xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กแคปตัวใหม่ BPP เข้าเทรด 28 ต.ค.นี้ ด้วยมูลค่าไอพีโอ 6.4 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตลท.เผยหุ้น BPP เริ่มซื้อขายใน SET วันที่ 28 ต.ค.นี้ ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ IPO ที่ 63,959 ล้านบาท ผู้บริหารมั่นใจจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนให้กับกลุ่มบริษัท

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) จะเข้าจดทะเบียน และเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มอุตสาหกรรมทรัพยากร หมวดธุรกิจพลังงาน และสาธารณูปโภค ในวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO คิดเป็นมูลค่า 63,959 ล้านบาท

กลุ่ม BPP ดำเนินธุรกิจผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าในหลายประเทศ โดยมีการลงทุนทั้งในโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ BPP เป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บ้านปู (BANPU) ที่เกิดจากการปรับโครงสร้าง โดยแยกกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าออกมา เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไฟฟ้าในอนาคตของกลุ่ม BANPU โดย BANPU เห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจ จึงนำ BPP เข้าจดทะเบียน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจในระยะยาวของ BPP และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่กลุ่ม BANPU

ปัจจุบัน BPP มีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วรวมจำนวนทั้งสิ้น 1,913 เมกะวัตต์เทียบเท่า แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้า จำนวน 1,711.2 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ จำนวน 813 ตันต่อชั่วโมง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า จำนวน 56.6 เมกะวัตต์

BPP มีทุนชำระแล้ว 30,456.92 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 2,397.19 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 648.49 ล้านหุ้น โดยจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นของ BANPU เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น 210 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 10-13 ตุลาคม 2559 และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนต่อบุคคลทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน 438.49 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 21 บาท เมื่อวันที่ 18-20 ตุลาคม 2559 มีมูลค่าการระดมทุนรวม 13,618.34 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 63,959 ล้านบาท โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะ ควอนท์ กรุ๊ป จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย

นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BPP เปิดเผยว่า การนำหุ้นสามัญของบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านเงินทุนให้กับกลุ่มบริษัท โดยมีแผนนำเงินที่ระดมทุนได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ไปชำระคืนเงินกู้ยืม และใช้ขยายธุรกิจไฟฟ้าทั้งใน และต่างประเทศ สอดรับกับพันธกิจของบริษัทฯ ที่มุ่งขยายการผลิตไฟฟ้าจากทั้ง Conventional Energy และ Renewable Energy ที่กระจายครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชีย อย่างสมดุล ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายกำลังการผลิตให้ได้ถึง 4,300 เมกะวัตต์เทียบเท่า ภายในปี 2568 และพร้อมสร้างคุณค่าให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อไปอย่างยั่งยืน

หลังจาก IPO แล้ว BPP มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 ลำดับแรก ได้แก่ บมจ.บ้านปู (BANPU) ถือหุ้น 78.71% Credit Suisse (Singapore) Limited ถือหุ้น 5.35% และกลุ่มครอบครัวว่องกุศลกิจ ถือหุ้น 0.91%

การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO มาจากการสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์ (Book building) ของนักลงทุนสถาบัน โดยช่วงราคาที่นำมาใช้นี้อยู่ที่ระหว่างราคา 18-21 บาทต่อหุ้น คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ระหว่าง 13.72-16.01 เท่า โดยคำนวณจากผลกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสที่ผ่านมา (1 กรกฎาคม 2558-30 มิถุนายน 2559) ซึ่งมีกำไรสุทธิเท่ากับ 3,996 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted)

ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิของงบการเงินรวมหลังหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมาย และบริษัทฯ กำหนด


กำลังโหลดความคิดเห็น