จากลูกคนมีชาติตระกูลและฐานะ สู่เด็กเสเพล ทาสยาเสพติด และต้องโทษคดีอาญาร่วม 10 ปี จนชีวิตกว่าครึ่งถูกตอกตรึงอยู่กับเรือนจำ ไม่เหลือค่าใดๆ ให้ใครมอง แม้กระทั่งตัวของตัวเอง แต่เมื่อพบกับ “บ้านพระพร” ชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไปเพียงเพราะกีตาร์หนึ่งตัว
นับระยะเวลาตอนนี้ก็ราวกว่า 3 ปี 4 เดือน ที่มีผู้คนนับถือยกย่องเป็นต้นแบบอย่างเดินตามและกลายเป็นที่ยอมรับของคนดนตรีหรือศิลปินระดับประเทศในบ้านเรา เรื่องราวของเขา “ช่างหรั่ง” หรือ “อัครินทร์” จึงเสมือนเป็นบทเรียนแก่ชีวิตและสังคมอีกด้าน ที่ไม่ใช่เรื่องราวสวยงาม เพราะกว่าจะผ่านพ้นออกมาได้ มันมีแต่โมงยามแห่งความพลาดพลั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตีวนอลหม่าน ยากเจอทางออก
จึงไม่มีคำพูดสวยหรูกรอกปลอบใจยามทำผิดทำนอง “ต้องชั่วก่อนถึงจะดีได้”
มีเพียงแต่สารแห่งความจริงที่มุ่งหวังให้เห็นผลและโทษหากไม่อยากเป็นอย่าง “เขา”...
เปิดชีวิตอดีตนักโทษ
นช.ก็เหมือนคนทั่วไป
"คือก่อนหน้านี้ผมก็เป็นเหมือนคนทั่วไป ครอบครัวอบอุ่น มีคุณพ่อคุณแม่ พี่สาว 2 คน น้องสาว 1 คน ฐานะทางบ้านก็ค่อนข้างดี เนื่องจากคุณพ่อเป็นชาวต่างชาติ ทำทั้งธุรกิจแล้วก็เป็นอาจารย์สอนภาษา จนกระทั่งตอนอายุ 6 ขวบ คุณแม่เสีย ฐานะที่บ้านก็เริ่มดาวน์ลง"
แม้ว่าพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวจะยืนหยัดอย่างไร แต่ด้วยจำนวนสมาชิกครอบครัวกว่า 4 ปากท้องในวัยกำลังเติบโต ทำให้ต้องแยกย้าย พี่สาวคนโตไปอยู่กับญาติๆ ทางฝ่ายแม่ น้องคนเล็กมีผู้อุปการะไปเลี้ยงดู เหลือเพียงพี่สาวคนรอง คุณพ่อ และหรั่ง 3 คน เท่านั้น
"ก็อยู่กันตามประสา ตอนนั้นผมเรียนโรงเรียนวัด ก็เจอเพื่อนที่ค่อนข้างจะชักนำไปในทางที่เกเร แต่เราก็ไม่ได้โทษเพื่อนหรือโทษสังคม เพราะพี่สาวผมก็เรียนโรงเรียนวัด แต่เขาก็เป็นคนดีได้ คือเราชอบอยู่แล้วด้วย เพราะว่าเราอยู่ตรงนั้น เราถูกรังแกตั้งแต่เด็กๆ เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราไม่อยากถูกรังแก ถูกแกล้ง เราก็เลยรู้สึกว่าเราเป็นอันธพาลดีกว่า จะได้ไม่ต้องโดนแกล้ง มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้นมา"
"จนอายุ 15 ผมเริ่มถูกจับเข้าสถานพินิจครั้งแรกในคดีพรากผู้เยาว์ จำได้ว่าตอนนั้นเรียนอยู่ในชั้น ม.3 ในเทอมแรก แต่ในฐานะที่เราไม่ได้ทำ เราแค่อยู่ในกลุ่มเพื่อนเราที่เป็นคนทำพอดี เรื่องมันก็เลยถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาล ผมถูกจับเข้าไปในสถานพินิจ แล้วคุณพ่อก็ไปประกันทีหลัง แต่หลังจากนั้นมา ผมรู้สึกว่าชีวิตพอเข้าไปอยู่ในสถานพินิจแล้วมันไม่ได้สอนให้เราเป็นคนดี ข้างในมันมีแต่สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างจะเอาเปรียบซึ่งกันและกันมากกว่า มันทำให้เราเอาตัวรอด”
ต้องรอด! เรื่อยมาอย่างนี้...เรื่อยมา จนถลำลึกติดเป็นความคิดและพฤติกรรมเดินสู่เส้นทางความรุนแรง สู่ยาเสพติด
"พอออกมาจากสถานพินิจ เราก็รู้สึกว่าเราเท่นะ เราเคยผ่านสถานพินิจมา เราคิดว่าเราแข็งแกร่งแล้ว ออกมาก็เริ่มลองยาเสพติดบ้าง คราวนี้เริ่มถูกจับเพราะตัวเอง แล้วก็เข้าๆ ออกๆ อยู่อย่างนั้น 5-6 ครั้ง ในช่วงเวลาแค่ 3 ปี ตอนอายุ 15-18 ปี ตัดสินโทษ 6 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง
"จนมาถึงจุดจุดหนึ่ง คุณพ่อไม่ไหวแล้ว และสุดท้ายท่านก็เสียไป ในช่วงที่คุณพ่อเสีย ผมก็ติดทหารเกณฑ์ด้วย แต่เราก็คิดว่าในระยะเวลาที่เป็นทหาร เป็นระยะเวลาที่ดีมากสำหรับผม ในช่วง 2-3 เดือนนั้น ด้วยกฎด้วยระเบียบ แต่มันไม่สามารถทำให้ผมคิดได้ ก็กลับมาติดยาอีก พอติดยาหนักขึ้นก็เริ่มทำสิ่งไม่ดีแล้ว ก็ไปโดนจับยาเสพติดเข้าเรือนจำทหารอีก ติดเรือนจำทหารอยู่ 1 ปี 6 เดือน มันก็สอนให้เราเอาตัวรอดอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา"
การติดเรือนจำทหารครั้งนั้นเสมือนฟ้าที่เคยใส ค่อยๆ มืดลง ฉากชีวิตเดิมๆ เพราะสังคมในเรือนจำยิ่งย้ำให้เขาบอกตัวเองเสมอๆ คนที่มีประวัติสังคม การที่จะออกไปเริ่มต้นใหม่เป็นคนดีคงจะไม่มีทางเสียแล้ว
“ชีวิตนี้เราไม่สามารถเป็นคนดีได้หรอก เพราะว่าคนอย่างเรามีประวัติ เราออกมาข้างนอก ถ้าเกิดฐานะทางบ้านเราไม่ได้เอื้ออำนวย ก็ยากที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้ เราจะถูกตอกย้ำด้วยคำพูดนี้อยู่เสมอ เพราะว่าการที่เราเข้าสู่เรือนจำ เรามีประวัติแน่นอน พอถึงเวลาจริงเราไปสมัครงานข้างนอกทั่วไป เขาก็ต้องตรวจสอบประวัติ พอเขาเห็นเรามีประวัติ ภาพแรกที่เขามองเห็นเราคือ น่ากลัว เราคิดของเราไปเอง เออเอง ตอบเอง หมดแล้ว เขาไม่เอาเราหรอก เรามีรอยสักด้วย ใครจะเอาเรา เราก็คิดอย่างนี้เสมอ"
"คือสายตาที่มองมันเป็นความรู้สึกที่เราเดาได้ ผมคิดว่าคนเรามันมีสัญชาตญาณอยู่แล้ว อย่างผมหน้าตาอาจจะไม่เหมือนคนในเรือนจำสักเท่าไหร่ แต่พอผมพูด ผมเคยเป็นอดีตผู้ต้องขังนะ สภาวะที่เขามองเรา สมมติว่าคนปกติทั่วๆ ไป เขาก็จะรู้สึกห่างๆ นิดหนึ่ง สายตาเขาจะเหมือนขาดความเชื่อถือในตัวเราไป มีความหวาดกลัวเป็นภาพแรก เราสัมผัสตรงนี้มาเยอะในช่วงกระบวนการที่ผมยังไม่มาถึงจุดนี้ มันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราบั่นทอนชีวิตเราเหมือนกัน แต่เราก็ต้องทำใจ เพราะเราทำสิ่งที่ผิดพลาดมาทั้งหมด ไม่มีใครใช้ให้ทำ เราทำเอง
"ก็เข้าสู่กระบวนการเดิม และหนักขึ้น ติดยามากขึ้น เสร็จแล้วก็ทำผิดอีก ครั้งนี้เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ศาลตัดสินผม 10 ปี ช่วงเวลานั้นผมคิดเลยว่าโทษ 10 ปี ชีวิตคงยากแล้ว อย่างที่บอกไป อยู่ในเรือนจำได้ 4-5 ปี ผมก็เกเรหนักขึ้นๆ เกไปเกมาจนมาถึงจุดหนึ่ง ผมมาคิดแล้วว่าผมคงไม่เอาแล้ว ชีวิตนี้คงเป็นคนดีไม่ได้แล้ว มันหมดสภาพ"
โอกาสแห่งชีวิต
กับการเริ่มต้นที่ความคิด-จิตใจ
เมื่อไม่มีแล้วซึ่งความหวัง หมุดหมายของหัวใจหล่นหายในซังเต ชีวิตทั้งชีวิตคงพังเพ ก้าวไม่พ้นม่านเหล็กกรงขัง แต่ "ท่ามกลางทางตันยังมีทางออกเสมอ" ชีวิตของหรั่งก็คงจะคล้ายอย่างนั้น เพราะในทุกครั้งที่ถึงสถานการณ์อย่างนี้ ก็ยังคงมีพี่สาวผู้ประหนึ่งนางฟ้าผู้คอยช่วยเหลือชี้ทางออกให้แก่เขาอยู่เสมอๆ
"คือออกมาครั้งล่าสุด ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาจะเอือมระอาเราแล้ว แต่จริงๆ เขายังรักเรา รักเราเสมอ พี่สาวคนนี้ไม่เคยทอดทิ้งผม แต่เราก็ยังทำผิดซ้ำๆ ออกมาบอกว่าจะไม่ทำแล้วๆ จะกลับตัวแล้วนะ แต่ก็กลับไปทำอีก พี่สาวผมเขาก็สามารถหางานให้ผมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พี่สาวพูดกับผมเสมอว่า "เงินไม่สามารถทำให้ผมเป็นคนดีได้" พี่สาวผมก็เลยบอกว่าในการถูกปลูกฝังจากที่นี้มันอาจจะสามารถทำให้ผมเป็นคนดีได้ คือมันต้องเปลี่ยนจากกระบวนการความคิดก่อน ถ้าความคิดไม่เปลี่ยนท่าจะยากสำหรับผม เขาก็เลยเหมือนลองใจให้ผมลองอยู่ที่นี่ ที่บ้านพระพร ก่อน 3 เดือน ว่าเราจะทำได้อย่างที่พูดไหม"
นั่นจึงทำให้เขาได้รู้จักกับ “บ้านพระพร” บ้านกึ่งวิถี หนึ่งในมูลนิธิสังกัดพันธกิจเรือนจำคริสเตียน ซึ่งแปลงเปลี่ยนหัวใจที่เลื่อนลอยไร้จุดหมายให้เห็นทางสว่างสำหรับย่างก้าวต่อไป
