ทริสเรทติ้ง ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG เป็นระดับ “BBB” จากเดิม “BBB+” ขณะเดียวกัน ยังปรับเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Negative” หรือ “ลบ” จากเดิม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลประกอบการ และสถานะทางการเงินของบริษัทที่อ่อนแอลงจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจทีวีดิจิตอล และแนวโน้มที่ถดถอยลงของธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์ อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงชื่อเสียง และสถานะในการเป็นผู้นำธุรกิจด้านสื่อของบริษัท ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิตที่ปรับเปลี่ยนเป็น “Negative” ก็สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้ง ที่เห็นว่า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงอ่อนแออยู่ในระยะสั้น
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของบริษัทอาจปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว หากบริษัทสามารถปรับแผนธุรกิจให้เกิดรายรับจากช่องทางสื่อออนไลน์ได้มากขึ้น หรือหากบริษัทสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิตอลให้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี พัฒนาการในเชิงบวกดังกล่าวอาจใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้
แนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงแรงกดดันในการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอล และสื่อหนังสือพิมพ์ อันดับเครดิตของบริษัทมีโอกาสที่จะถูกปรับลดลงในกรณีที่บริษัทยังคงประสบผลขาดทุนจากการดำเนินงาน และฐานะการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตมีโอกาสที่จะถูกปรับเพิ่มขึ้น หากบริษัทมีผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดหมาย และมีเงินทุนจากการดำเนินงานเพิ่มสูงขึ้นจากระดับปัจจุบันเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้สภาพคล่องของบริษัทปรับตัวดีขึ้น
บริษัทเนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “เนชั่นกรุ๊ป” เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านสื่อในระดับแนวหน้าของไทย โดย ณ เดือนพฤษภาคม 2559 ผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทประกอบด้วย บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (9.96%) Digital Sky Holdings Ltd. (9.64%) นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร (8.60%) และ บริษัทยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) (8.15%) ธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ สาระบันเทิง การศึกษา การพิมพ์ และขนส่ง ธุรกิจหลักของบริษัท ได้แก่ ธุรกิจสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ และธุรกิจสื่อหนังสือพิมพ์ ซึ่งสร้างรายได้ 44% และ 43% ของรายได้รวมของบริษัทตามลำดับในปี 2558
ขณะที่รายได้หลักของบริษัทมาจากค่าโฆษณา ซึ่งจะแปรผันไปตามภาวะเศรษฐกิจ ข้อมูลของสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ระบุว่า งบโฆษณารวมในสื่อทุกประเภท เพิ่มขึ้น 3.3% ในปี 2558 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการดำเนินงานเต็มปีของสื่อทีวีดิจิตอล อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 งบโฆษณารวมในสื่อทุกประเภท ลดลง 6% โดยอยู่ที่ 7.69 หมื่นล้านบาท ซึ่งสะท้อนถึงการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขณะที่งบโฆษณาผ่านสื่อทีวีดิจิตอล เพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนงบโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ ลดลง 17.9% ซึ่งสะท้อนถึงความนิยมในสื่อหนังสือพิมพ์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปี 2558 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% เป็น 3,015 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการดำเนินงานเต็มปีของธุรกิจทีวีดิจิตอลทั้ง 2 ช่องของบริษัท สำหรับครึ่งแรกของปี 2559 ผลประกอบการของบริษัทถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายด้านงบโฆษณาที่ชะลอตัว การลดลงอย่างต่อเนื่องของสื่อหนังสือพิมพ์ และผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่คาดของธุรกิจทีวีดิจิตอล ทำให้รายได้ของบริษัทลดลง 21% มาอยู่ที่ 1,138 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยรายได้จากธุรกิจหนังสือพิมพ์ ลดลง 21% มาอยู่ที่ 512 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากธุรกิจทีวีดิจิตอล ลดลง 24% มาอยู่ที่ 439 ล้านบาท รายได้ที่ลดลงทำให้บริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 342 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2559 ทั้งนี้ ผลขาดทุนดังกล่าวรวมรายการตั้งสำรองค่าเผื่อมูลค่าสินค้าที่ลดลง และตัดจำหน่ายลิขสิทธิ์สําหรับสิ่งพิมพ์ จำนวน 193 ล้านบาท และต้นทุนทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิตอล จำนวน 45 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการปรับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่
