xs
xsm
sm
md
lg

ทัศนมาตรศาสตร์ สาขาแห่งอนาคต เรียนไม่ตกงาน-ค่าตอบแทนเท่า ป.โท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รองอธิบดีกรมการแพทย์ แจง ทัศนมาตรศาสตร์ เป็นหนึ่งสาขาที่เรียนแล้วไม่ตกงาน กระทรวงสาธารณสุข เสนอก.พ.กำหนดเป็นสายวิชาชีพ เพื่อได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ระบุอนาคตร้านแว่นตา   อาจต้องมีนักทัศนมาตรประจำร้าน ด้าน ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล ผู้ก่อตั้งสาขาทัศนมาตรศาสตร์ คนแรกของเมืองไทย ชี้ นักทัศนมาตรขาดแคลนมาก เด็กวัยเรียนกว่า 5 ล้านคนไม่เคยได้ตรวจตา ขณะที่ภาคเอกชนจองตัวตั้งแต่ยังไม่จบ อัตราเงินเดือนเทียบเท่าปริญญาโท ยอมรับ ภูมิใจเด็กรามจบไปอยู่บริษัทผลิตคอนแทคเลนส์ชื่อดัง ได้เงินเดือนถึง 80,000   บาท  ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กำหนดทัศนมาตรศาสตร์อยู่ในคณะแพทยศาสตร์   

สาขาทัศนมาตรศาสตร์ เป็นสาขาวิชาชีพใหม่ ที่ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนอาจจะรู้สึกไม่คุ้นชื่อ ไม่คุ้นตาและไม่คุ้นหู ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ทัศนมาตรศาสตร์ เป็นวิชาชีพหนึ่งที่ต่างประเทศให้ความสำคัญและมีค่าตอบแทนที่สูง

ขณะที่ประเทศไทยสาขาทัศนมาตรศาสตร์เพิ่งจะมีการเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี เพียง 3 แห่ง และมหาวิยาลัยเชียงใหม่ มีแผนเปิดสาขาทัศนมาตรศาสตร์ อีก 1 แห่ง  อีกทั้งมีการผลิตนักทัศนมาตรศาสตร์ที่ได้มีการสอบผ่านขึ้นทะเบียนใบประกอบโรคศิลปะจากกระทรวงสาธารณ สุขได้ประมาณ 135คน

ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุข ยังได้ทำเรื่องเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำหนดให้นักทัศนมาตรศาสตร์เป็นวิชาชีพ เช่นเดียวกับ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเมื่อผ่านการเห็นชอบจะส่งผลให้เด็กที่จบมาได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดค่าวิชาชีพนั้นไว้

ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังขาดแคลนและต้องการนักทัศนมาตรจำนวนมาก และทัศนมาตรศาสตร์ ถือเป็นสาขาแห่งอนาคตที่ผู้ปกครองและนักเรียน ม.6 สายวิทย์-คณิต คงต้องหันมามองและอาจใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการตัดสินใจเลือกเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่อไป

ทัศนมาตรศาสตร์ ทำงานร่วมจักษุแพทย์
ทัศนมาตรศาสตร์ ถือเป็นสาขาทางด้านการแพทย์ และการสาธารณสุขซึ่งหลักๆ จะเรียนเกี่ยวกับการตรวจและวัดสายตา เพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านสายตา และสุขภาพตา โดยอาศัยวิธีการทางทัศนมาตร ซึ่งหมายถึงเรื่อง เลนส์สายตา คอนแทคเลนส์ เลนส์สัมผัส รวมถึงการปรับแต่งกล้ามเนื้อตา ยกเว้นการผ่าตัดตา เรียกได้ว่า นักทัศมาตร จะเป็นผู้ดูแลสายตาคนตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

“นักทัศนมาตรจะต้องทำงานร่วมกับจักษุแพทย์ แต่จะแตกต่างจากจักษุแพทย์ตรงที่ทำการผ่าตัดไม่ได้ แต่จะตรวจสอบและวิเคราะห์ได้ก่อนส่งไปถึงหมอให้ทำการผ่าตัด ซึ่งหมอจะมีดีกรีเป็น Doctor of Medicine  แต่นักทัศนมาตร จะได้ดีกรี Doctor of Optomestry”   

ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกสาขานี้เป็นคนแรกของประเทศไทย และใช้เวลามากว่า 10 ปีในการผลักดันให้สาขานี้เป็นที่รู้จักและยอมรับของสังคม บอกว่า เรื่องของสายตาซึ่งสำคัญมาก และจากข้อมูลที่มีอยู่ขณะนี้พบว่าเด็กในวัยเรียนจำนวน 5 ล้านคนในไทย ไม่เคยได้รับการตรวจสายตา

ขณะที่สหรัฐอเมริกา กำหนดเป็นกฎหมายบังคับว่า เด็กที่ต้องเข้ารับการศึกษาภาคบังคับต้องผ่านการตรวจสายตา ตรวจสุขภาพตา อย่างน้อยจากการตรวจของผู้ประกอบโรคศิลปะทัศนมาตรศาสตร์ก่อน“แต่ในบ้านเราไม่มี ซึ่งรัฐบาลจะพยายามขับเคลื่อนกฎระเบียบ แต่เมื่อดูความพร้อมทางด้านบุคลากร ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเราขาดแคลนนักทัศนมาตรที่จะเข้ามาดูแลตรงนี้”

ดร.ดนัย อธิบายอีกว่า ในความเป็นจริง นักทัศนมาตรและจักษุแพทย์ ต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยจักษุแพทย์ทำหน้าที่รักษาโรคเป็นหลัก และทำการผ่าตัด ซึ่งหากผ่าตัดไปแล้วจะใช้งานได้ตามปกติหรือเปล่า ไม่ใช่หน้าที่ของจักษุแพทย์ แต่จะเป็นหน้าที่ของนักทัศมาตรจะเป็นผู้ทำให้ระบบการเห็นทำงานได้อย่างที่ต้องการมองเห็นในชีวิตประจำวันของคน

ปัจจุบันอัตราส่วนนักทัศนมาตรกับจักษุแพทย์ ที่ควรจะเป็น คือจะต้องมีผู้ได้รับใบประกอบโรคศิลปะ ทัศนมาตร 2 คน ต่อจักษุแพทย์ 1 คน    แต่ถ้าจะพูดถึงการผลิตจักษุแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดตา จะต้องใช้เวลาเรียนประมาณ   13 ปี นั่นหมายถึง เรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิต 6 ปี ไปทำงานใช้ทุน 3 ปี    และกลับมาเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางในด้านจักษุแพทย์ อีก 4 ปี ขณะที่นักทัศนมาตรศาสตร์  ใช้เวลาเรียนแค่ 6 ปี ออกมาสอบใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ สามารถออกมาดูและตรวจสอบ  วิเคราะห์เรื่องตาได้ ยกเว้นการผ่าตัดตาเท่านั้น

คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง ย้ำว่า นักทัศนมาตรศาสตร์ เป็นที่ต้องการในตลาดมากๆเพราะปัจจุบัน 3-4 มหาวิทยาลัยที่เปิดสาขาทัศนมาตรศาสตร์ สามารถผลิตบุคลากรได้ปีละประมาณ 150 คนเท่านั้น ขณะที่ร้านแว่นตามีประมาณ 6,000 แห่ง โรงพยาบาลรัฐอีก 160 แห่ง ที่มีแผนกจักษุ ซึ่งในความเป็นจริงมีจักษุแพทย์ 1 คน ต้องมีนักทัศนมาตร 2 คน

“จักษุแพทย์บ้านเรามีทั้งหมด 500 กว่าคน ก็แปลว่า บ้านเราต้องการนักทัศนมาตรจำนวนเป็น 1,000   เพื่อประจำอยู่ในสถานที่ต่างๆ”

แต่หากดูจำนวนนักศึกษาที่ 3-4 สถาบันที่มีสาขาทัศนมาตรศาสตร์กับความต้องการของตลาด ไม่ว่าในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกด้านตา และร้านแว่น จะเห็นว่าประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรสายวิชาชีพนี้อย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ผู้สอนในสถาบันการศึกษา หรือนักทัศนมาตรที่จบออกมาปฏิบัติแล้วก็ตามสำหรับผู้ที่จบสาขาทัศนมาตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถือได้ว่าทุกคนมีงานทำคือมีอัตราการจ้างงาน 100% และบางคนมีภาคเอกชนเข้ามาจองตัวตั้งแต่อยู่ระหว่างเรียน และบางคนจบแล้วก็ไปเป็นเจ้าของร้านแว่นของตัวเอง

ตะลึงจบทัศนมาตร ม.ราม รับเงินเดือน 8 หมื่น

ดร.ดนัย เล่าว่า การที่นักศึกษาที่จบหลักสูตรทัศนมาตร และมีงานทำเป็นเพราะความต้องการของตลาดจริงๆ อีกทั้งยังได้อัตราผลตอบแทนที่ดีพอสมควร โดยนักทัศนมาตร จะได้รับอัตราเงินเทียบเท่าเด็กที่จบปริญญาโท แต่ถ้าอยู่ในเอกชน จะได้รับค่าจ้างค่อนข้างสูง โดยในเอกชนจะได้ค่าตอบแทนสูงกว่า 2 เท่าครึ่งของภาครัฐ

“มีนักศึษาที่จบสาขานี้ของรามคำแหง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านคอนแทคเลนส์ และไปทำงานบริษัทที่ผลิตคอนเทคเลนส์ชื่อดัง ได้รับเงินเดือนถึง 80,000 บาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูง”นอกจากนี้มีผู้จบการศึกษาบางคน ก็เลือกปฏิบัติงานในภาครัฐ เพราะสามารถสอบใบประกอบโรคศิลปะ ได้ ซื่งถือว่ามีเกียรติ แต่การทำงานในสถานพยาบาลของรัฐ ก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ที่ว่า รัฐยังไม่กำหนดให้เป็นสายวิชาชีพ ซึ่งยังไม่มีตำแหน่งโดยตรง และหากรัฐกำหนดให้เป็นสายวิชาชีพหนึ่งจะทำให้นักทัศนมาตรได้รับสิทธิประโยชน์หรือค่าตอบแทนเพิ่มเติมตามมา

“ในอนาคต ถ้ากำหนดเป็นสายงานที่ชัดเจน จะดึงดูดให้คนเข้ามาทำสายนี้ ปัจจุบันกรมการแพทย์ พยายามที่จะผลักดันให้เป็นสายวิชาชีพชัดเจน จึงเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ”

ทัศนมาตรศาสตร์ สาขาแห่งอนาคต

ด้าน นายแพทย์ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ซึ่งเป็นจักษุแพทย์โดยตรง ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับทัศนมาตรศาสตร์ ว่าเป็นวิชาชีพหนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของสาขาตา ซึ่งในต่างประเทศ เป็นวิชาชีพที่ได้รับการยอมรับ ขณะที่คนไทยอาจจะเป็นเรื่องใหม่ กำลังอยู่ในช่วงการผลิต การทำงาน และเรื่องวิชาชีพ คือ ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเป็นใบประกอบวิชาชีพ แต่ท้ายสุดแล้วก็จะเป็นสาขาซึ่งเป็นทีมงานสำคัญในการดำเนินการเรื่องของสายตา และเป็นสาขาที่มีความจำเป็นในปัจจุบัน

“มีการพูดคุยกันมาตลอดระหว่างกระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย แพทยสภา เกี่ยวกับนักทัศนมาตร ซึ่งจริงๆ เราพูดคุยถึงการแบ่งบทบาทหน้าที่กัน และเป็นการร่วมมือกันทำงาน ระหว่างจักษุแพทย์ กับนักทัศนมาตร โดยวางบทบาทให้ทำงานร่วมกันได้”

ขณะเดียวกันผู้ที่จบทัศนมาตรศาสตร์ จบแล้วมีงานทำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าหากจะเข้าทำงานในโรงพยาบาลของรัฐก็จะยังไม่มีตำแหน่งโดยตรง รวมถึงสิทธิประโยชน์อาจยังไม่ได้ในเรื่องของวิชาชีพ ที่เป็นเรื่องของค่าตอบแทนเพิ่มเติม แต่ในอนาคตหากก.พ.กำหนดเป็นสายงานที่ชัดเจน จะสามารถดึงดูดให้คนเข้ามาเรียนและทำงานในสายวิชาชีพนี“เรื่องตำแหน่งในสายวิชาชีพ กรมการแพทย์ได้ริเริ่มและผลักดัน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ ก.พ. ว่า เหมาะสมที่จะเป็นสายวิชาชีพหรือไม่ และเรียกสายวิชาชีพนี้ว่าอย่างไร เช่นนักทัศนมาตรศาสตร์ หากมีการเรียนสายนี้ชัดเจน ก็จะมีใบประกอบวิชาชีพ อย่างเช่น หมอ พยาบาล ก็จะมีใบประกอบวิชาชีพ ก็จะมีค่าวิชาชีพให้”

