ธ.ไทยพาณิชย์ ห่วงส่งออกปีนี้โตต่ำเพียง 1% แนะต้องเร่งเปลี่ยนเทคโนโลยีการส่งออกทั้งระบบ พร้อมคงจีดีพีปีนี้โต 1.6% พร้อมคาดช่วงครึ่งปีหลัง ทิศทางค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เร็วกว่ากำหนด รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มทรงตัวที่ 2% เป็นระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค
น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า แม้จะมีการคงอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.6 แต่มีความเป็นห่วงการส่งออกปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าคาด โดยในช่วง 5 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 1.2 เนื่องจากการส่งออกไปจีน และอาเซียนซบเซาจากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยมองว่าทั้งปีการส่งออกจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1 ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่โตร้อยละ 4
ทั้งนี้ สาเหตุมาจากการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาสินค้าเกษตร การชะลอตัวของประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งกระทบชัดเจนต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการส่งออกรถยนต์ โดยมีการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนรถอีโคคาร์ที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่ารถประเภทอื่น และการสูญเสียความนิยมของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 7 ของการส่งออกไทย เพราะเทคโนโลยีผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยล้าสมัย
ขณะที่ทั่วโลกนิยมสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ดังนั้น ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหาการส่งออกอย่างเป็นระบบ ด้วยการวางยุทธศาสตร์เปลี่ยนเทคโนโลยีการส่งออกให้ทันสมัยตรงความต้องการของตลาดโลก และให้ความสำคัญต่อตลาดเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ซึ่งต้องปรับการผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของคู่ค้า เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งลดต้นทุนภาคการขนส่ง ด้วยการเพิ่มการขนส่งทางราง และขนส่งน้ำที่มีต้นทุนต่ำกว่าถนน และสร้างถนนให้เชื่อมต่อการค้าชายแดน ขณะเดียวกัน ต้องไม่มองข้ามคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย ซึ่งเริ่มมีการผลิตรถยนต์ และพลาสติกเคมีภัณฑ์ที่มีศักยภาพมากขึ้น
สำหรับปัจจัยที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง คือ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนภาครัฐ และการให้ความสำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ และการช่วยเหลือเกษตรกรผ่านโครงการรับจำนำข้าว และการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านการให้สินเชื่อต่างๆ บวกกับสถานการณ์การเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งส่งผลชัดเจนต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชน แต่คาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นเอกชนจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้การบริโภคผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังมีแรงกดดันด้านรายได้ และหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ จากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ และคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในด้านความโปร่งใส แต่อาจส่งผลให้การลงทุนภาครัฐในบางส่วนมีความล่าช้า
น.ส.สุทธาภา กล่าวถึงทิศทางค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2557 โดยระบุว่า ในช่วงครึ่งปีหลังทิศทางค่าเงินมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเป็น 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภาวะเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดที่เร็วกว่ากำหนด รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มทรงตัวที่ร้อยละ 2 เป็นระดับต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค