MGRออนไลน์ -- รถยนต์ที่ผลิตจากกลุ่มอาเซียน กำลังได้รับสิทธิประโยชน์ จากระบบภาษีในตลาดเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ 1 ม.ค.เป็นต้นมา รัฐบาลคอมมิวนิสต์ ได้ลดอากรนำเข้าลงอีก 10% จาก 40 เหลือเพียง 30 สำหรับรถยนต์ที่ผลิต/ประกอบ ในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ยอดสั่งซื้อพุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติกาล ในช่วงเดือนแรกของปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถนำเข้าจากไทย ซึ่งอยู่ใกล้มากที่สุด
เป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่ได้เห็นยอดสั่งซื้อรถยนต์มาสด้าจากไทย มากกว่าโตโยต้า ถึงแม้จะยังไม่สามารถเทียบเคียงยอดขายทั้งหมด ของค่ายใหญ่ได้ก็ตาม
ตามตัวเลขของกรมใหญ่สถิติ ตัวเลขนำเข้ารถยนต์อาเซียน ครึ่งแรกของเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา พุ่งขึ้นถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ปีที่แล้ว เป็นประมาณ 5,000 คัน รวมมูลค่า 116 ล้านดอลลาร์ นับเป็นประวัติกาลเลยทีเดียว ทั้งนี้เป็นตัวเลขที่ไม่ได้แยกแยะ ลงในรายละเอียดว่า นำเข้าจากต้นใดบ้าง และ แห่งละกี่คัน
ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ตั้งแต่ปีหน้านี้เป็นต้นไป รัฐบาลเวียดนามจะไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าใดๆ สำหรับรถยนต์อาเซียน ก็ยิ่งทำให้ตลาดรถในประเทศนี้ เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ท่ามกลางความเสียเปรียบ ของรถที่ประกอบในประเทศ ที่จะต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ในการแข่งขัน กับรถนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จากไทยและอินโดนีเซีย
ปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดรถยนต์ก็คือ ชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมคอมมิวนิสต์ คนกลุ่มนี้มีเงินใช้จ่ายมากขึ้น ในเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตสูงมาก และ เริ่มเปลี่ยนพาหนะจากรถจักรยานยนต์ มาเป็นรถยนต์ ประจวบเหมาะกับ การลดภาษีศุลกากรล่าสุด ซึ่งทำให้รถยนต์นั่งขนาดมิดไซ้ส์ ราคาถูกลงอีกโดยเฉลี่ยประมาณ 7% สื่อของทางการรายงาน
ราว 75% ของรถนั่งส่วนบุคคล ที่นำเข้าในช่วงต้นปีนี้ เป็นรถยนต์ขนาดมิดไซ้ส์ (เทียบเท่าโตโยตาคัมรี่ขึ้นไป) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างสูงในขณะนี้ และ ยังอาจช่วยบ่งชี้ว่า ชนชั้่นกลางแต่เดิม ที่ฐานรายได้ขยับขึ้นไปอีก เริ่มแสวงหารถยนต์สำหรับครอบครัวคันใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ในขณะเดียวกัน การนำเข้ารถยนต์ขนาด 7-9 ที่นั่ง ก็ยังมีอัตราเพิ่มสูง กล่าวคือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เป็นปะมาณ 3,000 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นรายงานของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส
เวียดนามนำเข้ารถยนต์จากหลากหลายต้นทาง เพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ ตัวเลขนำเข้ารวมในปี 2559 ลดลงเล็กน้อย เป็น 113,567 คัน เทียบกับปี 2558 ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 125,534 อันเป็นตัวเลขสูงที่สุด ซึ่งคิดเป็นอัตราเพิ่มถึง 77% หากเทียบ กับตัวเลขในปี 2557
ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมนี้กล่าวว่า ตัวเลขนำเข้าที่ลดลงเมื่อปีที่แล้ว น่าจะเป็นเพียงการปรับตัวของตลาด ที่หันไปอ้าแขนรับ รถยนต์จากประเทศไทยมากขึ้น ในขณะที่ยอดนำเข้ารถจากจีน เกาหลีและญี่ปุ่นลดลง อันเกิดจากความลังเลของผู้ค้า ที่เริ่มปรับทิศทางให้สอดรับการปรับราคาของรถในตลาด
.