"ที่นี่จะปลูกฝังความหวังให้เป็นโอกาสอย่างที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เขาไม่ได้เพียงแค่พูดใช้วาทศิลป์ ใช่คุณธรรมเปลี่ยนความคิด แต่เขาสร้างความฝันให้เราใหม่ ที่นี่ทำให้ผมฝันอีกครั้ง แล้วเขาก็สนับสนุนให้เราเป็นจริง คือส่วนลึกๆ ชีวิตไปถึงจุดที่เลวร้ายสุดๆ แต่ผมก็อยากจะมีชีวิตที่เหมือนคนทั่วไปที่ดีๆ ตลอดเวลา รวมถึงคนทุกคนในเรือนจำทุกคนด้วย เขาอยากเป็นคนดีหมด ที่ผมสามารถพูดอย่างนี้ได้ เพราะผมอยู่กับเขามาเป็นระยะเวลา 8 ปีกว่า แล้วผมมีเพื่อนในเรือนจำเยอะมาก ทุกคนอยากเป็นคนดีหมด
"แต่เนื่องจากเขาถูกปลูกฝังสภาพจิตใจที่ก้าวร้าว ความต้องการที่เกินตัว อย่างเช่น อยากมีเงินมากขึ้น แล้วก็ยังรักสบาย รักสนุก สิ่งพวกนี้ทำให้เขาไม่สามารถเปลี่ยนได้เพราะการที่เขาทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือน 9,000 บาท แล้วถ้ายังกินเหล้าอยู่ ยังสูบบุหรี่อยู่ ยังเที่ยวอยู่ เงินจำนวนนั้นมันไม่พอใช้ พอไม่พอใช้ เขาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเดิมเพื่อตอบสนอง แล้วก็เนื่องจากความกลัวด้วย ข้างนอกเวลาสายตาคนมองพวกเรา เขาก็แพ้แล้ว เขาไม่สู้แล้ว พอเจอคนเหยียดหยามเขาก็ไม่เอาแล้ว ผมก็เคย ผมมาฝึก ชีวิตผมก็เจอหลายๆ คนเหยียดหยาม แต่ผมก็ก้มหน้าก้มตาสู้ไป หลายๆ ครั้งผมก็เคยจะถอดใจเหมือนกัน แต่ผมก็รู้สึกว่าผมอยากมีชีวิตใหม่จริงๆ"
"หลายๆ คนที่มาที่นี้ก็มีจุดประสงค์ไม่เหมือนกัน บางคนอยากได้งาน ก็มาฝึกอาชีพ กลับไปเขาก็สร้างชีวิตใหม่ได้ เป็นคนดีได้แล้ว แต่จุดประสงค์ของผมที่มา จำได้ว่าอาจารย์พ่อถามว่าอยากได้งานไหม ผมไม่ต้องการ พี่สาวผมหางานให้ได้ แต่สิ่งเดียวที่ผมอยากได้คือผมอยากได้ชีวิตใหม่จริงๆ ชีวิตที่แบบว่าวันหนึ่งผมไม่ต้องไปคิดเรื่องว่าเวลาไม่มีเงิน ต้องไปขายยาเสพติด ผมต้องการความคิดแบบนี้ เราเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานความเป็นคนดี วันนี้ถ้าเราอยากจะเริ่มต้นใหม่ เราต้องทิ้งทุกอย่าง แล้วก็เริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ รับใหม่ คือเปลี่ยนล้างสมองผมหน่อย ต้องพูดว่าล้างสมอง เพราะถ้าไม่ล้างสมองผม ผมก็จะคิดแต่สิ่งเดิมๆ สมมติง่ายๆ วันนี้ผมตกงาน ไม่มีคนที่คอยช่วยเหลือ ผมก็ต้องกลับสู่กระบวนการเดิม ไปหากลุ่มเพื่อนกลุ่มเดิมๆ เพื่อที่จะหาเงินจุนเจือตัวเอง"
ซึ่งนอกจากปลูกความหวัง สร้างคุณธรรมนำใจขึ้นใหม่ ให้กับผู้พ้นโทษ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ใครต่อใครเมื่อก้าวผ่านพ้นประตูออกจากบ้านหลังนี้ พ้นอดีตและไม่หวนกลับมากระทำผิดอีก นั่นก็คือ "ความเข้าใจ"
ภายใต้ชายคาหลังดังกล่าวนี้ มีผู้ดูแลที่เปรียบเสมือนเสาหลักของบ้าน ซึ่งทุกคนเรียกขานว่า “อาจารย์พ่อ” - สุนทร สุนทรธาราวงศ์ - อดีตชายหนุ่มผู้เคยถลำเกินกฎเกณฑ์ของสังคมบัญญัติคำว่า "คนดี"
"เพราะว่าผมผ่านชีวิตที่เหลวแหลกมาก่อนเหมือนกัน” อาจารย์พ่อ เล่า
ชีวิตก่อนหน้านั้นผมเคยเป็นนักการพนัน ผมเป็นคนที่เสเพลในสังคม แต่ทีนี้ผมได้โอกาสจากคนที่ให้โอกาสผม แล้วผมก็กลับเนื้อกลับตัวแล้วก็เป็นคนที่ดีได้ ผมเลยคิดว่า คนเราสร้างได้ คนเหล่านี้ถ้าเราจริงจังและตั้งใจช่วยเขา เขาสามารถกลับตัวได้" อาจารย์สุนทร เผย ชีวิตลึกๆ ก่อนจะเล่าถึงเส้นทางที่ทำให้เบนเข็มชีวิตอุทิศตั้งมั่นให้กับศาสนา ก่อนจะมาผูกพันกับการช่วยเหลืออดีตผู้กระทำความผิดมายาวนานกว่า 32 ปี ตั้งแต่ในช่วงราวปีต้น พ.ศ. 2520 เรื่อยมา
"จริงๆ ผมไม่เคยคิดที่จะมาทำงานนี้เลย ไม่เคยคิดเลย ผมเรียนจบปริญญาโทจากอเมริกา แล้วก็ตั้งใจจะมาทำงานในรูปแบบทางศาสนาซะมากกว่า หลังจากนั้นกลับมาบ้านที่เมืองไทยก็บังเอิญไปรู้จักฝรั่งคนหนึ่ง คือผมไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นมูลนิธิ จริงๆ ที่นี่เริ่มต้นโดยฝรั่งคนหนึ่ง เขาชื่อ 'Jack martin' เขาเป็นคนอเมริกัน พอดีเขาไปรู้จักอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วเขาขออนุญาตไปสอนภาษาอังกฤษให้นักโทษในคุก แต่ว่าภาษาไทยของเขาไม่ได้แข็งแรงพอ จนกระทั่งผมมารู้จักเขา เขาก็มาเชิญชวนบอกว่ามีคนไทยที่สนใจอยากจะให้พวกเขาไปสอนอะไรต่ออะไร ผมก็เลยลองไปดู
"แต่พอเข้าไปเห็นความสนอกสนใจของพวกนักโทษ จากตอนแรกจะเข้าไปสักครั้งสองครั้งก็พอแล้ว ก็เกิดชอบ เกิดความคิดว่าน่าจะช่วยคนพวกนี้ น่าจะส่งเสริมเขา ก็เลยตกลงคุยว่าจะช่วยเขา แต่ว่าต้องมาบูรณาการเรื่องการทำงานใหม่ ไม่ใช่มาเย้วๆ แล้วก็กลับเท่านั้น หลังจากนั้นต่อมาก็มาช่วยกันจัดระบบว่าวิธีการเข้าไปอย่างไร ต้องเรียนอย่างไร ทำอย่างไร มันเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง"
"ก็ทำเรื่อยมาจนประจวบเหมาะกับในช่วงเวลานั้นที่ประมาณปี พ.ศ. 2546 ผมพยายามดูว่าในประเทศไทย เรามีองค์กร หน่วยงานใดๆ ไหมที่ทำงานช่วยเหลือนักโทษ นั่นก็อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเอามาดูว่ามี พยายามศึกษาดูว่ามีองค์กรช่วยเหลือคนตาบอด ช่วยเหลือคนพิการ ช่วยเหลือผู้หญิงถูกรังแก แต่ว่าไม่มีองค์กรที่ถูกจัดตั้งและก็ช่วยเหลือนักโทษและผู้พ้นโทษโดยตรงไม่มีเลย จนถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี ดังนั้นทั้งหมดเป็นเหตุที่จูงใจให้ผมตัดสินใจว่าจะเป็นคนริเริ่มโครงการนี้ เลยเกิดวิสัยทัศน์จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจัดจุดประสงค์ช่วยคนพวกนี้"
1.เพื่อเป็นศูนย์อบรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.เพื่อเป็นสถานที่ให้ความช่วยเหลือที่พักชั่วคราวแก่ผู้พ้นโทษ
3.เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนและเด็กๆ
4.เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอาชีพและประสานงานด้านจัดหาอาชีพแก่ผู้พ้นโทษ
5.เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานติดต่อดูแลผู้พ้นโทษ ให้เป็นคนดีคืนสู่สังคม
และเมื่อหลังพ้นระยะ 3-6 เดือน ก็จะยังคงดูแลต่อ จัดหาในเรื่องสถานที่พักใกล้อาชีพ (สำหรับผู้ที่ประสงค์ประกอบอาชีพส่วนตัว ก็จะมีการจัดหาทุนเริ่มต้นให้) จากนั้นก็จะมีทีมติดตามดูแลอีก 1 ปี เพื่อแน่ใจว่าเขารอดและทำงานอย่างมั่นคงประหนึ่งครอบครัวที่ฟูมฟักลูกหลานจนเติบใหญ่ และหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือหรั่ง
"ถ้าที่นี่ไม่ช่วยเหลือเราเราจะไปอยู่ที่ไหนตอนนี้ก็คงไปอยู่ในเรือนจำที่ไหนสักแห่ง” ช่างหรั่ง เล่าต่อ
“โอกาสจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่คนที่ให้โอกาสต้องมีความอดทนนิดหนึ่ง เพราะว่าคนในเรือนจำ ผมยอมรับว่าสภาวะจิตใจของเขา ขอให้เราเข้าใจเขาว่าเขาเป็นผู้ด้อยโอกาส อย่างเช่น เขามีสภาวะจิตใจปรวนแปรง่าย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวทำงาน เดี๋ยวลาออก แต่ถ้าสังคมให้โอกาสคนพวกนี้เพิ่มมากขึ้น มีความอดทน คือเราพูดแบบตรงๆ สงสารนิดหนึ่ง ให้เข้าใจเขานิดหนึ่ง มันไม่เหมือนคนทั่วไป บางคนมาได้โอกาสครั้งเดียว เขาก็ประสบความสำเร็จ บางคนมาแล้วผิดแล้วผิดอีกๆๆ แต่ยังช่วยอยู่ ก็มีสักวัน ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดจนเรารับไม่ได้แล้วจริงๆ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อยากให้โอกาสเพราะที่นี่เป็นแบบนั้น"
"แน่นอนว่ามันยาก เพราะผมมาที่นี่ผมมีช่วงแรกๆ ผมก็มีเวลาที่ท้อใจ ผมออกไปกินเหล้าเลย ทิ้งที่นี่เลย กลางคืนเก็บเสื้อผ้าไปเลย ไปกินเหล้ากับเพื่อนเสร็จ หายเมารู้สึกว่าถ้าอยู่อย่างนี้ตายแน่เลยชีวิตผม ก็โทรศัพท์ติดต่อหาอาจารย์พ่อเลย อาจารย์ครับผมขอกลับมาได้ไหม เขาก็บอกว่าหรั่งเริ่มใหม่ ผมกลับมาเขาไม่ถามผมเลย หนีไปทำไม ไปกินเหล่าทำไม เขาไม่เคยถามผม เขาบอกเริ่มต้นใหม่ “เอ้า ล้างหน้าล้างตา สู้ๆ...”
