xs
xsm
sm
md
lg

สหกลอิควิปเมนท์ แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สหกลอิควิปเมนท์ เตรียมขายไอพีโอ 380 ล้านหุ้น พร้อมตั้ง บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ระดมทุนรองรับการขยายกิจการ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน

นายศาศวัต ศิริสรรพ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหกลอิควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SQ เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนจะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวนไม่เกิน 380 ล้านหุ้น คิดเป็น 33.63% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) 1 บาทต่อหุ้น และบริษัทฯ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี และหักสำรองตามกฎหมายในการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน

นายประเสริฐ ตันตยาวิทย์ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัท หลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงิน SQ กล่าวว่า บมจ.สหกลอิควิปเมนท์ หรือ SQ เป็นผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์ในการให้บริการ และดำเนินงานด้านการทำเหมืองแร่อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนงานในเหมือง การเปิดหน้าเหมือง การให้คำปรึกษาด้านงานเหมือง รวมถึงการให้เช่าเครื่องจักรขนาดใหญ่ อาจกล่าวได้ว่า เป็นบริษัทฯ เดียวในประเทศไทยที่ประกอบธุรกิจด้านงานเหมืองเพียงรายเดียว และมีสายสัมพันธ์อันดีกับเจ้าของโครงการ คู่ค้า อีกทั้งธุรกิจเหมืองแร่มีคู่แข่งน้อยราย เนื่องจากต้องมีความพร้อมด้านเครื่องมือ บุคลากรที่มีความชำนาญ รวมถึงฐานเงินทุนอันแข็งแกร่ง เพราะต้องใช้เงินลงทุนสูงในระยะเริ่มต้นโครงการ นับเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็เพื่อรองรับการขยายงานไปลงทุนด้านเหมืองแร่ในต่างประเทศ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน

โดยกลุ่มบริษัทสหกล รวมถึงบริษัทฯ ในเครือเป็นผู้ประกอบการไทยรายแรกที่ให้บริการงานขุด-ขนดิน และถ่านหิน โครงการเหมืองแม่เมาะ ให้กับโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ของการฝ่ายไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) หรือ กฟผ. มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2526 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 30 ปี มูลค่างานรวมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท จุดแข็งของบริษัทฯ คือ การที่เราเป็นผู้รับเหมาเฉพาะด้าน ซึ่งตลอดระยะเวลาสามสิบกว่าปีมานี้ บริษัทฯ รับเหมางานเหมืองเพียงอย่างเดียว แตกต่างจากบริษัทฯ รับเหมาก่อสร้างอื่นๆ เนื่องจากเราเล็งเห็นว่า ธุรกิจรับเหมางานเหมืองนั้นมีอายุโครงการในแต่ละสัญญายาวนานต่อเนื่อง 9-12 ปี มีผลประกอบการที่มั่นคง และมีกำไรสม่ำเสมอ ทำให้บริษัทฯ ลดความเสี่ยงในการประมูลงานก่อสร้างประเภทอื่น ที่มีอายุโครงการสั้น และมีความเสี่ยงด้านรายได้ นอกจากนี้ ธุรกิจรับเหมางานเหมืองมีคู่แข่งน้อยราย อีกทั้งผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแข่งขัน ต้องมีความพร้อมด้านเงินทุน องค์ความรู้ (knowhow) และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านงานเหมือง ซึ่งต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์หลายสิบปี นอกจากนี้ เรายังมีเครื่องจักรสำหรับใช้เปิดหน้าดินที่เป็นผลงานออกแบบของบริษัทฯ

“ปัจจุบัน บริษัทฯ รับเหมางานเหมืองถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ โดยให้บริการงานขุด-ขนดิน และถ่านหิน ณ เหมืองถ่านหินแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง รวม 2 โครงการ ได้แก่ โครงการเหมืองแม่เมาะ โครงการที่ 7 ระยะเวลาดำเนินงาน 9 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2563 มูลค่าโครงการในความรับผิดชอบของบริษัทฯ 10,953 ล้านบาท, โครงการเหมืองแม่เมาะ โครงการที่ 8 ระยะเวลาดำเนินงาน 10 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2568 มูลค่าโครงการรวม 22,871 ล้านบาท และโครงการเหมืองหงสา ภายใต้บริษัท หงสาเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 1,878 เมกะวัตต์ ที่เมืองหงสา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558-2569 ระยะเวลาดำเนินงาน 11 ปี มูลค่าโครงการรวม 11,743 ล้านบาท เมื่อนับรวมทั้ง 3 โครงการ บริษัทฯ จะมีปริมาณงานในมือรวม 38,000 ล้านบาท”

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสแรกของปี 2559 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการรับจ้างขุด-ขนดิน และถ่านหิน 681 ล้านบาท กำไรสุทธิ 71 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาสแรกของปี 2558 บริษัทฯ มีรายได้ 415 ล้านบาท กำไรสุทธิ 20 ล้านบาท ด้านผลประกอบการปี 2558 ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการทั้งสิ้น 1,868 ล้านบาท กำไรสุทธิ 82 ล้านบาท ส่วนปี 2557 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,614 ล้านบาท กำไรสุทธิ 49 ล้านบาท

ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทฯ มาจากงาน 2 ส่วน คือ งานขุดดินเพื่อเปิดหน้าเหมือง โดยทางผู้ว่าจ้างจะวัดจำนวนดินที่ทางบริษัทฯ ขุดได้ว่ามีจำนวนกี่ลูกบาศก์เมตรแน่น เพื่อนำมาคำนวณรายได้ ส่วนที่สอง คือ งานขนถ่านหินให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ซึ่งวัดปริมาณถ่านเป็นจำนวนตัน เพื่อนำมาคำนวณรายได้”

นายศาศวัต กล่าวทิ้งท้ายว่า “แม้บริษัทฯ จะมีปริมาณงานในมือกว่า 3 หมื่นล้านบาท และอายุแต่ละโครงการยาวนานถึง 10 ปี แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่หยุดนิ่งที่จะแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างรายได้ ด้วยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญด้านงานเหมือง รวมถึงความพร้อมด้านบุคลากร และเครื่องจักร บริษัทฯ มีแผนที่จะไปลงทุนด้านงานเหมืองในต่างประเทศ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองเห็นโอกาสในธุรกิจพลังงานทางเลือก จึงได้ร่วมลงทุนถือหุ้นร้อยละ 15 ในบริษัท ทริปเปิ้ล เอส อีโค่ จำกัด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของพลังงานทางเลือก”


กำลังโหลดความคิดเห็น