“ธปท.” คาดหลังได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ช่วยหนุนเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้น พร้อมมองเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ต่อไปจะเติบโตได้ตามศักยภาพ เตรียมนำข้อมูลรอบด้านเข้าที่ประชุม กนง. ครั้งหน้า เพื่อปรับเป้าประมาณการเศรษฐกิจปี 2557 ใหม่อีกครั้ง แนะ รบ.ใหม่ เร่งขับเคลื่อน ศก. พร้อมส่งสัญญาณอัตรา ดบ. ตลาดยังมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง ชี้หากทิศทาง ดบ. จะเป็นขาขึ้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก เพราะต้น ดบ. ในภาคธุรกิจมีสัดส่วนไม่มาก
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากได้ว่าที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เชื่อมั่นว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นไปตามโรดแมปที่นักลงทุนที่มีการคาดการณ์เอาไว้แล้วล่วงหน้า หลังจากนี้ไปนักลงทุนต่างๆ คงมีความคาดหวัง และอยากเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการปฏิรูปอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ ก.ค.57-มิ.ย.58 จะเริ่มเห็นเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ตามศักยภาพ
“ช่วงนี้เรามีการพบนักลงทุนโดยพยายามให้เขาเข้าใจว่า พื้นฐานเศรษฐกิจเราไม่ได้ถูกกระทบ และคงต้องติดตามเนื้อหาการพัฒนาการว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ในช่วงครึ่งแรกที่ผ่านมามันออกมาไม่ดี แต่หลังจากนี้ คือ นับตั้งแต่เดือน ก.ค.57-มิ.ย.58 เชื่อว่าเศรษฐกิจจะโตตามศักยภาพอย่างแน่นอน” นายจิรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/57 เติบโตที่ระดับ 0.4% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากไตรมาส 1/57 ที่ติดลบ 0.5% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกติดลบ 0.1% นั้น ยืนยันว่าจะนำปัจจัยดังกล่าว รวมถึงปัจจัยด้านอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 26 ก.ย.นี้
“เราคงนำทุกปัจจัยทั้งในช่วงที่ผ่านมา และสถานการณ์ล่าสุดเข้าที่ประชุมทั้งหมด ในการพิจารณาจีดีพีในเดือน ก.ย.นี้ ถ้าถามว่าห่วงเรื่องไหนเป็นพิเศษ ต้องยืนยันว่าเราต้องประเมินทุกเรื่อง คงต้องดูทั้งหมดอย่างแน่นอน” นายจิรเทพ กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะประชุมครั้งถัดไปวันที่ 17 กันยายน 2557 ซึ่งเป็นครั้งที่ 6 ของปีนี้ และในวันที่ 26 กันยายน 2557 จะแถลงรายงานนโยบายการเงิน
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยากจากนี้ไปคือ การที่คนจะคาดหวังใน 1 ปีจากนี้ไปหลังจากเริ่มมีรัฐบาลใหม่ว่าจะมีการดำเนินนโยบายได้ตามโรดแมปที่วางไว้หรือไม่ และให้ความสำคัญต่อการจัดลำดับโครงการที่จะต้องทำก่อนหลังอย่างไร
ส่วนแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินนั้น โฆษก ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้การผ่อนคลายนโยบายการเงินอยู่ในระดับที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และยังไม่เห็นปัญหาในเรื่องของเสถียรภาพ ซึ่งหากมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากไปอาจจะกระทบต่อการก่อหนี้ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และกระทบต่อการออมด้วย
โดยขณะนี้คงยังไม่สามารถฟันธงได้ชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เร็วกว่ากำหนดเดิมที่คาดไว้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 58 หรือไม่ แม้ขณะนี้ตลาดจะมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มปรับตัวดีขึ้น และคาดการณ์ไปว่า เฟดน่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วกว่ากำหนด เนื่องจากยังมีประเด็นที่จะต้องจับตาในเรื่องของตลาดแรงงาน รวมทั้งต้องถ้อยแถลงของประธานเฟดในคืนนี้ด้วย
ดังนั้น เรื่องอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้จึงมองว่าตลาดยังมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ทั้ง 2 ทิศทาง ซึ่งขึ้นกับในแต่ละช่วงเวลาว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะออกมาดี หรือแย่กว่าที่คาด เพราะฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้วย ขณะที่ในระยะต่อไปต้องติดตามดูเรื่องตลาดที่อยู่อาศัยว่าตัวเลขที่ออกมาจะมีผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นเร็วกว่าที่เฟดกำหนดไว้หรือไม่
อย่างไรก็ดี มองว่าหากทิศทางดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นก็เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก เพราะต้นทุนดอกเบี้ยในภาคธุรกิจมีสัดส่วนไม่มาก