"ครั้งที่ 2 ผมไปอยู่กับเพื่อนอีก ไปกินเที่ยวจน 5 ทุ่มกว่าแล้ว เพื่อนให้กินเบียร์ผมก็กิน กินเสร็จชีวิตก็เริ่มพัง อาจารย์โทร.ตามหรั่งไปไหน กลับไหม เราทำไป 2 ครั้งแล้วอาจารย์ก็ยังให้โอกาส
"ครั้งที่ 3 ทำท่าเป็นแบบนนี้อีก อาจารย์ให้โอกาสอีก ผมเลิกแล้ว บอกครั้งที่ 3 ผมพอแล้ว"
ช่างหรั่งเล่า พลางพาหวนย้อนถึงช่วงเวลาที่ไม่ง่ายเลยสำหรับชีวิตของคนที่สังคมไม่ยอมรับ นอกจากเพื่อนฝูงกลุ่มก๊วนแนวร่วมทางเดียวกันเท่านั้น
"ผมคิดว่าคนไหนเข้าใจคือเพื่อนเรา ถ้าไม่เข้าใจก็จำเป็นต้องเลิกคบ ผมยอม ผมต้องตัดสังคมเดิม ถ้าไม่ตัด เราก็จะหวนกลับไปสิ่งเดิมๆ เราจำเป็นต้องหาสังคมใหม่ หาเพื่อนใหม่ ในชั่วโมงนั้นผมได้เพื่อนที่นี่ พี่น้องที่นี่ เขาก็เสริมสร้างเราไปในทางใหม่ๆ มันก็ขึ้นอยู่กับเราด้วย ถ้าเราฟังสิ่งที่ไม่ดีอยู่ตลอดเวลา เราก็จะกลายเป็นคนไม่ดี ถ้าเราไปฟังสิ่งดีๆ กับคนดีๆ มันก็เสริมสร้างเรา"
"คือเรารู้แล้ว คือเราติดในเรือนจำมาถึงจุดกระบวนการเรารู้แล้ว ถามว่าถ้าเรากลับไปเมื่อไหร่นะ เราจะเข้าสู่กระบวนการเดิมทั้งนั้นเลย เราผิดพลาดมาทั้งชีวิต เกือบครึ่งที่ผมอยู่ในสถานกักกัน ผมจึงจำเป็นต้องใจแข็ง ตัดเพื่อนหมดเลย ผมเลิกคบทันทีในชั่วโมงนั้น โทรศัพท์ไม่เอา ไม่พูดไม่คุยอะไรทั้งสิ้น หายไปเลย ผมรู้สึกว่าผมได้รับโอกาส มันเหมือนจุดจุดหนึ่งที่เขายังให้โอกาส ทั้งๆ ที่เขาสามารถรับคนได้มากมาย เขาช่วยเหลือคนมากมาย ทำไมเขาต้องทุ่มเท ทำไมเขาเอาเวลามาเสียกับเรา เสียเงินเสียทองกับเรา ทำไมเขาไม่เอาไปเสียกับเยาวชนคนอื่น คือเรารู้สึกว่าเขามองว่าเรามีคุณค่ามาก มันทำให้กลายเป็นจุดเปลี่ยน
"หลังจากผมผ่านมาประมาณ 2 ปี ผมสำแดงชีวิตว่าผมเป็นคนแบบนี้แล้วกับเพื่อนๆ เวลาพ้นโทษออกมา ก็ไม่มีแล้วที่จะชวนไปกินเหล้า ก็เป็นกินข้าว กินข้าวก็เฮฮาได้ กินน้ำเปล่าก็หัวเราะได้ ถามว่ามีตังค์ใช่ไหม มี แต่ก็ไม่ชวนไปทำสิ่งไม่ดีแล้ว เพื่อนยอมรับหมด ไม่ชวนไปทำสิ่งไม่ดีเลย เขายอมรับว่าผมสามารถเป็นคนดีได้แล้ว"
"เรามีโอกาสผิดพลาดได้บ่อยครั้งเท่าไหร่ เราก็เดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น..." ทุกวันนี้ก็มีเพื่อนพ้องหลายต่อหลายคนที่เมื่อเห็นเช่นนั้น เขียนเล่าเรื่องราวผ่านจดหมายร่อนตรงส่งมาที่เลขที่ “บ้านพระพร” หวังให้เป็นพยานชีวิต
"เรือนจำบางครั้งมันก็สอนเรานะ ให้รู้คน ชีวิตคนเป็นอย่างไร เพราะอะไรคนถึงเห็นแก่ตัว คือมันมีหลายสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคน มันก็ทำให้ผมได้เรียนรู้กับคนมากขึ้นว่าแต่ละคนมีความรู้สึกอย่างไร มีความคิดอ่านอย่างไร อันไหนเป็นจุดของเขา จนวันนี้ผมก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนพวกนี้ ผมก็เลยค่อนข้างที่จะได้เปรียบนิดหนึ่ง เพราะว่าเราเคยกินนอน เราเคยรู้จักคนพวกนี้ แล้วเราก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ยจิตใจลึกๆ ของเขาเขาเป็นอย่างไร มันทำให้เวลาที่ผมพูดกับเขามันจะเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย และเขาค่อนข้างจะยอมรับ เพราะว่าอย่างคนในเรือนจำ เราเอาคนที่ประสบความสำเร็จแบบคนปกติ จบปริญญาโท ปริญญาเอก ไปพูดให้เขาฟัง เขาไม่ฟัง มันจะมีคำถามเสมอๆ คุณประสบความสำเร็จ คุณเคยมาติดคุกไหม คุณเคยมีประวัติอย่างนี้ไหม เดี๋ยวถ้าติดเมื่อไหร่คุณจะทำได้ไหม
"แต่อย่างผมเป็นคนที่เคยเป็นอดีตในเรือนจำ เคยเกเรเหมือนพวกเขา พอผมประสบความสำเร็จจุดหนึ่ง คือมีชีวิตที่ดีขึ้นได้แล้ว มันทำให้เขารู้สึกมีน้ำหนักในการฟัง เขาก็รู้สึกว่าเขาก็ทำได้ ตอนนี้ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง ก่อนนั้นทำตัวไม่ดี แต่ตอนนี้หยุดแล้ว แล้วเขาบอกว่าผมจะหางานหาการทำที่สุจริต ถ้ามีอะไรจะมาปรึกษาเราให้หรั่งช่วย แล้วมีเพื่อนอีกคนอยู่ในเรือนจำ เขาเห็นชีวิตผมว่าเปลี่ยนแปลงได้ เขาก็อยากเปลี่ยน เขาก็เขียนจดหมายมาว่า เดี๋ยวพ้นโทษจะมาอยู่นะ เพื่อต้องการเปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน เราก็รู้สึกภูมิใจมากเลยที่เราสามารถสร้างผลกระทบได้ 2 คนแล้ว คือนำคนสองคนให้เปลี่ยนตนเองได้
"คือการจะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนดี มันขึ้นอยู่กับความต้องการก่อน ต้องถามเขาก่อน คุณอยากเป็นคนดีไหม ถ้าเกิดว่าเรายังไม่อยากเป็น ยังไม่มีแรงผลักอยากเป็น หรือไม่อยากเป็นคนดีเลย กลับตัวมันยาก เขาปิดประตู แต่ถ้าเขาอยากเป็นคนดี แต่บังเอิญว่าชั่วโมงนี้เขามีภาระจำเป็นที่ต้องทำไม่ดี ก็ไม่รู้จะเป็นคนดีได้อย่างไร เราก็จะนำเรื่องเขาไปปรึกษาผู้ใหญ่ เราบอกให้เขาเป็นคนดีได้ แต่เราต้องมีช่องทางให้เขา การมีช่องทาง มีงานสุจริตให้เขา พอเขาได้รับงานสุจริต เขาก็สามารถทิ้งงานเดิมๆ สิ่งเดิมๆ ได้ เราก็ต้องดูตามสถานการณ์เขาไป
"วันนี้เราต้องรับสภาพแล้วต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้ ถ้าผ่านความกลัวตรงจุดนี้ไปได้ ผมว่าทุกคนน่าจะประสบความสำเร็จได้ ทุกคนเปลี่ยนได้ แต่มันก็ยังกลัว เพราะมันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันบั่นทอนชีวิตของเขา ทำให้เขาไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมายืนได้ แต่ผมเชื่อว่าหากเราตั้งใจ เราทำได้ แต่เราอาจจะต้องทำทุกอย่าง 2 เท่า ถ้าไม่ 2 เท่าก็คงจะช้ากว่าคนอื่น เราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้คนเขาเห็นให้ได้"
กำเนิดเทพกีตาร์ทำมือ
'Blessing Custom Guitars'
หลังโลดแล่นในโลกมืดจนผ่านพ้นเจอหนทางสว่าง ก็เสมือนต้นไม้หลังฤดูร้อนที่เข้าสู่กาลฝน แตกดอกออกใบ เขียวชอุ่มในโลกใหม่ที่ไม่แห้งแล้งดังเดิม...
• พอกลายเป็นคนดีอย่างที่หวัง จากนั้นเราเดินทางเข้าสู่วงการกีตาร์ได้อย่างไร
คือช่วงหลังจาก 3 เดือนนั้นที่เราเปลี่ยนความคิดใหม่หมดแล้ว พอดีทางพี่แหลม (ณรงค์ชัย อร่ามเรืองสกุล) เขาเป็นเจ้าของโรงงานทำกีตาร์ ได้เข้ามารู้จักกับทางมูลนิธิ เขาบอกกับอาจารย์ว่าอยากส่งเสริมอาชีพสามารถยืนหยัดในสังคมได้ ตอนนั้นเราก็ได้รับโอกาส กับน้องอีกหนึ่งคน แรกๆ ก็คิดว่าเราจะทำไม่ได้ เราไม่มีความรู้ แต่ผมชอบงานศิลปะตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ไม่ว่าจะการประดิดประดอย ทำหุ่นยนต์ สมัยผมเรียนผมจะได้รางวัลประจำในการวาดรูป ผมเป็นคนเกเรตั้งแต่เด็กก็จริง แต่ผมจะเก่งทางด้านศิลปะ ได้เกรด 4 ตลอด (ยิ้ม)
ถ้ามีชั่วโมงศิลปะ ผมจะไม่ไม่โดดเรียน จะอยู่ตลอด แล้วงานศิลปะ เวลาเขามีงานแข่งขัน ผมจะลงหมดเลย ได้รางวัลตลอด ไม่ที่ 1 ก็ที่ 2 ที่ 3 บ้างสลับกันไป ก็เลยรู้ตัวเองว่าเราเป็นคนชอบแบบนี้อยู่แล้ว ต่อให้มันแบบว่าเราไม่เคยทำเลย แต่บอกว่างานฝีมือ เราอยากจะลองแล้ว มันท้าทายเราตลอด เราก็เลยรู้ว่าเราชอบงานศิลปะ ก็ฝึกอยู่ 6 เดือน เราทำเสร็จตัวแรกขายได้เลย เราก็เกิดความภาคภูมิใจแล้ว แม้ว่าพี่แหลมเขาจะเป็นคนช่วยขาย แต่เขาไม่ได้ช่วยสนับสนุนถึงขั้นว่าจัดเตรียมคนมาซื้อ แต่มีคนมาเห็นปุ๊บพี่แหลมขายในนราคาทุนให้ ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์กับพี่แหลมก็เลยช่วยกันเปิดช็อปกีตาร์ขึ้นมา เราก็เริ่มได้ทำเป็นอาชีพ
• ขั้นตอนการทำยากหรือง่าย เพราะเราไม่เคยทำอะไรมาก่อนเลยหน้านี้
ถามว่าความสามารถของคนเราไม่เท่ากัน อย่างผมมีแรงผลักที่ชอบงานศิลปะ ยากก็จะสู้ ผมก็เลยใช้เวลา 6 เดือน แต่บางที ถ้าเขาเก่งๆ หน่อย ยิ่งชอบกีตาร์อยู่แล้วเป็นทุนเดิมอยู่ด้วยแล้ว 3 เดือนก็เสร็จ คือมันมีความยากอยู่ในตัว ผมก็เคยถอดใจไป ตอนที่ทำกีตาร์ได้ถึงตัวที่สิบสาม ผมมีคำถามอยู่ว่าจะไปขายใคร เพราะหลายคนที่ซื้อในสิบสามตัวนี้เขาซื้อเราไม่ได้ซื้อด้วยฝีมือ เขาซื้อเพราะเขาเห็นเราเขาจึงอยากช่วยสนับสนุนเรา
ตอนนั้นช่างคนที่เป็นมือหนึ่งของประเทศไทยที่สอนผม ผมไปเจอเขา เขาก็บอกว่า เฮ้ย...ชีวิตของเรา ถ้าจะอยากประสบความสำเร็จ เราต้องบ้าไปกับมัน เวลาทำก็จะดูศึกษาจากเว็บไซต์ยูทูป ทั้งวี่ทั้งวันทั้งคืนแล้วก็ลองทำ เขาว่า “พี่จะลองจนกว่าคนจะยอม พี่ซื้อกีตาร์ของพี่ด้วยฝีมือพี่ทำกีตาร์มา 16 ปีแล้ว พี่ให้คอนเซ็ปต์ตัวเองว่าถ้าพี่ไม่ทำกีตาร์ พี่ไม่มีข้าวกิน” หมายความว่าเขาทำกีตาร์เป็นอาชีพหลัก แต่หลายๆ คนช่างคนอื่นทำกีตาร์เป็นอาชีพ พอพูดอย่างนี้คือผมเริ่มคิด ผมก็เลยต้องพัฒนา เราก็ต้องทำ ก็เริ่มเรียนรู้จากเขามาจนมาถึงจุดหนึ่ง มีคนที่เขาเปิดเว็บไซต์กลุ่มของเรา "Blessing Custom Guitars" แล้วเขาก็สั่งซื้อโดยไม่รู้ตัวตนเรา เขายอมรับในคุณภาพกีตาร์เรา ไม่ได้ซื้อเพราะความสงสาร
