xs
xsm
sm
md
lg

SCB ไม่ขยับเป้าจีดีพีโต 1.6% - ห่วงส่งออกวูบยาวแนะแก้โครงสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


EIC SCB ไม่ขยับเป้าจีดีพีเพิ่ม คงที่ระดับ 1.6% แม้จะคลายความกังวลด้านใช้จ่ายภาครัฐ แต่ห่วงส่งออกคาดโตแค่ 1% แนะเร่งแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้าง ห่วงวูบยาว ค่าบาทครึ่งปีหลังอยู่ที่ 33 ผันผวนตามภูมิภาค

นางสาวสุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(EIC SCB)เปิดเผยว่า แม้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์ในประเทศจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ EIC SCB ยังคงเป้าหมายเศรษฐกิจไทยปีนี้เติบโต 1.6% แม้ว่าความวิตกกังวลด้านการใชัจ่ายภาครัฐจะหมดไป เนื่องจากจะมีการจัดทำงบประมาณ 2558 ได้ทัน แต่การบริโภคภาคเอกชนทั้งปีอาจจะทรงตัว เพราะยังมีข้อจำกัดด้านหนี้ครัวเรือน ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ก็ยังต้องรอผลต่อเนื่องจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก

“ในครึ่งปีหลังเราจะเห็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับมาเป็นปัจจัยในประเทศ ซึ่งก็ยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป การบริโภคเอกชนดีขึ้นก็คงทำได้แค่ชดเชยครึ่งปีแรกที่หดตัวไป การลงทุนภาครัฐจะยังขยายตัวได้จากงบประมาณที่ออกมาทัน และลงทุนเอกชนก็เริ่มมีสัญญาณฟื้น แต่ส่วนหนึ่งก็จะต้องรอการต่อยอดจากลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจากรัฐ ฉะนั้น การขยายตัวของจีดีพีอาจจะไม่สูงเท่าในช่วงที่ผ่านๆมา”

อีกปัจจัยที่สำคัญคือ การส่งออกที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร โดย 5 เดือนแรกของปี -1.2% หากครึ่งหลังกลับมาฟื้นได้บ้าง ก็น่าจะเติบโตทั้งปีได้ 1% เท่านั้น ซึ่งปัญหาด้านการส่งออกต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการลดลงของการส่งออกไม่ได้เป็นปัญหาชั่วคราว แต่เป็นเป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง โดยหลักคือ สินค้าส่งออกของไทยไม่ตรงกับความต้องการของตลาด อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยตกขบวนการส่งออกชิ้นส่วนผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ขณะที่ค่าแรงงานของไทยค่อนข้างสูงจึงไม่เหมาะกับการเป็นฐานการผลิตสินค้าบางประเทศที่เคยทำมา

นอกจากนี้ ไทยควรหันมามองตลาดในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีความต้องการสินค้าจำนวนมาก ส่วนภาครัฐเองควรมีการพัฒนาทางด้านสาธารณูปโภคด้านการขนส่งให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของไทยที่ยังอยู่ในระดับที่สูง

นางสาวสุทธาภา กล่าวว่า โดยสรุปปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามองปีนี้ เป็นด้านการบริโภคที่จะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังมีแรงกดดันด้านรายได้ และภาระหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร.และคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในด้านความโปร่งใส แต่อาจส่งผลให้การลงทุนภาครัฐในบางส่วนมีความล่าช้า

ด้านค่าเงินบาทในช่วงครึ่งปีหลัง อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากการที่การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพดีขึ้น แต่ค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในช่วงครึ่งปีหลัง จากเงินทุนไหลออกจากประเทศเกิดใหม่ ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มคงที่ 2% ในช่วงครึ่งปีหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น