xs
xsm
sm
md
lg

บีซีพีจี กำหนดช่วงราคาหุ้นละ 9.8-10.0 บาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บีซีพีจี กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้น IPO เบื้องต้นที่หุ้นละ 9.8-10.0 บาท คาดว่าจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของ BCP เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น และนักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นในวันที่ 14-16 และ 19-20 กันยายน 2559 และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในเดือนกันยายนนี้ ตั้ง บล.กสิกรไทย บล.ทิสโก้ และ บล.ฟินันซ่า เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย 



วันนี้ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ผู้ผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ โดยแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย และแต่งตั้งบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคทีซีมิโก้ จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ BCPG ครั้งนี้

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้กำหนดช่วงราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ BCPG เบื้องต้นที่ราคาหุ้นละ 9.8-10.0 บาท ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของ BCP เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้น และนักลงทุนทั่วไปจองซื้อหุ้นในวันที่ 14-16 และ 19-20 กันยายน 2559 และเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ภายในเดือนกันยายนนี้
 
นายกิตติพงษ์ เลิศวนางกูร กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า BCPG จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 590 ล้านหุ้น หรือร้อยละ 29.6 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมด ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ทั้งนี้ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในครั้งนี้ BCPG จะมีทุนชำระแล้วทั้งสิน 9,950 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาท
 
ทั้งนี้ การจัดสรรหุ้น IPO ของ BCPG ได้จัดสรรให้แก่ (1) ผู้ถือหุ้นของ บมจ.บางจากปิโตรเลียม หรือ BCP เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นจำนวนไม่เกิน 68.85 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 11.69 ของจำนวนหุ้น IPO และ (2) ส่วนที่เหลือจะจัดสรรให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยหากมีหุ้นเหลือจากการจัดสรร และเสนอขายในส่วนที่ (1) BCPG จะนำหุ้นที่เหลือดังกล่าวทั้งหมดไปรวมจัดสรรเพื่อเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปตามส่วนที่ (2)

นายพิธาดา วัชรศิริธรรม กรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า BCPG เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งจากการลงทุนเอง และการลงทุนผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อย ทั้งนี้BCPG มีแผนนำเงินที่ระดมทุนได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ไปใช้ขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ BCPG มีเป้าหมายการลงทุนในการรุกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกที่ชัดเจน ตลอดจนศักยภาพความพร้อมด้านบุคลากร ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทย และญี่ปุ่น ที่สามารถผลักดันผลการดำเนินงานเติบโตได้ต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายการจ่ายปันผลที่กำหนดจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ จะทำให้นักลงทุนมั่นใจในศักยภาพการดำเนินงานของ BCPG และให้ความสนใจจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCPG กล่าวว่า BCPG เป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม บมจ.บางจากปิโตรเลียม ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของกลุ่ม บมจ.บางจากปิโตรเลียม โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา BCPG ได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก บมจ.บางจากปิโตรเลียม กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 118 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด หลังจากนั้น จึงเริ่มขยายธุรกิจโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
 
ทั้งนี้ BCPG มีเป้าหมายที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมเป็น 1,000 MW ภายในปี 2563 ผ่านนโยบายการลงทุนในรูปแบบที่เปิดกว้าง เพื่อสร้างสรรค์พลังงานหมุนเวียนรูปแบบใหม่ๆ ให้แก่โลก ทั้งการลงทุนผ่านบริษัทย่อยทั้งหมด หรือร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือเข้าซื้อกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรืออยู่ระหว่างการพัฒนา
 

ปัจจุบัน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญา รวมทั้งสิ้น 130 MW แบ่งเป็น โครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 118 MW และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 12 MW และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมประมาณ 194 MW แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมประมาณ 20 MW และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมประมาณ 174 MW

“เรามีเป้าหมายธุรกิจเป็นผู้ผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับสากล โดยร่วมกับองค์กรหรือพันธมิตรทั้งใน และต่างประเทศ เพื่อร่วมกันพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ และลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่างๆ ทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืน” นายบัณฑิต กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น