ขณะที่ในอนาคต ทริสเรทติ้ง คาดว่า รายได้ของบริษัทจากธุรกิจหนังสือพิมพ์จะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยปีละ 7-9% สาเหตุจากความนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปสู่สื่อออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การลดลงดังกล่าว คาดว่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากรายได้ของสื่อออนไลน์ของบริษัท ส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจทีวีดิจิตอลนั้น คาดว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันทั้งจากผู้ประกอบการรายอื่น และจากสื่อวิดีโอออนดีมานด์ (Video-on-demand) ที่สะท้อนถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ปัจจัยดังกล่าวส่งผลทำให้อัตราค่าโฆษณาในธุรกิจทีวีดิจิตอลต่ำกว่าที่คาด มีการคาดการณ์กันในอุตสาหกรรมว่า อาจมีผู้ประกอบการบางรายที่ไม่อาจแบกรับภาระขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลได้ และอาจต้องหยุดดำเนินการ ซึ่งจะช่วยลดระดับการแข่งขันได้บางส่วน อย่างไรก็ดี คุณภาพของรายการถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะดึงดูดผู้ชม และรายได้ค่าโฆษณา ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้ง คาดว่า บริษัทจะยังมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานต่อไปในปี 2559-2560 จากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจทีวีดิจิตอล และการลดลงอย่างต่อเนื่องของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์
อย่างไรก็ตาม หากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น หรือบริษัทสามารถพัฒนา หรือจัดหารายการทีวีที่เพิ่มฐานผู้ชม และสร้างรายได้ในธุรกิจทีวีดิจิตอลได้ ผลการดำเนินงานของบริษัทก็คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นหลังปี 2560 จากการรายงานของ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด แสดงให้เห็นว่า เรทติ้ง และฐานผู้ชมของช่อง NOW ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 หลังจากที่บริษัทปรับตัวเป็นช่องรายการสารคดี ทริสเรทติ้ง คาดหวังว่า บริษัทจะได้รับอัตราค่าโฆษณาที่สูงขึ้นจากฐานผู้ชมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทริสเรทติ้ง ยังคาดหวังว่า บริษัทจะยังคงสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขัน และสร้างรายได้จากช่อง Nation TV ได้ต่อไป ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทน่าจะเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าต้นทุน ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ในระดับ 14-16% ในช่วงระหว่างปี 2561-2562 และคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 250-400 ล้านบาทต่อปี ในช่วงปี 2560-2562
นอกจากนี้ โครงสร้างเงินทุน และสภาพคล่องของบริษัทอ่อนตัวลงจากผลประกอบการที่อ่อนแอ ทริสเรทติ้ง พิจารณาภาระผูกพันของบริษัทที่จะต้องชำระค่าใบอนุญาตประกอบการทีวีดิจิตอลเป็นภาระหนี้ เมื่อสุทธิกับเงินสดในมือแล้ว อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงจาก 29.64% ณ สิ้นปี 2558 มาอยู่ที่ 36.88% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 ในขณะที่ผลขาดทุนจากการดำเนินงานส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมของบริษัทอ่อนแอลงจาก 26.62% ในปี 2558 เป็นระดับ -13.85% (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี โดยใช้ข้อมูล 12 เดือนย้อนหลัง) สำหรับครึ่งแรกของปี 2559
อย่างไรก็ตาม ในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า คาดว่าสภาพคล่องของบริษัทจะอยู่ในภาวะตึงตัวจากผลประกอบการที่อ่อนแอ แหล่งเงินทุนของบริษัท คาดว่าจะมาจากเงินทุนจากการดำเนินงาน จำนวน 180-250 ล้านบาท และจากเงินสด และเทียบเท่าเงินสด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2559 อีกจำนวน 741 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแผนใช้จ่ายอันประกอบไปด้วยการลงทุน ซึ่งรวมการซื้อลิขสิทธิ์รายการประมาณ 130-200 ล้านบาท ค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 648 ล้านบาท และชำระหนี้ที่จะครบกำหนด จำนวน 620-680 ล้านบาท ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะต้องมีการก่อหนี้เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัท คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 40%-45%
*** บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG)
อันดับเครดิตองค์กร : BBB
แนวโน้มอันดับเครดิต : Negative