สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังเกาะติด 2 บริษัทจดทะเบียน ซึ่งยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เพราะมีปมที่น่าสงสัยเกี่ยวกับฐานะทางการเงินและปัญหาคาราคาซังในการจัดประชุมผู้ถือหุ้น
บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือหุ้น RICH ถูกก.ล.ต.สั่งให้ชี้แจงถึงการยกเลิกจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี หลังยื่นขอฟื้นฟูกิจการ
ส่วนบริษัท โพลาริส แคปปิตัล จัด (มหาชน) หรือหุ้น POLAR ถูกก.ล.ต.สังให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับ ความมีอยู่จริง ความครบถ้วนการบันทึกบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินของหนี้สินตามที่แจ้งไว้ในการขอฟื้นฟูกิจการ
การยื่นขอฟื้นฟูกิจการของ “ริช”และ “โพลาร์” เป็นการประกาศล้มละลาย และตัดตอนการประชุมผู้ถือหุ้น จนก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องสั่งให้ชี้แจงถึงการยื่นฟื้นฟูอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะ “โพลาร์”ที่ถูกตั้งประเด็นในความไม่ชอบมาพากลของการจัดทำงบการเงิน
หุ้น ”ริช” และหุ้น “โพลาร์” ถูกจัดเป็นหุ้นร้อน มีประวัติโชกโชน มีการปล่อยข่าวลือกระตุ้นราคากันเป็นระยะ เพิ่มทุนถี่กันทั้งคู่ แต่ผลประกอบการย่ำแย่ จนที่สุดไปไม่รอด
โครงสร้างผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท ประกอบด้วยนักลงทุนรายย่อยไม่มีผู้ถือหุ้นใหญ่หรือไม่มี “เจ้าภาพ” แต่น่าจะมี “เจ้ามือ”
“ริช”ดำเนินธุรกิจแร่แปรธาตุหรือจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็ก โดยเริ่มมีปัญหาหลังประกาศผิดนัดชำระหนี้ เมื่อวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา มียอดหนี้ค้างชำระรวมดอกเบี้ยเมื่อสิ้นปี 2559 รวมทั้งสิ้นประมาณ 808 ล้านบาท
วันที่28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริษัท ริชฯประกาศกำหนดจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2559 ในวันที่ 28 เมษายน ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม ตลาดหลักทรัพย์สั่งขึ้นเครื่องหมาย”เอสพี” พักการซื้อขายหุ้น เนื่องจากงบการเงินปี2559 แสดงส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่าศูนย์ เข้าข่ายอาจถูเพิกถอนการเป็นบริษัทจดทะเบียน
แต่ 8 มีนาคม คณะกรรมการบริษัทฯลงมติยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลาย และยกเลิกการประชุมผู้ถือหุ้น
หลังจากนั้นตลาดหลักทรัพย์ได้จี้ “ริช”ให้ชี้แจงถึงงบการเงินปี 2559 ซึ่งมีผลขาดทุนสุทธิ 1,144 ล้านบาท โดยเฉพาะการตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญจำนวน 1,100 ล้านบาท ก่อนที่ก.ล.ต.จะสั่งให้ชี้แจงเหตุผลการไม่จัดประชุมผู้ถือหุ้น
คำชี้แจงของ “ริช” ในการไม่จัดประชุมผู้ถือหุ้น เป็นประเด็นแง่กฎหมายที่น่าสนใจ เพราะเป็นการหยิบยกกฎหมายคนละฉบับ มาเป็นเกราะป้องกันคณะกรรมการบริษัท และเป็นช่องทางที่ฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนจะหนีการถูกซักฟอกจากผู้ถือหุ้น
ก.ล.ต.ระบุว่า ตามกฎหมายมหาชน “ริช”ต้องจัดประขุมสามัญผู้ถือหุ้น ภายใน 4 เดือน นับจากวันสิ้นรอบบัญชีงบการเงิน และแม้พ.ร.บ.ล้มละลาย จะกำหนดให้บรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นต้องระงับลง เมื่อศาลมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการแล้ว แต่เมื่อศาลยังไม่มีคำสั่งฟื้นฟู สิทธิของผู้ถือหุ้นจึงยังไม่ถูกระงับ
แต่ ”ริช” อ้างความเห็นของบริษัท ฟีนิกซ์ แอคไวซอรื่ เชอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย โดยระบุบทบัญญัติพ.ร.บ.ล้มละลายว่า
เมื่อยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้ว การประชุมผู้ถือหุ้น หากที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เกี่ยวกับนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทมหาชน ย่อมเป็นโมฆะ และจะเกิดปัญหาข้อยุ่งยากทางกฎหมาย
คณะกรรมการบริษัทฯจึงยกเลิกการจัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยพิจารณาด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความซื่อสัตย์สุจริต และไม่เคยมีความคิดที่จะจำกัดสิทธิของผู้ถือหุ้น ในการออกเสียงและซักถามประเด็นข้อสงสัยต่างๆแต่อย่างใด
“ริช”ชี้แจงก.ล.ต.เป็นฉอดๆ ยกข้อกฎหมายพ.ร.บ.ล้มละลายมาลบล้างความเห็นทางกฎหมายอย่างเป็นช่องเป็นฉาก ก่อนสรุปว่า ฝ่ายบริหารบริษัทฯพร้อมปฏิบัติตามข้อเสนอของก.ล.ต. โดยการจัดประชุมผู้ถือหุ้น ถ้าไม่มีผล กระทบกับนายทะเบียนหุ้น พร้อมเสนอศาลฯ เพื่อให้มีคำสั่งตามที่กฎหมายกำหนด
คำชี้แจงในแง่กฎหมาย ที่แย้งความเห็นของก.ล.ต.ที่สั่งให้ “ริช”จัดประชุมผู้ถือหุ้น เหมือนกับการสอนมวยทางกฎหมายให้ก.ล.ต. และอาจทำให้ก.ล.ต. “จน” ด้วยข้อกฎหมาย เพราะหลังจากนั้นไม่มีคำสั่งให้”ริช”ชี้แจงอะไรเพิ่มเติมอีกเลย
การชิงยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จะเป็นช่องทางใหม่ สำหรับฝ่ายบริหารบริษัทจดทะเบียนที่ต้องการหลบการเผชิญหน้ากับผู้ถือหุ้น หนีการถูกซักฟอกหรือไม่
เพราะทั้ง “ริช”และ “โพลาร์” มีผลประกอบการย่ำแย่ ซึ่งเป็นความล้มเหลวที่ฝ่ายบริหารบริษัทต้องรับผิดชอบ
แต่เมื่อผู้บริหารชิงขอล้มละลาย โยนภาระรับผิดชอบให้ศาลล้มละลายกลางหรือผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการรับไปแทนเสียแล้ว
ก.ล.ต.และผู้ถือหุ้นรายย่อย จึงได้แต่ยืนดูผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนทั้งสองแห่ง เปิดเกมตัดตอนการถูกผู้ถือหุ้นซักฟอกกันตาปริบๆ
(ฉบับพรุ่งนี้ อ่านต่อ หุ้นโพลาร์ล้มละลายบนฟูก)