หลังจากมีข่าวว่า บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น POLAR ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ อ้างว่าหนี้สินล้นพ้นตัว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้สั่งให้ฝ่ายบริหารบริษัทฯชี้แจงช้อมูลเพิ่มเติมทันที
เพราะโพลาร์พึ่งแจ้งงบการเงินล่าสุดประจำปี 2559 ต่อตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า บริษัทมีทรัพย์สินรวม 5,045 ล้านบาท มีหนี้สิน 465 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท
ปมที่สั่งให้ฝ่ายบริหารโพลาร์ชี้แจง 3 ประเด็นคือ
1.ขอให้อธิบายถึงสาระสำคัญการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เช่น มูลหนี้ที่ยื่นขอฟื้นฟู ผู้จัดทำแผนฟื้นฟู และ เหตุใดจึงไม่แจ้งการยื่นขอฟื้นฟูมาที่ตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่ต้องปิดเผยทันที
2.คณะกรรมการและฝ่ายบริหารบริษัท บริหารงานอย่างไร จึงเป็นเหตุให้มีหนี้สินล้นพ้นตัวในระยะเวลาอันสั้น เพราะเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการบริษัทเพิ่งอนุมัติงบการเงินปี 2559 ซึ่งมีส่วนของผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 แจ้งงบมาที่ตลาดหลักทรัพย์ แต่วันรุ่งขึ้น 9 พฤษภาคม 2560 กลับยื่นขอฟื้นฟูกิจการ
3.การยื่นฟื้นฟูกิจการ คณะกรรมการบริษัทฯดำเนินการด้วยความระมัดระวังและความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นอย่างไร พร้อมอธิบายถึงข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจ
สำหรับการยื่นขอฟื้นฟูกิจการนั้น เป็นเรื่องที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน โดยคณะกรรมการโพลาร์ชี้แจงว่า บริษัท นครหลวงเส้นใยสังเคราะห์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นชื่อเดิมของบริษัท เคยยื่นขอฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2548 โดยศาลล้มละลายกลาง อนุมัติแผนฟื้นฟูฯ และบริษัทได้ฟื้นฟูสำเร็จครบถ้วน จนออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แล้ว
แต่ต้นปี 2560 ศาลฎีกามีคำสั่ง ไม่เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าว ทำให้บริษัทต้องกลับไปสู่สถานะเดิมก่อนฟื้นฟูกิจการ โดยยังคงมีหนี้สินเดิมก่อนฟื้นฟูกิจการรวมดอกเบี้ยกว่า 1 พันล้านบาท และยังมีคดีถูกฟ้องร้องทางแพ่งอีก 3 ราย ทำให้บริษัทมียอดหนี้โดยรวมประมาณ 5,718 ล้านบาท
การที่ศาลฎีกามีคำสั่ง "ไม่เห็นชอบ" แผนฟื้นฟูกิจการที่ยื่นต่อศาลล้มละลายตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ “โพลาร์” เกิดความโกลาหนทันที
จากบริษัทที่มีทรัพย์สินมากกว่ามูลหนี้ กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือกลายเป็นบริษัทล้มละลายชั่วข้ามคืน
และจากบริษัทที่ผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการเรียบร้อย และกลับมาดำเนินธุรกิจปกติมานานหลายปี แต่ต้องกลับเข้าไปเริ่มต้นนับหนึ่งในกระบวนการฟื้นฟูใหม่
ความพลิกผันในหุ้นตัวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่สุดท้ายถูกสั่งให้เป็นโมฆะ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
คณะกรรมการบริษัทโพลาร์ ซึ่งบริหารงานมาหลายปี สูบเงินจากนักลงทุนอย่างสนุกมือ โดยประกาศเพิ่มทุนนับสิบครั้ง นำเงินไปขยายการลงทุนและซื้อทรัพย์สินตลอดเวลา แต่ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง สร้างความเสียหายให้ผู้ถือหุ้นจำนวนกว่า 1 หมื่นคน ใครจะต้องรับผิดชอบ
เพราะเมื่อยื่นขอฟื้นฟูกิจการรอบใหม่ คณะกรรมการบริษัทโพลาร์ จะอยู่ในฐานะลอยตัวเหนือความรับผิดชอบใดๆ ไม่ต้องจัดประชุมผู้ถือหุ้นให้ถูกซักฟอก โดยศาลล้มละลายจะเป็นผู้กำหนดชะตากรรม “โพลาร์”
การดำเนินงานจะถูกกำหนดโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟู เช่นเดียวกับบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ซึ่งยื่นขอฟื้นฟูกิจการในช่วงเวลาเดียวกัน
ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ ต้องนำปัญหาของ “โพลาร์” เป็นกรณีศึกษา เพื่อค้นหาคำตอบให้ได้ว่า การพลิกแพลง แผนการฟื้นฟูกิจการบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมนักลงทุนจำนวนมาก ต้องมาเซ่นสังเวยความผิดพลาดของ “โพลาร์”
และจะแก้หุ้นประเภทผีดิบคืนชีพ จะป้องกันบริษัทจดทะเบียนที่ฟื้นฟูกิจการ แต่กลายกลับมาเป็นการสร้างความเสียหายให้นักลงทุนซ้ำสองได้อย่างไร
(พรุ่งนี้ขอต่ออีกตอน คดีหุ้นโพลาร์ที่ค้างชำระ)