2
ทั้งนี้ทั้งนั้น ยอดนำเข้าที่ลดลงเล็กน้อยเมื่อปีที่แล้ว ไม่ได้ส่งผลต่อยอดจำหน่ายรวมรถยนต์ทุกชนิดในปีเดียวกัน ซ้ำยังเป็นยอดจำหน่ายรถที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 7-8 ปี อีกด้วย
มาตรการทางด้านภาษี ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเวียดนาม ที่คาดหวังจะให้อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ในประเทศ เป็นหัวหอกสำคัญ ในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในที่สุดก็จะต้องเลิกเก็บอากรนำเข้าทั้งหมด เป็นไปตามความตกลงการค้า ASEAN Trade in Goods Agreement ระหว่าง 10 ชาติ
ตามตัวเลขของสมาคมผู้ประกอบรถยนต์เวียดนาม หรือ VAMA (Vietnam Automobile Manufacturers’ Association) เมื่อปีที่แล้ว ยอดขายรวมรถยนต์ทุกชนิดทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งหมด 304,427 คัน เป็นยอดจำหน่ายสูงสุด ในประวัติศาสตร์ เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2552
สำหรับโตโยต้า แม้จะเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล แต่ยอดขายรวมยังเป็นอันดับ 2 หากเทียบกับ ยอดจำหน่ายรถทุกชนิดของกลุ่มเจืองหาย (Truong Hai Auto) หรือ THACO ซึ่งทั้งประกอบรถใหม่ จดประกอบและซ่อมแซม เพื่อนำไปใช้ใหม่ เป็นรถยนต์หลากชนิดและยี่ห้อ ทั้งรถยนต์นั่ง รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รวมทั้งสิ้น 112,847 คัน หรือ 41.5% ของทั้งตลาด
โตโยต้ามาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอดขายรวม 57,036 คัน คิดเป็น 21% ติดตามด้วยรถฟอร์ดทุกชนิด ที่มีจำนวน 29,011 คัน หรือ 10.7% จำนวนที่เหลือเป็นรถยนต์นำเข้า ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปีในขณะนี้
ภายใต้ความตกลงการคาเสรีฯ ภาษีนำเข้ารถยนต์อาเซียนของเวียดนาม จะเป็น 0% ตั้งแต่ 1 ม.ค.2561 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้รถยนต์จากเพื่อนบ้าน ไหลบ่าเข้าไปมากกว่านี้อีกหลายเท่า
ปัจจุบันรถยนต์จากไทยได้ผงาดขึ้นครองอันดับ 1 ในตลาดรถรวมเวียดนาม สำหรับเดือนแรกของปีนี้ ยอดนำข้ารถยนต์มาสด้า ขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยโตโยต้ากับฟอร์ด สื่อของทางการรายงานเรื่องนี้ โดยไม่ได้จำแนกรายละเอียด เป็นรถประเภทใด รุ่นใดบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นโตโยต้ายังเป็น เจ้าตลาดรถยนต์นั่งในประเทศ ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งรุ่นที่ผลิตโดยโตโยต้าเวียดนาม และ รุ่นนำเข้าจากไทย ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด
ผู้ค้าในกรุงฮานอยบอกเวียดนามเอ็กซ์เพรสว่า ไม่เพียงแต่ทะยอยปรับลดอากรนำเข้า มาเป็นขั้นเป็นตอน และ จะปรับลงเหลือ 0% ในปีหน้า เวียดนามยังจะต้องปรับลดภาษีอื่นๆ ที่เก็บจากรถยนต์อาเซียนอีกด้วย ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอุปโภคพิเศษ ที่ล้วนแต่จะช่วยผลักดันยอดนำเข้า รถยนต์จากประเทศเพื่อนบ้านทั้งสิ้น.