xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. ชี้สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังสมดุล จับตาโฉมหน้า ครม. และการประชุม 26 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท. ชี้สถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังสมดุล แนะจับตาตัวเลข ศก.สหรัฐฯ และการปรับขึ้น ดบ. ของเฟด ส่วนกรณีที่มีโฉมหน้า ครม. ออกมานั้น จะสร้างความเชื่อมั่นต่อภาพรวม ศก. และส่งผลดีต่อการขยายตัวของ “จีดีพี” ในปีนี้ หรือไม่นั้น มองว่าประเด็นดังกล่าวคงจะมีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุม 26 ก.ย.นี้ ซึ่งอาจมีการปรับประมาณการ ศก. พร้อมติดตามสถานการณ์อีโบล่า

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เดือน ก.ย.นี้ จะมีการทบทวนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โดยรวมสมมติฐานการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนปี 2557-2558 กว่า 1 แสนล้านบาท ที่ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าไปด้วย ซึ่งการลงทุนของภาครัฐจะเป็นกลไกหลักในช่วงที่การบริโภคภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และส่งผลต่อแผนการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไปอย่างชัดเจนมากขึ้น

ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลของ ธปท.ที่พบว่า การลงทุนยังคงมีสัดส่วนประมาณ 22% ของจีดีพี แบ่งเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน 17% และภาครัฐเพียง 5% นั้น ซึ่งหากต้องการให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้โดยเฉลี่ย 4.5-5% ต่อปี จำเป็นต้องมีการเพิ่มเม็ดเงินลงทุนเป็นสัดส่วน 25-27% ของจีดีพี ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพราะต้องดูปัจจัยเรื่องระยะเวลาของการลงทุน และความเป็นไปได้ในการลงทุนจริงประกอบด้วย

ส่วนภาวะอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในปัจจุบัน พบว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ติดวันหยุดราชการหลายวัน เมื่อเปิดทำการทำให้ตลาดเริ่มมีการปรับตัว 2.ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงกว่าที่คาด และ 3.การลงทุนโดยตรง (FDI) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น สะท้อนจากความเชื่อมั่นนักลงทุนที่อยู่ในระดับดี ประกอบกับความชัดเจนในเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทย

สำหรับสถานการณ์เงินทุนไหลออกในภูมิภาคนั้น จากการติดตามของ ธปท.ยังไม่พบว่ามีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจเอเชีย รวมถึงไทยยังคงมีเสถียรภาพ โดยไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้า และดุลบัญชีเคลื่อนย้ายเป็นบวก

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ยังต้องติดตาม คือ การฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในการประกาศตัวเลขจริงกับตัวเลขที่คาดการณ์ว่าสอดคล้องกันหรือไม่ และการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะเป็นไปในทิศทางอย่างไร เพราะจะส่งผลให้มีโอกาสที่ประเทศใหญ่ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ จะเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังสหรัฐฯ เพื่อผลตอบแทนที่สูงกว่า ส่วนการผ่อนคลายมาตรการ QE เชื่อว่าตลาดคงมีการคาดการณ์ไว้หมดแล้ว

อีกทั้งกระแสข่าวที่จะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี โดยหลายตำแหน่งเป็นนายทหารระดับสูงว่า ธปท.คงให้ความเห็นในเชิงลึกไม่ได้ว่าแต่ละตำแหน่งจะส่งผลอย่างไร แต่เท่าที่ติดตามเชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศยังมีความเชื่อมั่นลงทุนในไทย ไม่ได้ย้ายการลงทุนไปที่อื่น จะมีก็แต่นักลงทุนใหม่ๆ ที่อาจมองประเด็นความเสี่ยงด้านการเมืองเป็นเงื่อนไขการลงทุนอยู่บ้าง แต่ในท้ายที่สุดก็ต้องมองโอกาสทางการลงทุนเป็นหลัก

“มองว่า นวโน้มกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีความสมดุล ทั้งไหลเข้าและไหลออก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนได้รับข่าวกับการลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ QE มาระยะหนึ่งแล้ว รวมไปถึงการพยายามสื่อสารเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ด้วย นอกจากนี้ กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายยังขึ้นอยู่กับพื้นฐานของเศรษฐกิจ การเกาะกลุ่มของนักลงทุนในภูมิภาค เป็นต้น”

ขณะเดียวกัน หลายคนก็มองว่า สิ่งที่หน้าห่วงคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้วจะส่งผลต่อตลาดเกิดใหม่ หรือเกิดการแครี่เทรดนั้น ไม่อยากให้กังวล เพราะจริงๆ แล้วแครี่เทรด หรือการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศที่อัตราดอกเบี้ยต่ำไปยังแหล่งที่ให้ผลตอบแทนสูงนั้น มองว่าถ้าจะเกิดคงเกิดกับต่างประเทศมากกว่า เช่น ตลาดสหรัฐฯ กับยุโรป หรือระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เป็นต้น

ขณะที่ในเอเชียร วมถึงบ้านเราหากจะได้รับผลกระทบเชื่อว่าน่าจะเป็นผลผ่านทางด้านราคา หรือด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่า เช่น หากสหรัฐฯ กลับมาแข็งค่า ก็อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การปรับตัวของตลาดหลังจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อตลาดเกิดใหม่ และการสื่อสารของเฟดในการปรับขึ้นดอกเบี้ยว่าจะเร็วกว่าที่คาดการณ์ไหม ขณะที่ในประเทศเรา มองว่าปัจจัยนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อพื้นฐานเศรษฐกิจค่อนข้างมาก ส่งผลให้ยังมีเงินไหลเข้า

นอกจากนี้ ธปท.ยังอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบล่าในต่างประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในหลายประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวเริ่มมีความระมัดระวังในการดินทาง และควบคุมค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งคงจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้น จะประเมินว่าส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด

ส่วนกรณีที่มีโฉมหน้า ครม.ออกมานั้น จะสร้างความเชื่อมั่นต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ในปีนี้หรือไม่ ธปท.มองว่า ประเด็นดังกล่าวคงจะมีการนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุม 26 ก.ย.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น