หลังจากนั้นก็มีศิลปินดาราอย่างพี่บอย สินเจริญบราเธอร์ส เขาเข้ามาเยี่ยมชมแล้วก็จะมาคุยเรื่องซ่อมบางอย่าง ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นศิลปิน เนื่องจากผมอยู่ในเรือนจำนาน เขาก็เปิดลองกีตาร์แล้วบอกว่าเสียงดี ก็เลยสั่งซื้อ จองตรงนั้นเลย ก็ผมขาย 3 หมื่น พอวันที่มาเอาอีกครั้ง ถึงรู้ว่าเป็นนักร้อง เสร็จแล้วมาคนที่สองก็ คือ พี่ปุ๊ อัญชลี พี่เขามาถ่ายทำสารคดีมูลนิธิเราก็เลยทำกีตาร์เป็นลายเซ็นของพี่เขา แต่เสร็จแล้วพี่เขามาก็เอากีตาร์เราไปลองเล่น เล่นไปเล่นมา พี่เขาก็บอกว่าเสียงดีมาก ผมตั้งราคา 4 หมื่นบาท แกบอกว่าเอาไปเลยพี่ขอซื้อ 5 หมื่นบาท เราก็เลยเกิดความภาคภูมิใจมันทำให้ผมมาถึงจุดนี้
• ตอนนี้ทำได้ทั้งหมดกี่ตัวแล้ว
ผลงานของทีมเรา "Blessing Custom Guitars" ทั้งหมด 4 คน ตอนนี้กีตาร์ที่ทำทั้งหมดก็ 32 ตัว แล้วก็มีอูคูเลเล่อีก 16 ตัว
• ทราบมาว่าเรารับเปิดสอนด้วยคนข้างนอกด้วย
ใช่ครับ แต่หลักๆ เรามุ่งจะสอนคนที่พ้นโทษมากกว่า แต่ก็หากใครสนใจ เราก็เต็มที่ ตอนนี้ก็มีน้องคนหนึ่งเขาเห็นผลงานพวกเราจากในเว็บไซต์ เขาก็อยากจะเรียนทำกีตาร์ เพราะเขาอยากได้กีตาร์สักตัวหนึ่งเป็นของตัวเองจากมือตัวเอง ส่วนน้องคนที่สองก็เหมือนกัน แต่คนนี้เขาตั้งใจจะมาเปิดร้านทำเป็นอาชีพเขาเลย เราก็จะช่วยเขาสุดฤทธิ์เลยเหมือนกัน สร้างช็อปอย่างไร ซื้อเครื่องมืออย่างไร เพราะเราอยากให้เขาได้ทำในสิ่งที่รัก อยากให้เขาเมื่อเลือกทางเดินแล้วไม่ใช่ทางที่ผิด เพราะกีตาร์ไม่ใช่แค่ไม้ที่ผ่านการขัดเกลาจนเป็นเครื่องดนตรีมีเสียง มันขัดเกลาชีวิตผมด้วย การที่เวลาเราขัดเกลาไม้ ทำกีตาร์มันก็เหมือนขัดเกลาเราด้วย สอนชีวิตเราด้วย ให้มีความอดทน มันต้องแลกด้วยหลายอย่าง เสียทั้งเวลา กว่าจะได้ของบางตัวออกมาดีๆ บางทีแก้แล้วแก้อีก สิ่งหนึ่งที่มันสอนผมก็คือชีวิตคนเราก็เหมือนอย่างนี้ล่ะครับ ไม่มีดีที่สุดขัดกันไปเรื่อย
• รู้สึกอย่างไรบ้างที่กลายมาเป็นคนที่สังคมยอมรับและให้โอกาส
วันนี้มันเป็นแรงผลักที่ทำให้ผมมีกำลังและสามารถไปถึงจุดกว่านี้อีก เนื่องจากพอวันหนึ่ง จุดที่เรามีแต่คนเกลียดเราทั้งชีวิตเลย ครอบครัวเราด้วย จนวันนี้ถึงจุดที่ครอบครัวกลับมารักเราหมดเลย แล้วก็เราเป็นที่ยอมรับของศิลปินบางท่าน เราภาคภูมิใจมากกับสิ่งที่เราลงไปทั้งหมดเลย แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนดีได้แล้ว เราเป็นได้แล้ว
และล่าสุดเราได้ไปออกบูทร้านค้าที่คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา เรายกกีตาร์ไป คนดนตรีก็ยอมรับทีมเรา แถมมีโอกาสพบกับท่านนายกฯ ท่านเซ็นกีตาร์ให้เรา ยิ่งย้ำให้เรารู้สึกเรามาถึงจุดที่เราสามารถไปต่อได้ เราเป็นคนปกติได้แล้ว เราสารมารถพูเดเรื่องราวในเรือนจำได้ เราสามารถเป็นพยานชีวิตได้แล้ว เพราะเรามาถึงจุดหนึ่งที่ทำให้คนที่มีอดีต เขาสามารถกลับตัวได้ วันนี้เรามาถึงความภาคภูมิใจจุดหนึ่งแล้ว แต่ไม่ถึงกับหยิ่งผยองโอ้อวดตัวเอง
ก็ยังเรียนรู้ไปเรื่อยๆ มันไม่จบไม่สิ้น เรื่องกีตาร์มันมีเทคนิคอยู่ตลอดเวลา เราดูจากต่างประเทศด้วยคนไทยด้วยช่างหลายคน เราจะมีกลุ่มของช่างทางกีตาร์ด้วยกันและพอได้วิชาใหม่ คือค้นพบกันใหม่ ก็จะส่งทอดกันต่อในกลุ่มวงการการทำกีตาร์ เพราะพวกเราทุกคนอยากจะให้วงการกีตาร์ของเรา ในบ้านเราเป็นที่ยอมรับของบ้านเราเอง ต่างชาติยอมรับเรา แต่คนไทยยังค่อนข้างน้อยที่จะยอมรับเรา เพราะเนื่องจากราคาด้วย คนไทยก็จะมีคำถาม กีตาร์ตัวสามสี่หมื่นจะไปสู้แบรนด์เนมได้ไหมอะไรแบบนี้ จนทุกวันนี้คนไทยบ้างส่วนเริ่มยอมรับเราแล้ว เนื่องจากคุณภาพ เขาซื้อกีตาร์ของเรา เพราะคุณภาพของกีตาร์แล้วไม่ได้ซื้อด้วยความเสน่หา
ส่วนเรื่องชีวิตคนในนี้ส่วนมากมาเพื่อที่จะพัฒนาชีวิต มาเพื่อจะย้อมตัวสร้างชีวิตให้เขาดีขึ้น บางคนก็ดูผมเป็นตัวอย่างบ้าง ผมก็จะช่วยสอนเขา บอกเขาว่าอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะมีหลายคนเพิ่งออกมาจากเรือนจำมาอยู่ที่นี่ เวลาที่เขามองผมทำกีตาร์เสร็จแล้ว พี่ปุ๊ซื้อแล้ว ท่านนายกฯ เซ็นแล้ว เขาไม่ได้มองว่าผมมาอย่างไร เขามองที่ความสำเร็จตรงจุดหนึ่งแล้ว ผมก็เลยอธิบายว่าเดี๋ยวก่อน ก่อนผมมาวันนี้ ผมก็ลำบากเหมือนพี่ ผมก็สู้ ทุกอย่างมันมีกระบวนการของมัน 1-2-3-4 อย่ามองว่าผมสำเร็จแล้ว ผมก็จะแนะนำเขาแบบนี้ สอนเขาแบบนี้ ผมเป็นกำลังใจให้พี่ สิ่งที่พี่ทำมันถูกต้องแล้ว แต่เวลาของพี่กับผมยังมาไม่ถึง
ก็อยากจะบอกสำหรับคนที่เคยผิดพลาดในอดีตว่าคนเรามันท้อได้ แต่อย่าถอย ชีวิตชีวิตหนึ่งมันมีคุณค่าในตัวเราเอง อันดับแรกเลย เราต้องเห็นคุณค่าของตัวเราเองก่อน ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของตัวเราเอง ใครจะเห็น มันจะยากมากเลยที่เราจะสามารถไปต่อได้ ไม่ว่าคุณจะเคยผ่านชีวิตแบบไหนมาก็ตามแต่ จะผ่านในเรือนจำมาหรือว่าเคยประสบความล้มเหลวมา ชีวิตคนมีขึ้นมีลง แต่เวลาลงแล้วทำอย่างไรให้ประคองไม่ให้ลงต่ำไปกว่านั้น
ผมก็อยากจะเป็นกำลังใจให้ ก็อยากให้ชีวิตของผมได้เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนหลายๆ คน ฝากถึงพี่น้องผู้ต้องขังที่อยู่ข้างใน ถ้าเกิดอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าเกิดรู้สึกท้อหรือว่าอยากจะมีโอกาส อยากจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราเริ่มต้นได้หมดทุกคนเลย อยากให้ทุกคนเริ่มปลูกฝังจิตใต้สำนึกที่ดีก่อนแล้วออกมาหามูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียนก็ได้ เดี๋ยวเราจะเป็นตัวที่จะช่วยให้โอกาสและเสริมสร้างเขา และรวมถึงผมจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเขาสามารถผลักดันให้เขาไปถึงจุดหนึ่งได้ เขาสามารถเป็นคนดีได้ทุกคน แต่ขอให้สร้างกำลังใจให้ตัวเองก่อน อย่าเพิ่งไปท้อ อย่าเพิ่งไปมองตัวเองไม่มีค่า อย่าเพิ่งไปตัดพ้อกับชีวิต
....และนี่คือเรื่องราว “บ้านพระพร” บ้านที่ตั้งมาจากความหมายถึงการให้พรแก่ชีวิตใหม่สำหรับทุกคน และเมื่อได้รับพรนั้นสมดั่งที่หวังแล้ว จงนำพรนั้นๆ ที่เคยได้รับส่งต่อผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนในความหมายของ อาจารย์สุนทร สุนทรธาราวงศ์
"สิ่งที่ผมช่วยคนเหล่านี้ผมไม่ค่อยคิดถึงเรื่องบุญคุณ และผมจะบอกกับเด็กทุกคนเลย ว่าอย่าคิดเรื่องบุญคุณกันกับผม เพราะนี่เป็นความรักที่อยากจะเห็นเขามีอนาคตเท่านั้น ฉะนั้น ผมเลยคิดว่าความรักตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของบุญคุณ ผมไม่อยากให้คนเหล่านี้คิดว่าจะต้องมาชดใช้ แต่ถ้าคุณเห็นว่าผมมีความรักในการช่วยเหลือคุณ วันหนึ่งคุณแข็งแรง ขอให้คุณส่งต่อความรักเหล่านี้ไปสู่คนอื่น คุณไม่ต้องมาตอบแทนผม แต่คุณไปทำให้คนอื่น วันหนึ่งคุณเห็นคนหนึ่งที่ด้อยโอกาส แล้วคุณเคยเป็นผู้ด้อยโอกาส คุณลองคิด คุณจะทำอะไรให้คนนั้นได้บ้าง
"นั่นคือสิ่งที่ผมปรารถนา การส่งต่อเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้น ไม่ต้องกลับมาตอบแทนบุญคุณ ส่งต่อไปในสิ่งที่คุณเห็นและคุณได้ ถ้าคุณได้จากที่นี่มากเท่าไหร่ คุณให้คนต่อไปเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่เราสอนเขา"
มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน : 600/199 ชุมชนบึงพระราม 9 ถ.ริมคลองลาดพร้าว แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 เบอร์โทรศัพท์ 0-2719-7277 แฟกซ์ 0-2716-9574 E-mail : soonwong@hotmail.com
ติดตามชมเรื่องราวของช่างหรั่งและบ้านพระพร ผ่านสารคดีสร้างสรรค์สังคม บ้านเล็กในเมืองใหญ่ ตอนพี่สอนน้องซึ่ง "ปุ๊ อัญชลี จงคดีกิจ" จะพาไปเยี่ยมชม ได้ที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/บ้านเล็กในเมืองใหญ่
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร
นับระยะเวลาตอนนี้ก็ราวกว่า 3 ปี 4 เดือน ที่มีผู้คนนับถือยกย่องเป็นต้นแบบอย่างเดินตามและกลายเป็นที่ยอมรับของคนดนตรีหรือศิลปินระดับประเทศในบ้านเรา เรื่องราวของเขา “ช่างหรั่ง” หรือ “อัครินทร์” จึงเสมือนเป็นบทเรียนแก่ชีวิตและสังคมอีกด้าน ที่ไม่ใช่เรื่องราวสวยงาม เพราะกว่าจะผ่านพ้นออกมาได้ มันมีแต่โมงยามแห่งความพลาดพลั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตีวนอลหม่าน ยากเจอทางออก
จึงไม่มีคำพูดสวยหรูกรอกปลอบใจยามทำผิดทำนอง “ต้องชั่วก่อนถึงจะดีได้”
มีเพียงแต่สารแห่งความจริงที่มุ่งหวังให้เห็นผลและโทษหากไม่อยากเป็นอย่าง “เขา”...
เปิดชีวิตอดีตนักโทษ
นช.ก็เหมือนคนทั่วไป
"คือก่อนหน้านี้ผมก็เป็นเหมือนคนทั่วไป ครอบครัวอบอุ่น มีคุณพ่อคุณแม่ พี่สาว 2 คน น้องสาว 1 คน ฐานะทางบ้านก็ค่อนข้างดี เนื่องจากคุณพ่อเป็นชาวต่างชาติ ทำทั้งธุรกิจแล้วก็เป็นอาจารย์สอนภาษา จนกระทั่งตอนอายุ 6 ขวบ คุณแม่เสีย ฐานะที่บ้านก็เริ่มดาวน์ลง"
แม้ว่าพ่อซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวจะยืนหยัดอย่างไร แต่ด้วยจำนวนสมาชิกครอบครัวกว่า 4 ปากท้องในวัยกำลังเติบโต ทำให้ต้องแยกย้าย พี่สาวคนโตไปอยู่กับญาติๆ ทางฝ่ายแม่ น้องคนเล็กมีผู้อุปการะไปเลี้ยงดู เหลือเพียงพี่สาวคนรอง คุณพ่อ และหรั่ง 3 คน เท่านั้น
"ก็อยู่กันตามประสา ตอนนั้นผมเรียนโรงเรียนวัด ก็เจอเพื่อนที่ค่อนข้างจะชักนำไปในทางที่เกเร แต่เราก็ไม่ได้โทษเพื่อนหรือโทษสังคม เพราะพี่สาวผมก็เรียนโรงเรียนวัด แต่เขาก็เป็นคนดีได้ คือเราชอบอยู่แล้วด้วย เพราะว่าเราอยู่ตรงนั้น เราถูกรังแกตั้งแต่เด็กๆ เรารู้สึกว่า เฮ้ย เราไม่อยากถูกรังแก ถูกแกล้ง เราก็เลยรู้สึกว่าเราเป็นอันธพาลดีกว่า จะได้ไม่ต้องโดนแกล้ง มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนั้นมา"
"จนอายุ 15 ผมเริ่มถูกจับเข้าสถานพินิจครั้งแรกในคดีพรากผู้เยาว์ จำได้ว่าตอนนั้นเรียนอยู่ในชั้น ม.3 ในเทอมแรก แต่ในฐานะที่เราไม่ได้ทำ เราแค่อยู่ในกลุ่มเพื่อนเราที่เป็นคนทำพอดี เรื่องมันก็เลยถึงกับขึ้นโรงขึ้นศาล ผมถูกจับเข้าไปในสถานพินิจ แล้วคุณพ่อก็ไปประกันทีหลัง แต่หลังจากนั้นมา ผมรู้สึกว่าชีวิตพอเข้าไปอยู่ในสถานพินิจแล้วมันไม่ได้สอนให้เราเป็นคนดี ข้างในมันมีแต่สภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างจะเอาเปรียบซึ่งกันและกันมากกว่า มันทำให้เราเอาตัวรอด”
ต้องรอด! เรื่อยมาอย่างนี้...เรื่อยมา จนถลำลึกติดเป็นความคิดและพฤติกรรมเดินสู่เส้นทางความรุนแรง สู่ยาเสพติด
"พอออกมาจากสถานพินิจ เราก็รู้สึกว่าเราเท่นะ เราเคยผ่านสถานพินิจมา เราคิดว่าเราแข็งแกร่งแล้ว ออกมาก็เริ่มลองยาเสพติดบ้าง คราวนี้เริ่มถูกจับเพราะตัวเอง แล้วก็เข้าๆ ออกๆ อยู่อย่างนั้น 5-6 ครั้ง ในช่วงเวลาแค่ 3 ปี ตอนอายุ 15-18 ปี ตัดสินโทษ 6 เดือนบ้าง 1 ปีบ้าง
"จนมาถึงจุดจุดหนึ่ง คุณพ่อไม่ไหวแล้ว และสุดท้ายท่านก็เสียไป ในช่วงที่คุณพ่อเสีย ผมก็ติดทหารเกณฑ์ด้วย แต่เราก็คิดว่าในระยะเวลาที่เป็นทหาร เป็นระยะเวลาที่ดีมากสำหรับผม ในช่วง 2-3 เดือนนั้น ด้วยกฎด้วยระเบียบ แต่มันไม่สามารถทำให้ผมคิดได้ ก็กลับมาติดยาอีก พอติดยาหนักขึ้นก็เริ่มทำสิ่งไม่ดีแล้ว ก็ไปโดนจับยาเสพติดเข้าเรือนจำทหารอีก ติดเรือนจำทหารอยู่ 1 ปี 6 เดือน มันก็สอนให้เราเอาตัวรอดอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา"
การติดเรือนจำทหารครั้งนั้นเสมือนฟ้าที่เคยใส ค่อยๆ มืดลง ฉากชีวิตเดิมๆ เพราะสังคมในเรือนจำยิ่งย้ำให้เขาบอกตัวเองเสมอๆ คนที่มีประวัติสังคม การที่จะออกไปเริ่มต้นใหม่เป็นคนดีคงจะไม่มีทางเสียแล้ว
“ชีวิตนี้เราไม่สามารถเป็นคนดีได้หรอก เพราะว่าคนอย่างเรามีประวัติ เราออกมาข้างนอก ถ้าเกิดฐานะทางบ้านเราไม่ได้เอื้ออำนวย ก็ยากที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้ เราจะถูกตอกย้ำด้วยคำพูดนี้อยู่เสมอ เพราะว่าการที่เราเข้าสู่เรือนจำ เรามีประวัติแน่นอน พอถึงเวลาจริงเราไปสมัครงานข้างนอกทั่วไป เขาก็ต้องตรวจสอบประวัติ พอเขาเห็นเรามีประวัติ ภาพแรกที่เขามองเห็นเราคือ น่ากลัว เราคิดของเราไปเอง เออเอง ตอบเอง หมดแล้ว เขาไม่เอาเราหรอก เรามีรอยสักด้วย ใครจะเอาเรา เราก็คิดอย่างนี้เสมอ"
"คือสายตาที่มองมันเป็นความรู้สึกที่เราเดาได้ ผมคิดว่าคนเรามันมีสัญชาตญาณอยู่แล้ว อย่างผมหน้าตาอาจจะไม่เหมือนคนในเรือนจำสักเท่าไหร่ แต่พอผมพูด ผมเคยเป็นอดีตผู้ต้องขังนะ สภาวะที่เขามองเรา สมมติว่าคนปกติทั่วๆ ไป เขาก็จะรู้สึกห่างๆ นิดหนึ่ง สายตาเขาจะเหมือนขาดความเชื่อถือในตัวเราไป มีความหวาดกลัวเป็นภาพแรก เราสัมผัสตรงนี้มาเยอะในช่วงกระบวนการที่ผมยังไม่มาถึงจุดนี้ มันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราบั่นทอนชีวิตเราเหมือนกัน แต่เราก็ต้องทำใจ เพราะเราทำสิ่งที่ผิดพลาดมาทั้งหมด ไม่มีใครใช้ให้ทำ เราทำเอง
"ก็เข้าสู่กระบวนการเดิม และหนักขึ้น ติดยามากขึ้น เสร็จแล้วก็ทำผิดอีก ครั้งนี้เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ศาลตัดสินผม 10 ปี ช่วงเวลานั้นผมคิดเลยว่าโทษ 10 ปี ชีวิตคงยากแล้ว อย่างที่บอกไป อยู่ในเรือนจำได้ 4-5 ปี ผมก็เกเรหนักขึ้นๆ เกไปเกมาจนมาถึงจุดหนึ่ง ผมมาคิดแล้วว่าผมคงไม่เอาแล้ว ชีวิตนี้คงเป็นคนดีไม่ได้แล้ว มันหมดสภาพ"
โอกาสแห่งชีวิต
กับการเริ่มต้นที่ความคิด-จิตใจ
เมื่อไม่มีแล้วซึ่งความหวัง หมุดหมายของหัวใจหล่นหายในซังเต ชีวิตทั้งชีวิตคงพังเพ ก้าวไม่พ้นม่านเหล็กกรงขัง แต่ "ท่ามกลางทางตันยังมีทางออกเสมอ" ชีวิตของหรั่งก็คงจะคล้ายอย่างนั้น เพราะในทุกครั้งที่ถึงสถานการณ์อย่างนี้ ก็ยังคงมีพี่สาวผู้ประหนึ่งนางฟ้าผู้คอยช่วยเหลือชี้ทางออกให้แก่เขาอยู่เสมอๆ
"คือออกมาครั้งล่าสุด ตอนแรกเราก็คิดว่าเขาจะเอือมระอาเราแล้ว แต่จริงๆ เขายังรักเรา รักเราเสมอ พี่สาวคนนี้ไม่เคยทอดทิ้งผม แต่เราก็ยังทำผิดซ้ำๆ ออกมาบอกว่าจะไม่ทำแล้วๆ จะกลับตัวแล้วนะ แต่ก็กลับไปทำอีก พี่สาวผมเขาก็สามารถหางานให้ผมได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พี่สาวพูดกับผมเสมอว่า "เงินไม่สามารถทำให้ผมเป็นคนดีได้" พี่สาวผมก็เลยบอกว่าในการถูกปลูกฝังจากที่นี้มันอาจจะสามารถทำให้ผมเป็นคนดีได้ คือมันต้องเปลี่ยนจากกระบวนการความคิดก่อน ถ้าความคิดไม่เปลี่ยนท่าจะยากสำหรับผม เขาก็เลยเหมือนลองใจให้ผมลองอยู่ที่นี่ ที่บ้านพระพร ก่อน 3 เดือน ว่าเราจะทำได้อย่างที่พูดไหม"
นั่นจึงทำให้เขาได้รู้จักกับ “บ้านพระพร” บ้านกึ่งวิถี หนึ่งในมูลนิธิสังกัดพันธกิจเรือนจำคริสเตียน ซึ่งแปลงเปลี่ยนหัวใจที่เลื่อนลอยไร้จุดหมายให้เห็นทางสว่างสำหรับย่างก้าวต่อไป
"ที่นี่จะปลูกฝังความหวังให้เป็นโอกาสอย่างที่ผมไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน เขาไม่ได้เพียงแค่พูดใช้วาทศิลป์ ใช่คุณธรรมเปลี่ยนความคิด แต่เขาสร้างความฝันให้เราใหม่ ที่นี่ทำให้ผมฝันอีกครั้ง แล้วเขาก็สนับสนุนให้เราเป็นจริง คือส่วนลึกๆ ชีวิตไปถึงจุดที่เลวร้ายสุดๆ แต่ผมก็อยากจะมีชีวิตที่เหมือนคนทั่วไปที่ดีๆ ตลอดเวลา รวมถึงคนทุกคนในเรือนจำทุกคนด้วย เขาอยากเป็นคนดีหมด ที่ผมสามารถพูดอย่างนี้ได้ เพราะผมอยู่กับเขามาเป็นระยะเวลา 8 ปีกว่า แล้วผมมีเพื่อนในเรือนจำเยอะมาก ทุกคนอยากเป็นคนดีหมด
"แต่เนื่องจากเขาถูกปลูกฝังสภาพจิตใจที่ก้าวร้าว ความต้องการที่เกินตัว อย่างเช่น อยากมีเงินมากขึ้น แล้วก็ยังรักสบาย รักสนุก สิ่งพวกนี้ทำให้เขาไม่สามารถเปลี่ยนได้เพราะการที่เขาทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เงินเดือน 9,000 บาท แล้วถ้ายังกินเหล้าอยู่ ยังสูบบุหรี่อยู่ ยังเที่ยวอยู่ เงินจำนวนนั้นมันไม่พอใช้ พอไม่พอใช้ เขาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการเดิมเพื่อตอบสนอง แล้วก็เนื่องจากความกลัวด้วย ข้างนอกเวลาสายตาคนมองพวกเรา เขาก็แพ้แล้ว เขาไม่สู้แล้ว พอเจอคนเหยียดหยามเขาก็ไม่เอาแล้ว ผมก็เคย ผมมาฝึก ชีวิตผมก็เจอหลายๆ คนเหยียดหยาม แต่ผมก็ก้มหน้าก้มตาสู้ไป หลายๆ ครั้งผมก็เคยจะถอดใจเหมือนกัน แต่ผมก็รู้สึกว่าผมอยากมีชีวิตใหม่จริงๆ"
"หลายๆ คนที่มาที่นี้ก็มีจุดประสงค์ไม่เหมือนกัน บางคนอยากได้งาน ก็มาฝึกอาชีพ กลับไปเขาก็สร้างชีวิตใหม่ได้ เป็นคนดีได้แล้ว แต่จุดประสงค์ของผมที่มา จำได้ว่าอาจารย์พ่อถามว่าอยากได้งานไหม ผมไม่ต้องการ พี่สาวผมหางานให้ได้ แต่สิ่งเดียวที่ผมอยากได้คือผมอยากได้ชีวิตใหม่จริงๆ ชีวิตที่แบบว่าวันหนึ่งผมไม่ต้องไปคิดเรื่องว่าเวลาไม่มีเงิน ต้องไปขายยาเสพติด ผมต้องการความคิดแบบนี้ เราเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานความเป็นคนดี วันนี้ถ้าเราอยากจะเริ่มต้นใหม่ เราต้องทิ้งทุกอย่าง แล้วก็เริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ รับใหม่ คือเปลี่ยนล้างสมองผมหน่อย ต้องพูดว่าล้างสมอง เพราะถ้าไม่ล้างสมองผม ผมก็จะคิดแต่สิ่งเดิมๆ สมมติง่ายๆ วันนี้ผมตกงาน ไม่มีคนที่คอยช่วยเหลือ ผมก็ต้องกลับสู่กระบวนการเดิม ไปหากลุ่มเพื่อนกลุ่มเดิมๆ เพื่อที่จะหาเงินจุนเจือตัวเอง"
ซึ่งนอกจากปลูกความหวัง สร้างคุณธรรมนำใจขึ้นใหม่ ให้กับผู้พ้นโทษ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ใครต่อใครเมื่อก้าวผ่านพ้นประตูออกจากบ้านหลังนี้ พ้นอดีตและไม่หวนกลับมากระทำผิดอีก นั่นก็คือ "ความเข้าใจ"
ภายใต้ชายคาหลังดังกล่าวนี้ มีผู้ดูแลที่เปรียบเสมือนเสาหลักของบ้าน ซึ่งทุกคนเรียกขานว่า “อาจารย์พ่อ” - สุนทร สุนทรธาราวงศ์ - อดีตชายหนุ่มผู้เคยถลำเกินกฎเกณฑ์ของสังคมบัญญัติคำว่า "คนดี"
"เพราะว่าผมผ่านชีวิตที่เหลวแหลกมาก่อนเหมือนกัน” อาจารย์พ่อ เล่า
ชีวิตก่อนหน้านั้นผมเคยเป็นนักการพนัน ผมเป็นคนที่เสเพลในสังคม แต่ทีนี้ผมได้โอกาสจากคนที่ให้โอกาสผม แล้วผมก็กลับเนื้อกลับตัวแล้วก็เป็นคนที่ดีได้ ผมเลยคิดว่า คนเราสร้างได้ คนเหล่านี้ถ้าเราจริงจังและตั้งใจช่วยเขา เขาสามารถกลับตัวได้" อาจารย์สุนทร เผย ชีวิตลึกๆ ก่อนจะเล่าถึงเส้นทางที่ทำให้เบนเข็มชีวิตอุทิศตั้งมั่นให้กับศาสนา ก่อนจะมาผูกพันกับการช่วยเหลืออดีตผู้กระทำความผิดมายาวนานกว่า 32 ปี ตั้งแต่ในช่วงราวปีต้น พ.ศ. 2520 เรื่อยมา
"จริงๆ ผมไม่เคยคิดที่จะมาทำงานนี้เลย ไม่เคยคิดเลย ผมเรียนจบปริญญาโทจากอเมริกา แล้วก็ตั้งใจจะมาทำงานในรูปแบบทางศาสนาซะมากกว่า หลังจากนั้นกลับมาบ้านที่เมืองไทยก็บังเอิญไปรู้จักฝรั่งคนหนึ่ง คือผมไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นมูลนิธิ จริงๆ ที่นี่เริ่มต้นโดยฝรั่งคนหนึ่ง เขาชื่อ 'Jack martin' เขาเป็นคนอเมริกัน พอดีเขาไปรู้จักอธิบดีกรมราชทัณฑ์แล้วเขาขออนุญาตไปสอนภาษาอังกฤษให้นักโทษในคุก แต่ว่าภาษาไทยของเขาไม่ได้แข็งแรงพอ จนกระทั่งผมมารู้จักเขา เขาก็มาเชิญชวนบอกว่ามีคนไทยที่สนใจอยากจะให้พวกเขาไปสอนอะไรต่ออะไร ผมก็เลยลองไปดู
"แต่พอเข้าไปเห็นความสนอกสนใจของพวกนักโทษ จากตอนแรกจะเข้าไปสักครั้งสองครั้งก็พอแล้ว ก็เกิดชอบ เกิดความคิดว่าน่าจะช่วยคนพวกนี้ น่าจะส่งเสริมเขา ก็เลยตกลงคุยว่าจะช่วยเขา แต่ว่าต้องมาบูรณาการเรื่องการทำงานใหม่ ไม่ใช่มาเย้วๆ แล้วก็กลับเท่านั้น หลังจากนั้นต่อมาก็มาช่วยกันจัดระบบว่าวิธีการเข้าไปอย่างไร ต้องเรียนอย่างไร ทำอย่างไร มันเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง"
"ก็ทำเรื่อยมาจนประจวบเหมาะกับในช่วงเวลานั้นที่ประมาณปี พ.ศ. 2546 ผมพยายามดูว่าในประเทศไทย เรามีองค์กร หน่วยงานใดๆ ไหมที่ทำงานช่วยเหลือนักโทษ นั่นก็อีกประเด็นหนึ่งที่ผมเอามาดูว่ามี พยายามศึกษาดูว่ามีองค์กรช่วยเหลือคนตาบอด ช่วยเหลือคนพิการ ช่วยเหลือผู้หญิงถูกรังแก แต่ว่าไม่มีองค์กรที่ถูกจัดตั้งและก็ช่วยเหลือนักโทษและผู้พ้นโทษโดยตรงไม่มีเลย จนถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มี ดังนั้นทั้งหมดเป็นเหตุที่จูงใจให้ผมตัดสินใจว่าจะเป็นคนริเริ่มโครงการนี้ เลยเกิดวิสัยทัศน์จดทะเบียนเป็นมูลนิธิจัดจุดประสงค์ช่วยคนพวกนี้"
1.เพื่อเป็นศูนย์อบรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
2.เพื่อเป็นสถานที่ให้ความช่วยเหลือที่พักชั่วคราวแก่ผู้พ้นโทษ
3.เพื่อเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาแก่เยาวชนและเด็กๆ
4.เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอาชีพและประสานงานด้านจัดหาอาชีพแก่ผู้พ้นโทษ
5.เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานติดต่อดูแลผู้พ้นโทษ ให้เป็นคนดีคืนสู่สังคม
และเมื่อหลังพ้นระยะ 3-6 เดือน ก็จะยังคงดูแลต่อ จัดหาในเรื่องสถานที่พักใกล้อาชีพ (สำหรับผู้ที่ประสงค์ประกอบอาชีพส่วนตัว ก็จะมีการจัดหาทุนเริ่มต้นให้) จากนั้นก็จะมีทีมติดตามดูแลอีก 1 ปี เพื่อแน่ใจว่าเขารอดและทำงานอย่างมั่นคงประหนึ่งครอบครัวที่ฟูมฟักลูกหลานจนเติบใหญ่ และหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือหรั่ง
"ถ้าที่นี่ไม่ช่วยเหลือเราเราจะไปอยู่ที่ไหนตอนนี้ก็คงไปอยู่ในเรือนจำที่ไหนสักแห่ง” ช่างหรั่ง เล่าต่อ
“โอกาสจึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่คนที่ให้โอกาสต้องมีความอดทนนิดหนึ่ง เพราะว่าคนในเรือนจำ ผมยอมรับว่าสภาวะจิตใจของเขา ขอให้เราเข้าใจเขาว่าเขาเป็นผู้ด้อยโอกาส อย่างเช่น เขามีสภาวะจิตใจปรวนแปรง่าย เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวทำงาน เดี๋ยวลาออก แต่ถ้าสังคมให้โอกาสคนพวกนี้เพิ่มมากขึ้น มีความอดทน คือเราพูดแบบตรงๆ สงสารนิดหนึ่ง ให้เข้าใจเขานิดหนึ่ง มันไม่เหมือนคนทั่วไป บางคนมาได้โอกาสครั้งเดียว เขาก็ประสบความสำเร็จ บางคนมาแล้วผิดแล้วผิดอีกๆๆ แต่ยังช่วยอยู่ ก็มีสักวัน ถ้าเขาไม่ได้ทำผิดจนเรารับไม่ได้แล้วจริงๆ นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่อยากให้โอกาสเพราะที่นี่เป็นแบบนั้น"
"แน่นอนว่ามันยาก เพราะผมมาที่นี่ผมมีช่วงแรกๆ ผมก็มีเวลาที่ท้อใจ ผมออกไปกินเหล้าเลย ทิ้งที่นี่เลย กลางคืนเก็บเสื้อผ้าไปเลย ไปกินเหล้ากับเพื่อนเสร็จ หายเมารู้สึกว่าถ้าอยู่อย่างนี้ตายแน่เลยชีวิตผม ก็โทรศัพท์ติดต่อหาอาจารย์พ่อเลย อาจารย์ครับผมขอกลับมาได้ไหม เขาก็บอกว่าหรั่งเริ่มใหม่ ผมกลับมาเขาไม่ถามผมเลย หนีไปทำไม ไปกินเหล่าทำไม เขาไม่เคยถามผม เขาบอกเริ่มต้นใหม่ “เอ้า ล้างหน้าล้างตา สู้ๆ...”