สำหรับผู้ที่จบสาขาทัศนมาตรศาสตร์ เมื่อสอบเข้ามาทำงานในสถานพยาบาลของรัฐ ก็ต้องบรรจุในอัตราอื่นก่อน คือบรรจุเป็นนักวิชาการสาธารณสุข แต่ไม่ได้ค่าวิชาชีพรองอธิบดีกรมการแพทย์ บอกว่า หากมองถึงอนาคตและความต้องการของสายวิชาชีพนี้ ยังเป็นที่ต้องการ ซึ่งถ้าคำนวณจากมาตรฐานแล้วคิดว่า กระทรวงสาธารณสุข น่าจะมีนักทัศนมาตรประมาณ 4-500 อัตรา และถ้าต้องการให้การบริการประชาชนได้ตามมาตรฐานแล้วต้องมีระยะเปลี่ยนผ่านซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องการนักทัศนมาตรจำนวนมากขึ้น หากมีกฎหมายกำหนดให้บรรดาร้านแว่น ต้องมีนักทัศนมาตร เช่นเดียวกับที่ร้านขายยาต้องมีเภสัชกร

ทั้งนี้เพราะเรื่องสายตาเป็นการบริการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพของตา ถ้ามองในระยะยาวแล้ว ก็ควรจะไปในทิศทางเดียวกัน หากเกิดกฎหมายวิชาชีพ ออกเป็นพระราชบัญญัติวิชาชีพเรียบร้อย และออกเป็นบทเฉพาะกาลออกมาว่าร้านแว่นต้องมีนักทัศนมาตร  ซึ่งก็คงไม่ใช่ระยะเวลาอันใกล้นี้  

;“แต่ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ร้านแว่นปัจจุบัน ก็สามารถผ่านกระบวนวนการการฝึกอบรมให้คนเก่าปฏิบัติงานได้ จนกว่าจะหมดไปอนุญาต คนระบบเก่าก็ทำงานไป แต่คนรุ่นใหม่ก็ควรจะเข้าระบบซึ่งคงต้องใช้เวลา ก็คงเป็นแนวเดียวกับร้านขายยา ที่ต้องมีเภสัชกรประจำร้านยาต่อไป”

นายแพทย์ปานเทพ ย้ำว่า เมื่อนักทัศนมาตรยังขาดแคลนและเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งวันนี้ทั้ง 3 สถาบันที่ผลิตออกมา เรียกได้ว่า 90% จบปั๊บ ก็มีคนมาจองตัวไปทำงาน ผู้ที่เรียนจึงไม่ต้องกังวลว่าจะตกงาน

4 มหา’ลัยเปิดสอนสาขาทัศนมาตรศาสตร์

ปัจจุบันสาขาทัศนมาตรศาสตร์ ทำการเปิดสอนทั้งหมด 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยรังสิต ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งความจริงมีแผนการจะเปิดหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ในปี 2559 แต่มีการเลื่อนเปิดออกไปและยังไม่มีกำหนดเปิดชัดเจน

มหาวิทยาลัยรามคำแหง มี ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล เป็นผู้บุกเบิกศาสตร์สาขาทัศนมาตรศาสตร์ และได้กำหนดให้เป็นคณะทัศนมาตรศาสตร์ โดยกำหนดหลักสูตรการเรียน 6 ปี ซึ่งใน 2 ปีแรก เป็นชั้นปรีคลินิก (Preclinic) ส่วน 4 ปีหลัง กำหนดเป็นหลักสูตรปริญญาภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา

ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับอุดมศึกษาหลักสูตรแรกด้านทัศนมาตรศาสตร์ โดยเป็นไปตามมาตรฐานของคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขด้วย โดยระหว่างเรียนจะมีการฝึกงาน ซึ่งนักศึกษาทัศนมาตรศาสตร์ ส่วนหนึ่งจะฝึกงานในตัวมหาวิทยาลัย ซึ่งมีการเปิดให้บริการตรวจตาเช่นกัน และในส่วน 2 ปีสุดท้าย ก็มีโอกาสไปฝึกงานตามโรงพยาบาลแพทย์ โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน ศูนย์แพทย์พระราม 9 ที่มีแผนกจักษุ ที่มีการลงนามกันไว้เพื่อส่งนักศึกษาไปฝึกงานกว่า 10 แห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลภูมิพล ศูนย์การแพทย์พระรามเก้า หรือ โรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลเวชธานี โรงพยาบาลลาดพร้าว ศูนย์เลเซอร์ ทีอาร์เอชซี

