ช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด(มหาชน) หรือหุ้นโพลาร์ ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถูกสำนักงานคณะกรรมการกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้ชี้แจงข้อมูลการดำเนินธุรกรรมในหลายด้านอย่างถี่ยิบ
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์ขอให้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติม การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง โดยอ้างเหตุผลหนี้สินล้นพ้นตัว แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์ ทั้งที่การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู เป็นเหตุการณ์ที่บริษัทจดทะเบียนจะต้องเปิดเผยทันที
โพลาร์ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 โดยศาลนัดไต่สวนวันที่ 26 มิถุนายนนี้
ปมใหญ่ที่ตลาดหลักทรัพย์ตั้งข้อสงสัยมากเป็นกรณีพิเศษคือ คณะกรรมกรรและฝ่ายบริหารบริษัทฯ ดำเนินการอย่างไร จึงทำให้โพลาร์ตกอยู่ในฐานะมีหนี้สินล้นพ้นตัวในระยะเวลาอันสั้น หรือเพียงไม่กี่วัน
เพราะเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 คณะกรรมการเพิ่งมีมติอนุมัติงบการเงินประจำปี2559 โดยมีสินทรัพย์รวม5,045 ล้านบาท มีหนี้สิน465 ล้านบาท มีส่วนผู้ถือหุ้น 4,580 ล้านบาท และเปิดเผยงบการเงินวันที่ 8 พฤษภาคม แต่วันรุ่งขึ้น9 พฤษภาคมกลับยื่นขอฟื้นฟูกิจการ
เพียงชั่วข้ามคืน ฐานะของโพลาร์เปลี่ยนอย่างพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินได้อย่างไร เหมือนกิจการที่เพิ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุดAAA แต่วันรุ่งขึ้นเครดิตตกต่ำสุดเหลือเพียงเรตติ้ง D
ทำไมโพลาร์จึงเจ๊งในพริบตา คณะกรรมการหรือฝ่ายบริหารทำอะไรมิดีมิร้ายหรือไม่ และผู้ถือหุ้นรายย่อยโพลาร์จะเรียกหาความรับผิดชอบจากใคร
ก่อนหน้านี้ โพลาร์เคยถูกก.ล.ต.สั่งให้ชี้แจงข้อมูล กรณีไม่ยอมจัดประชุมผู้ถือหุ้น ตามที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อยเรียกร้อง และถูกตลาดหลักทรัพย์สั่งให้ชี้แจงการแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบไม่ครบถ้วน
ตั้งแต่ปลายปี2559 โพลาร์สร้างประเด็นข่าวฉาวโฉ่มากมาย ทั้งการซื้อหุ้น A DAY วงเงิน308 ล้านบาท โดยวางมัดจำล่วงหน้าไป120 ล้านบาท รวมทั้งการซื้อที่ดินย่านพหลโยธิน ซึ่งวางมัดจำล่วงหน้าไป350 ล้านบาท แต่ไม่สามารถจ่ายมัดจ้างงวดสิ้นปีอีก 100 ล้านบาทได้ และมีปัญหาคาราคาซังกันอยู่
ที่ดินย่านพหลโยธิน โพลาร์คงหมดปัญหาซื้อแล้ว เพราะกลายเป็นบริษัทล้มละลาย แต่ปัญหาคือ เงินมัดจำ 350 ล้านบาท จะเรียกคืนได้หรือไม่ เช่นเดียวกับเงินมัดจำA DAY จำนวน 120 ล้านบาท
และถ้าถูกยึดมัดจำ คณะกรรมการโพลาร์ จะต้องรับผิดชอบอะไรหรือไม่ ทั้งทางแพ่งและทางอาญา
การระดมทุน การเพิ่มทุน และนำเงินไปซื้อทรัพย์สินราคาสูงๆ โดยจ่ายเงินมัดจำไปจำนวนมากๆ อาจเป็นช่องทางการไซฟ่อนเงินได้ ถ้ามีข้อตกลงลับระหว่างเจ้าของทรัพย์สินกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนที่เข้าไปซื้อ โดยวางเงินมัดจำสูงๆ และปล่อยให้ถูกยึดเงินมัดจำ ก่อนจะแบ่งเงินมัดจำกันทีหลัง
และคณะกรรมการแบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้มีพฤตกรรมแปลกๆเสียด้วย โดยเป็นผู้ชำนาญการในการเพิ่มทุน เก่งในการซื้อทรัพย์สิน และที่น่าตังข้อสังเกตเป็นพิเศษคือ ชอบวางมัดจำวงเงินสูงๆในการซื้อทรัพย์สิน ทั้งที่ต้องรู้ดีกว่า ฐานะทางการเงินของบริษัทฯไม่ค่อยจะดี
และรู้อยู่แล้วว่า อีกไม่นานบริษัทจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่คณะกรรมการโพลาร์ยังร่วมกันมีมติ ซื้อที่ดินย่านพหลโยธิน และซื้อ A Day วางเงินมัดจำสองรายการวงเงิน 470 ล้านบาทเสียอีก
หุ้นในเครือข่ายหรือกลุ่มพันธมิตรโพลาร์ ช่วงนี้ถูกก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ “จับตาย”เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น นิว ส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ซึ่งเคยร่วมกันจะเข้าเทกโอเวอร์บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด(มหาชน)
และบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด(มหาชน) หรือหุ้นเอคิว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับนิวส์ เนื่องจาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอคิว เป็นรองประธานกรรมการ “นิวส์”
หุ้นเอคิว หุ้นนิวส์ และหุ้นโพลาร์ ไม่ได้เป็นเพียงหุ้นที่มีความสัมพันธ์เหมือนเครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ไม่ใช่หุ้นตัวจิ๋วที่พิษสงส์ร้ายกาจเหมือนกัน แต่ยังเป็นหุ้นที่มีพฤติกรรมชวนสงสัย เป็นหุ้นที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก
และกำลังถูกก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ เพ่งเล็งเป็นกรณีพิเศษเหมือนกันทั้ง 3 ตัวอีกด้วย
(อ่านตอบจบฉบับพรุ่งนี้)