เพราะจะทำให้การดำเนินการที่ต้องการของตนไม่สามารถดำเนินการได้ก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบก่อน
ประเด็นสุดท้ายที่ตนขอชี้แจง คือ สาเหตุที่ตน และกรรมการอื่นขอลาออกจากการเป็นกรรมการของ IFEC นับแต่ได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้าพเจ้ายินดีให้ความร่วมมือในการเข้าร่วมประชุมกับนายวิชัย แต่เนื่องจากที่ผ่านมา ประมาณ 5-6 ครั้ง การประชุมคณะกรรมการ นายวิชัยไม่เคยส่งเอกสารประกอบการประชุมให้แก่กรรมการ ทำให้กรรมการไม่สามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องใดๆ ได้ รวมถึงการไม่ได้มีการบันทึกรายงานให้ถูกต้องครบถ้วน ประกอบกับที่ผ่านมา กรณีที่นายวิชัย เรียกประชุมคณะกรรมการ (ฉุกเฉิน) ถึง 3 ครั้ง บางครั้งเรียกประชุมภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นวาระที่ควรจะได้มีการเตรียมการล่วงหน้านานนับเดือน เป็นการดำเนินการที่ผิดปกติสำหรับบริษัทจดทะเบียน และบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ทั่วไป รวมถึงยังมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามข้อกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท และการไม่ลำดับความสำคัญในการพิจารณาแก้ไขปัญหา และอุปสรรคของบริษัท เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินงานต่อไปได้ นอกจากนี้ นายวิชัยสามารถส่งงบการเงิน ณ 31 ธันวาคม 2559 ตามกรอบเวลาที่กำหนด และการสุ่มเสี่ยงที่จะดำเนินการหลายครั้งที่ผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าตนจะได้ทักท้วงหลายครั้ง อีกทั้ง นายวิชัยยังไม่นำรายชื่อกรรมการฝ่ายตนยื่นขอขึ้นทะเบียนในระบบข้อมูลกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนของสำนักงาน ก.ล.ต. แม้ว่าจะล่วงเลยระยะเวลามานาน
นายทวิชได้ชี้แจงต่อว่า ตนตระหนักดีถึงภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบด้วยความระมัดระวัง เพื่อให้ดำเนินการตามข้อกฎหมาย และข้อบังคับของบริษัท การที่ข้าพเจ้า และคณะเสนอตัวเข้ามาเป็นกรรมการ เพราะเห็นว่าสามารถใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้แก่บริษัท ไม่เคยมีความคิดจะเข้าครอบงำกิจการของบริษัทแต่อย่างใด และเมื่อเห็นว่าคงไม่สามารถทำงานร่วมกับนายวิชัย ให้เป็นไปตามเจตนาที่ผู้ถือหุ้นได้ตั้งความหวัง ข้าพเจ้า และกรรมการที่ตนเรียนเชิญก็ไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง จึงได้ร่วมกันตัดสินใจ และขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท และขอเชิญชวนนายวิชัย หากท่านเห็นว่า มีความตั้งใจที่จะกอบกู้วิกฤตของบริษัทจริง ก็ควรลาออกพร้อมกัน เพื่อคืนอำนาจ และสิทธิให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทได้เลือกตั้งบุคคลที่จะเหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการ และผู้บริหารใหม่ของบริษัทต่อไป