“สถาบันที่ได้จัดส่งนักศึกษาออกไปนั้น ยังได้ช่วยขัดเกลาและฝึกฝนให้เด็กทัศนมาตรของ ม.รามได้เรียนรู้และฝึกฝนได้อย่างดี”ดร.ดนัย ยอมรับว่า กว่าจะปั้นสาขาทัศนมาตรให้เป็นที่ยอมรับค่อนข้างลำบากมาก เพราะสังคมไม่คุ้นเคยกับการมีผู้ประกอบโรคศิลปะดูแลด้านสายตา บางคนมองว่าเป็นช่างแว่นหรือเปล่า

ขณะที่ช่างแว่นทำงานกับแว่นตา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ แต่นักทัศนมาตรศาสตร์ ต้องสอบใบประกอบโรคศิลปะ ของกระทรวงสาธารณสุข จึงจะปฏิบัติงานได้ขณะเดียวกันแม้ว่าสาขานี้จะขาดแคลนบุคลากร แต่มหาวิทยาลัยของรัฐชื่อดังหลายแห่งก็ยังไม่มีการเปิดการเรียนการสอนสาขานี้ อาจเนื่องมาจากขาดแคลนบุคลากรที่จบด้านนี้และไม่มีความเชี่ยวชาญเพียงพอที่จะมาเป็นอาจารย์สอน ส่วนตัว

ดร.ดนัย บอกว่า ตัวเขาเองจบสาขานี้จากสหรัฐอเมริกา โดยปลุกปั้นกับรามคำแหงมานาน จึงเลือกอยู่ที่นี่ และผู้ที่จบคณะทัศนมาตรศาสตร์จาก ม.รามคำแหง ที่ไปเป็นอาจารย์ก็มีน้อย เนื่องเพราะค่าตอบแทนต่ำ จึงไม่มีคนอยากมาทำหน้าที่ตรงนี้กัน

“ที่รามคำแหงก็ยังขาดบุคลากรเฉพาะในบางวิชาของสาขานี้ ดังนั้น เราต้องเชิญอาจารย์จากต่างประเทศ เข้ามาสอนบ่อยๆ ปีหนึ่งๆ อย่างน้อยสิบกว่าคนเพื่อจะได้ผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปสู่สังคม”มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เปิดระดับปริญญาตรี คณะทัศนมาตรศาสตร์ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ซึ่งมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งชาวไทยที่เป็นอาจารย์ประจำและอาจารย์พิเศษ รวมถึงอาจารย์จากต่างประเทศมาดำเนินการสอนภาคทฤษฎี ส่วนภาคปฏิบัตินั้นนักศึกษาจะเรียนที่คลินิกคณะทัศนมาตรศาสตร์และยังส่งไปฝึกงานที่ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ โรงพยาบาลเลิดสิน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ RSU EYE MEDICAL CENTER และ RSU VISION CENTER

มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เปิดการเรียนการสอนหลักสูตรทัศนมาตรศาสตร์ ในคณะสหเวชศาสตร์ เป็นรุ่นแรก ตั้งแต่ปี 2555 โดยเป็นการร่วมมือระหว่างสมาคมทัศนมาตรศาสตร์แห่งประเทศไทย ภาควิชาจักษุ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย Tubingen ประเทศเยอรมนี และผู้มีความรู้ความสามารถมาร่วมเป็นอาจารย์สอนทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ และการฝึกงาน

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีแผนเปิดสาขาทัศนมาตรศาสตร์ โดยเป็นสาขาหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดิมจะเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา2559 นี้ แต่เนื่องจากอยู่ในช่วงการดำเนินการเรื่องการประเมินการประกอบโรคศิลปะ ดังนั้น ปีนี้สาขาทัศนมาตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงยังไม่สามารถเปิดรับนักศึกษาได้ทัน

ถึงวันนี้ทัศนมาตรศาสตร์กำลังเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของเด็ก ม.6 ที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องผลตอบแทน ความมั่นคง ที่สำคัญมีตลาดรองรับ 100%

กำลังโหลดความคิดเห็น