"ครั้งที่ 2 ผมไปอยู่กับเพื่อนอีก ไปกินเที่ยวจน 5 ทุ่มกว่าแล้ว เพื่อนให้กินเบียร์ผมก็กิน กินเสร็จชีวิตก็เริ่มพัง อาจารย์โทร.ตามหรั่งไปไหน กลับไหม เราทำไป 2 ครั้งแล้วอาจารย์ก็ยังให้โอกาส
"ครั้งที่ 3 ทำท่าเป็นแบบนนี้อีก อาจารย์ให้โอกาสอีก ผมเลิกแล้ว บอกครั้งที่ 3 ผมพอแล้ว"
ช่างหรั่งเล่า พลางพาหวนย้อนถึงช่วงเวลาที่ไม่ง่ายเลยสำหรับชีวิตของคนที่สังคมไม่ยอมรับ นอกจากเพื่อนฝูงกลุ่มก๊วนแนวร่วมทางเดียวกันเท่านั้น
"ผมคิดว่าคนไหนเข้าใจคือเพื่อนเรา ถ้าไม่เข้าใจก็จำเป็นต้องเลิกคบ ผมยอม ผมต้องตัดสังคมเดิม ถ้าไม่ตัด เราก็จะหวนกลับไปสิ่งเดิมๆ เราจำเป็นต้องหาสังคมใหม่ หาเพื่อนใหม่ ในชั่วโมงนั้นผมได้เพื่อนที่นี่ พี่น้องที่นี่ เขาก็เสริมสร้างเราไปในทางใหม่ๆ มันก็ขึ้นอยู่กับเราด้วย ถ้าเราฟังสิ่งที่ไม่ดีอยู่ตลอดเวลา เราก็จะกลายเป็นคนไม่ดี ถ้าเราไปฟังสิ่งดีๆ กับคนดีๆ มันก็เสริมสร้างเรา"
"คือเรารู้แล้ว คือเราติดในเรือนจำมาถึงจุดกระบวนการเรารู้แล้ว ถามว่าถ้าเรากลับไปเมื่อไหร่นะ เราจะเข้าสู่กระบวนการเดิมทั้งนั้นเลย เราผิดพลาดมาทั้งชีวิต เกือบครึ่งที่ผมอยู่ในสถานกักกัน ผมจึงจำเป็นต้องใจแข็ง ตัดเพื่อนหมดเลย ผมเลิกคบทันทีในชั่วโมงนั้น โทรศัพท์ไม่เอา ไม่พูดไม่คุยอะไรทั้งสิ้น หายไปเลย ผมรู้สึกว่าผมได้รับโอกาส มันเหมือนจุดจุดหนึ่งที่เขายังให้โอกาส ทั้งๆ ที่เขาสามารถรับคนได้มากมาย เขาช่วยเหลือคนมากมาย ทำไมเขาต้องทุ่มเท ทำไมเขาเอาเวลามาเสียกับเรา เสียเงินเสียทองกับเรา ทำไมเขาไม่เอาไปเสียกับเยาวชนคนอื่น คือเรารู้สึกว่าเขามองว่าเรามีคุณค่ามาก มันทำให้กลายเป็นจุดเปลี่ยน
"หลังจากผมผ่านมาประมาณ 2 ปี ผมสำแดงชีวิตว่าผมเป็นคนแบบนี้แล้วกับเพื่อนๆ เวลาพ้นโทษออกมา ก็ไม่มีแล้วที่จะชวนไปกินเหล้า ก็เป็นกินข้าว กินข้าวก็เฮฮาได้ กินน้ำเปล่าก็หัวเราะได้ ถามว่ามีตังค์ใช่ไหม มี แต่ก็ไม่ชวนไปทำสิ่งไม่ดีแล้ว เพื่อนยอมรับหมด ไม่ชวนไปทำสิ่งไม่ดีเลย เขายอมรับว่าผมสามารถเป็นคนดีได้แล้ว"
"เรามีโอกาสผิดพลาดได้บ่อยครั้งเท่าไหร่ เราก็เดินถูกทางมากขึ้นเท่านั้น..." ทุกวันนี้ก็มีเพื่อนพ้องหลายต่อหลายคนที่เมื่อเห็นเช่นนั้น เขียนเล่าเรื่องราวผ่านจดหมายร่อนตรงส่งมาที่เลขที่ “บ้านพระพร” หวังให้เป็นพยานชีวิต
"เรือนจำบางครั้งมันก็สอนเรานะ ให้รู้คน ชีวิตคนเป็นอย่างไร เพราะอะไรคนถึงเห็นแก่ตัว คือมันมีหลายสถานการณ์ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคน มันก็ทำให้ผมได้เรียนรู้กับคนมากขึ้นว่าแต่ละคนมีความรู้สึกอย่างไร มีความคิดอ่านอย่างไร อันไหนเป็นจุดของเขา จนวันนี้ผมก็มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนพวกนี้ ผมก็เลยค่อนข้างที่จะได้เปรียบนิดหนึ่ง เพราะว่าเราเคยกินนอน เราเคยรู้จักคนพวกนี้ แล้วเราก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ยจิตใจลึกๆ ของเขาเขาเป็นอย่างไร มันทำให้เวลาที่ผมพูดกับเขามันจะเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย และเขาค่อนข้างจะยอมรับ เพราะว่าอย่างคนในเรือนจำ เราเอาคนที่ประสบความสำเร็จแบบคนปกติ จบปริญญาโท ปริญญาเอก ไปพูดให้เขาฟัง เขาไม่ฟัง มันจะมีคำถามเสมอๆ คุณประสบความสำเร็จ คุณเคยมาติดคุกไหม คุณเคยมีประวัติอย่างนี้ไหม เดี๋ยวถ้าติดเมื่อไหร่คุณจะทำได้ไหม
"แต่อย่างผมเป็นคนที่เคยเป็นอดีตในเรือนจำ เคยเกเรเหมือนพวกเขา พอผมประสบความสำเร็จจุดหนึ่ง คือมีชีวิตที่ดีขึ้นได้แล้ว มันทำให้เขารู้สึกมีน้ำหนักในการฟัง เขาก็รู้สึกว่าเขาก็ทำได้ ตอนนี้ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่ง ก่อนนั้นทำตัวไม่ดี แต่ตอนนี้หยุดแล้ว แล้วเขาบอกว่าผมจะหางานหาการทำที่สุจริต ถ้ามีอะไรจะมาปรึกษาเราให้หรั่งช่วย แล้วมีเพื่อนอีกคนอยู่ในเรือนจำ เขาเห็นชีวิตผมว่าเปลี่ยนแปลงได้ เขาก็อยากเปลี่ยน เขาก็เขียนจดหมายมาว่า เดี๋ยวพ้นโทษจะมาอยู่นะ เพื่อต้องการเปลี่ยนชีวิตเหมือนกัน เราก็รู้สึกภูมิใจมากเลยที่เราสามารถสร้างผลกระทบได้ 2 คนแล้ว คือนำคนสองคนให้เปลี่ยนตนเองได้
"คือการจะเปลี่ยนตัวเองเป็นคนดี มันขึ้นอยู่กับความต้องการก่อน ต้องถามเขาก่อน คุณอยากเป็นคนดีไหม ถ้าเกิดว่าเรายังไม่อยากเป็น ยังไม่มีแรงผลักอยากเป็น หรือไม่อยากเป็นคนดีเลย กลับตัวมันยาก เขาปิดประตู แต่ถ้าเขาอยากเป็นคนดี แต่บังเอิญว่าชั่วโมงนี้เขามีภาระจำเป็นที่ต้องทำไม่ดี ก็ไม่รู้จะเป็นคนดีได้อย่างไร เราก็จะนำเรื่องเขาไปปรึกษาผู้ใหญ่ เราบอกให้เขาเป็นคนดีได้ แต่เราต้องมีช่องทางให้เขา การมีช่องทาง มีงานสุจริตให้เขา พอเขาได้รับงานสุจริต เขาก็สามารถทิ้งงานเดิมๆ สิ่งเดิมๆ ได้ เราก็ต้องดูตามสถานการณ์เขาไป
"วันนี้เราต้องรับสภาพแล้วต้องผ่านจุดนี้ไปให้ได้ ถ้าผ่านความกลัวตรงจุดนี้ไปได้ ผมว่าทุกคนน่าจะประสบความสำเร็จได้ ทุกคนเปลี่ยนได้ แต่มันก็ยังกลัว เพราะมันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันบั่นทอนชีวิตของเขา ทำให้เขาไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมายืนได้ แต่ผมเชื่อว่าหากเราตั้งใจ เราทำได้ แต่เราอาจจะต้องทำทุกอย่าง 2 เท่า ถ้าไม่ 2 เท่าก็คงจะช้ากว่าคนอื่น เราก็ต้องพัฒนาตัวเองให้คนเขาเห็นให้ได้"
กำเนิดเทพกีตาร์ทำมือ
'Blessing Custom Guitars'
หลังโลดแล่นในโลกมืดจนผ่านพ้นเจอหนทางสว่าง ก็เสมือนต้นไม้หลังฤดูร้อนที่เข้าสู่กาลฝน แตกดอกออกใบ เขียวชอุ่มในโลกใหม่ที่ไม่แห้งแล้งดังเดิม...
• พอกลายเป็นคนดีอย่างที่หวัง จากนั้นเราเดินทางเข้าสู่วงการกีตาร์ได้อย่างไร
คือช่วงหลังจาก 3 เดือนนั้นที่เราเปลี่ยนความคิดใหม่หมดแล้ว พอดีทางพี่แหลม (ณรงค์ชัย อร่ามเรืองสกุล) เขาเป็นเจ้าของโรงงานทำกีตาร์ ได้เข้ามารู้จักกับทางมูลนิธิ เขาบอกกับอาจารย์ว่าอยากส่งเสริมอาชีพสามารถยืนหยัดในสังคมได้ ตอนนั้นเราก็ได้รับโอกาส กับน้องอีกหนึ่งคน แรกๆ ก็คิดว่าเราจะทำไม่ได้ เราไม่มีความรู้ แต่ผมชอบงานศิลปะตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ไม่ว่าจะการประดิดประดอย ทำหุ่นยนต์ สมัยผมเรียนผมจะได้รางวัลประจำในการวาดรูป ผมเป็นคนเกเรตั้งแต่เด็กก็จริง แต่ผมจะเก่งทางด้านศิลปะ ได้เกรด 4 ตลอด (ยิ้ม)
ถ้ามีชั่วโมงศิลปะ ผมจะไม่ไม่โดดเรียน จะอยู่ตลอด แล้วงานศิลปะ เวลาเขามีงานแข่งขัน ผมจะลงหมดเลย ได้รางวัลตลอด ไม่ที่ 1 ก็ที่ 2 ที่ 3 บ้างสลับกันไป ก็เลยรู้ตัวเองว่าเราเป็นคนชอบแบบนี้อยู่แล้ว ต่อให้มันแบบว่าเราไม่เคยทำเลย แต่บอกว่างานฝีมือ เราอยากจะลองแล้ว มันท้าทายเราตลอด เราก็เลยรู้ว่าเราชอบงานศิลปะ ก็ฝึกอยู่ 6 เดือน เราทำเสร็จตัวแรกขายได้เลย เราก็เกิดความภาคภูมิใจแล้ว แม้ว่าพี่แหลมเขาจะเป็นคนช่วยขาย แต่เขาไม่ได้ช่วยสนับสนุนถึงขั้นว่าจัดเตรียมคนมาซื้อ แต่มีคนมาเห็นปุ๊บพี่แหลมขายในนราคาทุนให้ ตั้งแต่นั้นมาอาจารย์กับพี่แหลมก็เลยช่วยกันเปิดช็อปกีตาร์ขึ้นมา เราก็เริ่มได้ทำเป็นอาชีพ
• ขั้นตอนการทำยากหรือง่าย เพราะเราไม่เคยทำอะไรมาก่อนเลยหน้านี้
ถามว่าความสามารถของคนเราไม่เท่ากัน อย่างผมมีแรงผลักที่ชอบงานศิลปะ ยากก็จะสู้ ผมก็เลยใช้เวลา 6 เดือน แต่บางที ถ้าเขาเก่งๆ หน่อย ยิ่งชอบกีตาร์อยู่แล้วเป็นทุนเดิมอยู่ด้วยแล้ว 3 เดือนก็เสร็จ คือมันมีความยากอยู่ในตัว ผมก็เคยถอดใจไป ตอนที่ทำกีตาร์ได้ถึงตัวที่สิบสาม ผมมีคำถามอยู่ว่าจะไปขายใคร เพราะหลายคนที่ซื้อในสิบสามตัวนี้เขาซื้อเราไม่ได้ซื้อด้วยฝีมือ เขาซื้อเพราะเขาเห็นเราเขาจึงอยากช่วยสนับสนุนเรา
ตอนนั้นช่างคนที่เป็นมือหนึ่งของประเทศไทยที่สอนผม ผมไปเจอเขา เขาก็บอกว่า เฮ้ย...ชีวิตของเรา ถ้าจะอยากประสบความสำเร็จ เราต้องบ้าไปกับมัน เวลาทำก็จะดูศึกษาจากเว็บไซต์ยูทูป ทั้งวี่ทั้งวันทั้งคืนแล้วก็ลองทำ เขาว่า “พี่จะลองจนกว่าคนจะยอม พี่ซื้อกีตาร์ของพี่ด้วยฝีมือพี่ทำกีตาร์มา 16 ปีแล้ว พี่ให้คอนเซ็ปต์ตัวเองว่าถ้าพี่ไม่ทำกีตาร์ พี่ไม่มีข้าวกิน” หมายความว่าเขาทำกีตาร์เป็นอาชีพหลัก แต่หลายๆ คนช่างคนอื่นทำกีตาร์เป็นอาชีพ พอพูดอย่างนี้คือผมเริ่มคิด ผมก็เลยต้องพัฒนา เราก็ต้องทำ ก็เริ่มเรียนรู้จากเขามาจนมาถึงจุดหนึ่ง มีคนที่เขาเปิดเว็บไซต์กลุ่มของเรา "Blessing Custom Guitars" แล้วเขาก็สั่งซื้อโดยไม่รู้ตัวตนเรา เขายอมรับในคุณภาพกีตาร์เรา ไม่ได้ซื้อเพราะความสงสาร
