สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่บุกคลัง ยื่นหนังสือเสนอลดภาษีนำเข้ารถยนต์ต่างประเทศเหลือ 30% จากเดิม 80% เชื่อช่วยแก้ปัญหาหลบเลี่ยงภาษี ฟาก ครม.เคาะเว้นภาษีหนุนห้างหุ้นส่วนสามัญ-คณะบุคคล จดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่ม
ที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2560 เวลา 10.30 น. นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง เพื่อขอเข้าพบ และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ โดยมีตัวแทน รมว.การคลังเป็นผู้รับหนังสือแทน
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 60 บริษัทได้มีข้อเสนอให้ รมว.การคลัง พิจารณาปรับรูปแบบภาษีนำเข้ารถยนต์ใหม่ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยให้สำแดงราคาตามความเป็นจริงในอัตราราคาสินค้า 100% ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาปลีกที่ปรากฏในเว็บไซต์ของผู้ผลิต โดยวิธีนี้จะแตกต่างจากปัจจุบันที่เก็บภาษีตามราคาซื้อขายที่ผู้ซื้อสินค้าได้ชำระจริง โดยมีส่วนลดจากค่าการตลาด ค่าภาษี ซึ่งมีความซับซ้อนในการสำแดงราคา จนเกิดปัญหาหลบเลี่ยงภาษีหรือสำแดงราคาไม่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังเสนอให้กระทรวงการคลัง เก็บอากรนำเข้าลดลงจาก 80% ของมูลค่ารถยนต์ เหลือ 30% ด้วย เพราะที่ผ่านมา ภาษีนำเข้ารถยนต์ของไทยสูงติดอันดับโลก เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น ส่วนการเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ยังคงเก็บได้ตามปกติ ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้การเก็บภาษีมีความชัดเจน ผู้นำเข้ารายกลาง รายย่อย สามารถแข่งขันกับรายใหญ่อย่างเป็นธรรม ตลอดจนลดปัญหาการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และการทุจริตการสำแดงภาษีได้
“ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีเก็บภาษีนำเข้ารถที่สูงมากซึ่งใช้มากว่า 30 ปีแล้ว เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศ จนทำให้ผู้นำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศต้องเสียภาษีเกินจริง และไม่สามารถแข่งขันทางการค้าได้ แต่หากปล่อยไปเช่นนี้ผู้นำเข้า และจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะอยู่ไม่ได้ และต้องเลิกกิจการไปในที่สุด เห็นได้จากขณะนี้ยอดนำเข้ารถยนต์ใหม่ลดลงจากเมื่อ 6-7 ปีก่อน เคยนำเข้าเกิน 5 พันคันต่อปี เหลือเพียง 4 พันคันเท่านั้น” นายสมศักดิ์ กล่าว
ด้าน นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ..... เพื่อขยายผลในการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล โดยขยายการส่งเสริมให้ห้างหุ้นส่วนสามัญ และคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล จากเดิมให้เพียงบุคคลธรรมดา ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนฯ และคณะบุคคล ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นการขยายผลการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคล อันจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงผลการประกอบการที่แท้จริง สร้างความโปร่งใส และเป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืนในระยะยาว