xs
xsm
sm
md
lg

แนะลดค่าครองชีพกระตุ้นการบริโภค รบ.เตรียมเข็นมาตรการกระตุ้น ศก.ชุดใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ออมสิน” เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก เดือน มิ.ย. มีสัญญาณดีขึ้น แต่การบริโภคชาวบ้านยังไม่ฟื้น วอนรัฐบาลช่วยลดค่าครองชีพ ด้านรองนายกฯ กำชับคลังเตรียมมาตรการฟื้นเศรษฐกิจชุดใหม่ เน้นช่วยเหลือประชาชน พร้อมเดินหน้าโมเดลเห็บสยาม ดันไทยผงาดในเวทีโลก

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ประจำเดือนมิถุนายน 2559 พบว่า GSI เดือนมิถุนายน 2559 ส่งสัญญาณดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 46.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ที่อยู่ระดับ 43.6 เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย ช่วยบรรเทาความกังวลในเรื่องรายได้ อีกทั้งระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลง ขณะเดียวกัน ประชาชนระดับฐานรากรู้สึกว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันฟื้นตัวค่อนข้างช้า และกังวลปัญหาค่าครองชีพ และราคาสินค้าที่ทรงตัวในระดับสูง รวมถึงกรณีอังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ใน 6 เดือนข้างหน้าเพิ่มจากระดับ 44.2 ในเดือนพฤษภาคม มาอยู่ที่ระดับ 48.4 ในเดือนมิถุนายน 2559 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของประชาชนยังคงขึ้นอยู่กับทิศทางการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังว่ารัฐบาลจะเน้นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง”

ขณะที่การบริโภคของประชาชนระดับฐานรากยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนัก เพราะวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคน่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ถ้าเศรษฐกิจคลี่คลาย ประสิทธิภาพการใช้จ่าย และลงทุนของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวขึ้นเป็นรูปธรรม ทิศทางของความเชื่อมั่นของประชาชนระดับฐานรากยังคงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจที่จะส่งผลให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น

ส่วนความพึงพอใจในสถานภาพความเป็นอยู่ในประเด็นต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่พอใจกับสถานภาพความเป็นอยู่ของตน จะมีเพียงบางประเด็นที่รู้สึกว่าไม่พอใจสูงกว่าประเด็นอื่น คือ เรื่องค่าใช้จ่าย รายได้ และการออม โดยมีความเห็นว่า เศรษฐกิจไม่ดีทำงานหนัก แต่มีรายได้น้อย ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้า และบริการสูงขึ้น อีกทั้งมีหนี้สิน จึงทำให้เงินเหลือใช้น้อย นอกจากนี้ ประชาชนระดับฐานรากบางส่วนต้องนำเงินออมออกมาใช้ทำให้เงินออมลดลง

สำหรับปัญหาที่ประสบอยู่ส่วนใหญ่ คือ เรื่องของรายได้ และหนี้สินเป็นหลัก สิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยแก้ไข 3 อันดับแรก คือ เพิ่มมาตรการลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ

ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ประชุมติดตามความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมนโยบาย E-Payment ของรัฐบาล เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) โดยกำชับในที่ประชุมให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประสานคณะรัฐมนตรี และสื่อมวลชนลงทะเบียนพร้อมเพย์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และเดินหน้าประชาสัมพันธ์ระบบพร้อมเพย์ของรัฐบาลเร่งมาลงทะเบียน ยืนยันว่า พร้อมเพย์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการรั่วไหล และผู้ประกอบการยังสามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ การให้สวัสดิการแก่ประชาชนง่ายขึ้น

นอกจากนี้ ยังเชิญชวนผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนผ่าน 3 แบงก์รัฐ ทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย หลังจากที่ผ่านมา มีการลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการทั้งสิ้นเกือบ 2 ล้านราย คาดว่าระบบทั้งหมดพร้อมใช้งานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จึงสั่งการให้กระทรวงการคลังเตรียมระบบสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้พร้อม จึงอยากให้ประชาชนเร่งเข้ามาลงทะเบียนก่อนครบกำหนดวันที่ 15 สิงหาคม 2559

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ระบบพร้อมเพย์เริ่มใช้ได้เดือนตุลาคม ทั้งโอนเงินของบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล กระทรวงคมนาคม แจ้งที่ประชุมว่า ช่วงปลายเดือนกันยายนระบบตั๋วร่วมจะเสร็จ จึงเตรียมแจกการ์ดให้ผู้มีรายได้น้อยแตะกับเครื่องอ่านบัตรทั้งรถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จึงต้องติดตั้งเครื่องอ่าน โดยนำข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยมาเชื่อมข้อมูลกับกระทรวงคมนาคม

สำหรับเบี้ยงยังชีพคนชรา จะส่งเบี้ยเพิ่มสำหรับคนลงทะเบียนโดยไม่รื้อระบบเดิม เพราะดำเนินการมาแล้ว 8-9 ล้านคน ตลอดจนเด็กแรกเกิดในครอบครัวผู้ลงทะเบียนต้องจัดสรรเพิ่ม จึงต้องจัดสรรสวัสดิการเพิ่มให้ชัดเจน สำหรับเครื่องรูดบัตร EDC ร้านค้าขนาดเล็กหลายแสนเครื่อง เตรียมยกเว้นภาษีการนำเข้าเครื่อง EDC และเพิ่มแรงจูงใจในการใช้เงินผ่านบัตร คาดว่าจะสรุปได้เดือนกันยายน ส่วนการรับจ่ายเงินภาครัฐ ของส่วนราชการจะครบถ้วนทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้หารือกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ศึกษามาตรการรองรับเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ซึ่งกำลังขยายตัวได้ดี โดยแบ่งการดูแล 4 กลุ่มงาน ประกอบด้วย กลุ่มงานที่ 1 ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเข้มแข็ง กลุ่มงานที่ 2 การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน กลุ่มงานที่ 3 สร้างความโปร่งใส เพิ่มหลักธรรมาภิบาล และกลุ่มงานที่ 4 คือ การดูแลภาคสังคม จึงต้องการให้กระทรวงการคลังเร่งปฏิรูปหลายด้าน โดยเฉพาะการให้การช่วยเหลือคนยากจน ขณะที่โครงการของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ต้องการเร่งรัดผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหลายโครงการ จึงต้องการผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการ PPP และเร่งรัดจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย “กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์” ภายในปลายไตรมาส 3-4 ปีนี้

สำหรับการส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ รัฐบาลต้องการผลักดันการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด อีโคคาร์ ต้องการสนับสนุนไปพร้อมๆ กัน เพียงแต่ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเท่านั้น เพื่อให้เป็นรถยนต์เสียบปลั๊ก หวังให้ทันแสโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า ส่วนรถยนต์ไฮบริด ต้องการให้เอกชนเข้ามาลงทุน จึงมอบหมายให้กรมสรรพากรศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี เพื่อจูงใจในการลงทุน ส่วนกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติ เนื่องจากไทยเป็นประเทศน่าสนใจในการลงทุน หลังเกิดปัญหา Brexit อังกฤษออกจากอียู ทำให้เงินไหลเข้ามาตลาดเอเชียจำนวนมาก ประกอบกับไทยมีพื้นฐานเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มั่นใจว่าเงินที่ไหลเข้า ธปท.จะดูแลอัตราแลกเปลี่ยนได้

ส่วนกรณี “โมเดลเห็บสยาม” นั้น ยืนยันว่า ไทยเปรียบเสมือนเสือซุ่ม แต่ในยามที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว จึงขอสร้างความเข้มแข็งจากภายใน เพื่อพร้อมลงทุนในอนาคต พร้อมทะยานสู่เวทีโลกเมื่อมีความพร้อม ขณะนี้จึงขอลับเขี้ยวเล็บให้คมก่อนออกไปสยายปีกในเวทีโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น