หลังจากนั้นก็มีศิลปินดาราอย่างพี่บอย สินเจริญบราเธอร์ส เขาเข้ามาเยี่ยมชมแล้วก็จะมาคุยเรื่องซ่อมบางอย่าง ผมก็ไม่รู้หรอกว่าเขาเป็นศิลปิน เนื่องจากผมอยู่ในเรือนจำนาน เขาก็เปิดลองกีตาร์แล้วบอกว่าเสียงดี ก็เลยสั่งซื้อ จองตรงนั้นเลย ก็ผมขาย 3 หมื่น พอวันที่มาเอาอีกครั้ง ถึงรู้ว่าเป็นนักร้อง เสร็จแล้วมาคนที่สองก็ คือ พี่ปุ๊ อัญชลี พี่เขามาถ่ายทำสารคดีมูลนิธิเราก็เลยทำกีตาร์เป็นลายเซ็นของพี่เขา แต่เสร็จแล้วพี่เขามาก็เอากีตาร์เราไปลองเล่น เล่นไปเล่นมา พี่เขาก็บอกว่าเสียงดีมาก ผมตั้งราคา 4 หมื่นบาท แกบอกว่าเอาไปเลยพี่ขอซื้อ 5 หมื่นบาท เราก็เลยเกิดความภาคภูมิใจมันทำให้ผมมาถึงจุดนี้
• ตอนนี้ทำได้ทั้งหมดกี่ตัวแล้ว
ผลงานของทีมเรา "Blessing Custom Guitars" ทั้งหมด 4 คน ตอนนี้กีตาร์ที่ทำทั้งหมดก็ 32 ตัว แล้วก็มีอูคูเลเล่อีก 16 ตัว
• ทราบมาว่าเรารับเปิดสอนด้วยคนข้างนอกด้วย
ใช่ครับ แต่หลักๆ เรามุ่งจะสอนคนที่พ้นโทษมากกว่า แต่ก็หากใครสนใจ เราก็เต็มที่ ตอนนี้ก็มีน้องคนหนึ่งเขาเห็นผลงานพวกเราจากในเว็บไซต์ เขาก็อยากจะเรียนทำกีตาร์ เพราะเขาอยากได้กีตาร์สักตัวหนึ่งเป็นของตัวเองจากมือตัวเอง ส่วนน้องคนที่สองก็เหมือนกัน แต่คนนี้เขาตั้งใจจะมาเปิดร้านทำเป็นอาชีพเขาเลย เราก็จะช่วยเขาสุดฤทธิ์เลยเหมือนกัน สร้างช็อปอย่างไร ซื้อเครื่องมืออย่างไร เพราะเราอยากให้เขาได้ทำในสิ่งที่รัก อยากให้เขาเมื่อเลือกทางเดินแล้วไม่ใช่ทางที่ผิด เพราะกีตาร์ไม่ใช่แค่ไม้ที่ผ่านการขัดเกลาจนเป็นเครื่องดนตรีมีเสียง มันขัดเกลาชีวิตผมด้วย การที่เวลาเราขัดเกลาไม้ ทำกีตาร์มันก็เหมือนขัดเกลาเราด้วย สอนชีวิตเราด้วย ให้มีความอดทน มันต้องแลกด้วยหลายอย่าง เสียทั้งเวลา กว่าจะได้ของบางตัวออกมาดีๆ บางทีแก้แล้วแก้อีก สิ่งหนึ่งที่มันสอนผมก็คือชีวิตคนเราก็เหมือนอย่างนี้ล่ะครับ ไม่มีดีที่สุดขัดกันไปเรื่อย
• รู้สึกอย่างไรบ้างที่กลายมาเป็นคนที่สังคมยอมรับและให้โอกาส
วันนี้มันเป็นแรงผลักที่ทำให้ผมมีกำลังและสามารถไปถึงจุดกว่านี้อีก เนื่องจากพอวันหนึ่ง จุดที่เรามีแต่คนเกลียดเราทั้งชีวิตเลย ครอบครัวเราด้วย จนวันนี้ถึงจุดที่ครอบครัวกลับมารักเราหมดเลย แล้วก็เราเป็นที่ยอมรับของศิลปินบางท่าน เราภาคภูมิใจมากกับสิ่งที่เราลงไปทั้งหมดเลย แล้วเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนดีได้แล้ว เราเป็นได้แล้ว
และล่าสุดเราได้ไปออกบูทร้านค้าที่คลองผดุงกรุงเกษม เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา เรายกกีตาร์ไป คนดนตรีก็ยอมรับทีมเรา แถมมีโอกาสพบกับท่านนายกฯ ท่านเซ็นกีตาร์ให้เรา ยิ่งย้ำให้เรารู้สึกเรามาถึงจุดที่เราสามารถไปต่อได้ เราเป็นคนปกติได้แล้ว เราสารมารถพูเดเรื่องราวในเรือนจำได้ เราสามารถเป็นพยานชีวิตได้แล้ว เพราะเรามาถึงจุดหนึ่งที่ทำให้คนที่มีอดีต เขาสามารถกลับตัวได้ วันนี้เรามาถึงความภาคภูมิใจจุดหนึ่งแล้ว แต่ไม่ถึงกับหยิ่งผยองโอ้อวดตัวเอง
ก็ยังเรียนรู้ไปเรื่อยๆ มันไม่จบไม่สิ้น เรื่องกีตาร์มันมีเทคนิคอยู่ตลอดเวลา เราดูจากต่างประเทศด้วยคนไทยด้วยช่างหลายคน เราจะมีกลุ่มของช่างทางกีตาร์ด้วยกันและพอได้วิชาใหม่ คือค้นพบกันใหม่ ก็จะส่งทอดกันต่อในกลุ่มวงการการทำกีตาร์ เพราะพวกเราทุกคนอยากจะให้วงการกีตาร์ของเรา ในบ้านเราเป็นที่ยอมรับของบ้านเราเอง ต่างชาติยอมรับเรา แต่คนไทยยังค่อนข้างน้อยที่จะยอมรับเรา เพราะเนื่องจากราคาด้วย คนไทยก็จะมีคำถาม กีตาร์ตัวสามสี่หมื่นจะไปสู้แบรนด์เนมได้ไหมอะไรแบบนี้ จนทุกวันนี้คนไทยบ้างส่วนเริ่มยอมรับเราแล้ว เนื่องจากคุณภาพ เขาซื้อกีตาร์ของเรา เพราะคุณภาพของกีตาร์แล้วไม่ได้ซื้อด้วยความเสน่หา
ส่วนเรื่องชีวิตคนในนี้ส่วนมากมาเพื่อที่จะพัฒนาชีวิต มาเพื่อจะย้อมตัวสร้างชีวิตให้เขาดีขึ้น บางคนก็ดูผมเป็นตัวอย่างบ้าง ผมก็จะช่วยสอนเขา บอกเขาว่าอย่าเพิ่งถอดใจ เพราะมีหลายคนเพิ่งออกมาจากเรือนจำมาอยู่ที่นี่ เวลาที่เขามองผมทำกีตาร์เสร็จแล้ว พี่ปุ๊ซื้อแล้ว ท่านนายกฯ เซ็นแล้ว เขาไม่ได้มองว่าผมมาอย่างไร เขามองที่ความสำเร็จตรงจุดหนึ่งแล้ว ผมก็เลยอธิบายว่าเดี๋ยวก่อน ก่อนผมมาวันนี้ ผมก็ลำบากเหมือนพี่ ผมก็สู้ ทุกอย่างมันมีกระบวนการของมัน 1-2-3-4 อย่ามองว่าผมสำเร็จแล้ว ผมก็จะแนะนำเขาแบบนี้ สอนเขาแบบนี้ ผมเป็นกำลังใจให้พี่ สิ่งที่พี่ทำมันถูกต้องแล้ว แต่เวลาของพี่กับผมยังมาไม่ถึง
ก็อยากจะบอกสำหรับคนที่เคยผิดพลาดในอดีตว่าคนเรามันท้อได้ แต่อย่าถอย ชีวิตชีวิตหนึ่งมันมีคุณค่าในตัวเราเอง อันดับแรกเลย เราต้องเห็นคุณค่าของตัวเราเองก่อน ถ้าเราไม่เห็นคุณค่าของตัวเราเอง ใครจะเห็น มันจะยากมากเลยที่เราจะสามารถไปต่อได้ ไม่ว่าคุณจะเคยผ่านชีวิตแบบไหนมาก็ตามแต่ จะผ่านในเรือนจำมาหรือว่าเคยประสบความล้มเหลวมา ชีวิตคนมีขึ้นมีลง แต่เวลาลงแล้วทำอย่างไรให้ประคองไม่ให้ลงต่ำไปกว่านั้น
ผมก็อยากจะเป็นกำลังใจให้ ก็อยากให้ชีวิตของผมได้เป็นอุทาหรณ์สำหรับคนหลายๆ คน ฝากถึงพี่น้องผู้ต้องขังที่อยู่ข้างใน ถ้าเกิดอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ถ้าเกิดรู้สึกท้อหรือว่าอยากจะมีโอกาส อยากจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราเริ่มต้นได้หมดทุกคนเลย อยากให้ทุกคนเริ่มปลูกฝังจิตใต้สำนึกที่ดีก่อนแล้วออกมาหามูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียนก็ได้ เดี๋ยวเราจะเป็นตัวที่จะช่วยให้โอกาสและเสริมสร้างเขา และรวมถึงผมจะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเขาสามารถผลักดันให้เขาไปถึงจุดหนึ่งได้ เขาสามารถเป็นคนดีได้ทุกคน แต่ขอให้สร้างกำลังใจให้ตัวเองก่อน อย่าเพิ่งไปท้อ อย่าเพิ่งไปมองตัวเองไม่มีค่า อย่าเพิ่งไปตัดพ้อกับชีวิต
....และนี่คือเรื่องราว “บ้านพระพร” บ้านที่ตั้งมาจากความหมายถึงการให้พรแก่ชีวิตใหม่สำหรับทุกคน และเมื่อได้รับพรนั้นสมดั่งที่หวังแล้ว จงนำพรนั้นๆ ที่เคยได้รับส่งต่อผู้อื่น โดยไม่หวังสิ่งตอบแทนในความหมายของ อาจารย์สุนทร สุนทรธาราวงศ์
"สิ่งที่ผมช่วยคนเหล่านี้ผมไม่ค่อยคิดถึงเรื่องบุญคุณ และผมจะบอกกับเด็กทุกคนเลย ว่าอย่าคิดเรื่องบุญคุณกันกับผม เพราะนี่เป็นความรักที่อยากจะเห็นเขามีอนาคตเท่านั้น ฉะนั้น ผมเลยคิดว่าความรักตรงนี้ไม่ใช่เรื่องของบุญคุณ ผมไม่อยากให้คนเหล่านี้คิดว่าจะต้องมาชดใช้ แต่ถ้าคุณเห็นว่าผมมีความรักในการช่วยเหลือคุณ วันหนึ่งคุณแข็งแรง ขอให้คุณส่งต่อความรักเหล่านี้ไปสู่คนอื่น คุณไม่ต้องมาตอบแทนผม แต่คุณไปทำให้คนอื่น วันหนึ่งคุณเห็นคนหนึ่งที่ด้อยโอกาส แล้วคุณเคยเป็นผู้ด้อยโอกาส คุณลองคิด คุณจะทำอะไรให้คนนั้นได้บ้าง
"นั่นคือสิ่งที่ผมปรารถนา การส่งต่อเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้น ไม่ต้องกลับมาตอบแทนบุญคุณ ส่งต่อไปในสิ่งที่คุณเห็นและคุณได้ ถ้าคุณได้จากที่นี่มากเท่าไหร่ คุณให้คนต่อไปเท่านั้น นั่นคือสิ่งที่เราสอนเขา"
มูลนิธิพันธกิจเรือนจำคริสเตียน : 600/199 ชุมชนบึงพระราม 9 ถ.ริมคลองลาดพร้าว แขวงบางกะปิ เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310 เบอร์โทรศัพท์ 0-2719-7277 แฟกซ์ 0-2716-9574 E-mail : soonwong@hotmail.com
ติดตามชมเรื่องราวของช่างหรั่งและบ้านพระพร ผ่านสารคดีสร้างสรรค์สังคม บ้านเล็กในเมืองใหญ่ ตอนพี่สอนน้องซึ่ง "ปุ๊ อัญชลี จงคดีกิจ" จะพาไปเยี่ยมชม ได้ที่เฟซบุ๊ก www.facebook.com/บ้านเล็กในเมืองใหญ่
เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร