บริษัท โพลารีส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น POLAR มีบัญชีที่ต้องสะสางกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.ยาวเป็นหางว่าว นับตั้งถูกขึ้นเครื่องหมาย “เอสพี” พักการซื้อขายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560
โพลาร์ไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2559 ได้ตามกำหนด หลังจากนั้น ถูกสั่งให้ชี้แจง กรณีไม่จัดประชุมผู้ถือหุ้น ตามที่ผู้ถือหุ้นเรียกร้อง
ถูกสั่งให้ชี้แจงสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินย่านพหลโยธิน และการยกเลิกการลงทุนในบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ( A DAY)
การประกาศซื้อ A DAY วงเงิน 308 ล้านบาท โดยวางมัดจำไปแล้ว 120 บาท เป็นธุรกรรมที่พิกล จนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักประเด็นราคาที่จะซื้อ ความคุ้มค่าของการลงทุน เป็นเป้า จับจ้อง ว่านี่คือ พฤติกรรมการ “ไซ่ฟ่อนเงิน” หรือไม่
การซื้อ A DAY เกิดขึ้นหลังจากที่ คณะกรรมการฯมีมติซื้อที่ดินย่านพหลโยธิน และวางมัดจำล่วงหน้าไปแล้ว 350 ล้านบาท และต้องชำระงวดที่สองในเดือนธันวาคม 2559 อีก 100 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชำระได้ จนมีโอกาสที่จะถูกยึดเงินค่ามัดจำ 350 ล้านบาท
คณะกรรมการและฝ่ายบริหาร โพลาร์ ไม่รู้ถึงฐานะการเงินบริษัทเลยหรือ ไม่รู้ถึงภาระต้องชำระค่าซื้อที่ดินย่านพหลโยธินอีก 100 ล้านบาทหรือ และมีความจำเป็นเพียงใดที่จะซื้อ A DAY มีความจำเป็นอะไรที่ต้องจ่ายค่ามัดจำ 120 ล้านบาท ทั้งที่ยังมีภาระการจ่ายค่าซื้อที่ดินย่านพหลโยธินอีก
พฤติการณ์ของคณะกรรมการโพลาร์ไม่แตกต่างจากหุ้นในเครือข่ายเดียวกันอีกหลายตัว โดยขยันเพิ่มทุน ระดมเงินได้แล้ว จะนำไปขยายการลงทุนหรือซื้อทรัพย์สิน และชอบที่จะจ่ายค่าเงินมัดจำจำนวนมากๆอีกด้วย
เมื่อเกิดปัญหาในสัญญาซื้อขาย เงินค่ามัดจำจึงมีโอกาสถูกยึดค่ามัดจำที่ดินย่านพหลโยธินจำนวน 350 ล้านบาทอาจถูกคู่สัญญากินเปล่า ค่ามัดจำ A DAY จำนวน 120 บาท ซึ่งผู้บริหารโพลาร์เคยอ้างว่า จะได้รับคืนในเดือนมิถุนายน แต่เลยกำหนดเวลาจ่ายคืนแล้ว ยังไม่มีผู้บริหารโพลาร์หน้าไหนมาแถลงว่าได้ค่ามัดจำคืน
การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของโพลาร์ก็มีปัญหา เพราะเดิมคณะกรรมการบริษัทฯกำหนดไว้วันที่ 21 กรกฎาคมนี้ แต่เนื่องจากศาลล้มละลายกลางเลื่อนการพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จากวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึง
คณะกรรมการบริษัทจึงถือโอกาสเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นวันที่ 22 กันยายน โดยอ้างว่า เพื่อรอคำสั่งศาล เพราะจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นแล้ว หากต้องจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามมาอีก จะต้องเสียค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ในการจัดประชุมแต่ละครั้ง
ไม่รู้ว่า คณะกรรมการโพลาร์คิดถึงการประหยัดเงินของถือหุ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และทำไมก่อนหน้า จึงไม่คิดห่วงเงินของผู้ถือหุ้นนับร้อยนับพันล้านบาทที่นำไปลงทุน นำไปซื้อทรัพย์สิน จนเงินถูกละลายไป และทำไมจึงไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 1 หมื่นคน
ความพยายามหน่วงเหนี่ยวการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ทั้งก่อนและหลังการยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เป็นความตั้งใจที่จะหนีการซักฟอกของผู้ถือหุ้นรายย่อยหรือไม่ โดยอาศัยศาลล้มละลายเป็นตัวช่วย เช่นเดียวกับบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น RICH
เพราะระหว่างยื่นคำร้องขอฟื้นฟู คณะกรรมการโพลาร์มีข้ออ้างทางกฎหมายที่จะไม่จัดประชุมผู้ถือหุ้น
การยื่นขอฟื้นฟูกิจการ เป็นไพ่ใบสุดท้ายที่คณะกรรมการโพลาร์ จะใช้เป็นช่องทางปัดความรับผิดชอบในการทวงคืนค่ามัดจำที่ดินย่านพหลโยธินจำนวน 350 ล้านบาท และค่ามัดจำ A DAY จำนวน 120 ล้านบาท รวมทั้งภาระรับผิดชอบด้านอื่นๆ
แต่ ก.ล.ต.ไม่ยอมปล่อยให้คณะกรรมการโพลาร์ลอยนวลไปง่ายๆ เพราะล่าสุด สั่งให้โพลาร์ จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ เกี่ยวกับที่มา ความมีอยู่ ความครบถ้วนในการบันทึกบัญชีที่แท้จริง ของโพลาร์
เพราะข้อมูลหนี้ที่เปิดเผยในงบการเงินปี 2559 แตกต่างจากมูลหนี้ในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการอย่างมีนัยสำคัญ
ก.ล.ต.กำลังจับให้มั่นคั้นให้ตายหุ้นโพลาร์ โดยเฉพาะการจัดทำบัญชีงบการเงิน ซึ่งหากมีใครเล่นกลตัวเลขทางบัญชี งานนี้อาจเจอข้อหาหนัก
ถึงจะหนีไปขอฟื้นฟูกิจการจากศาลล้มละลายกลาง คณะกรรมการโพลาร์ ก็ใช่ว่าจะรอดมือ ก.ล.ต.