xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศรีสุวรรณ จรรยา “ใครๆ เขาก็ทำกัน” เป็นคำพูดที่ควรจะเอาไปกลบฝังดินได้แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศรีสุวรรณ จรรยา
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ใครๆ เขาก็ทำกัน” แต่ทำอีท่าก็ไหนไม่รู้ เอกสารลับเฉพาะคำสั่งติดยศทหาร 'ปฏิพัทธ์ จันทร์โอชา' ลูกชายหัวแก้วหัวแหวน 'บิ๊กติ๊ก' พลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม 'หลานในไส้ลุงตู่' พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงได้เล็ดลอดออกมาเป็นขี้ปากชาวบ้านร้านตลาด โดนติติงเรื่องระบบอุปถัมภ์เสียได้

แถมงานนี้ยังโดน บิ๊กติ๊ก สวนกลับอีกว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน”

ด้านตัวตั้งตัวตีในการตรวจสอบการใช้อำนาจของภาครัฐ ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ หลังยื่นหนังสือร้องเรียนต่อประเด็นดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เขายังคงติดตามประเด็นดังกล่าวไม่ละสายตา

สัมภาษณ์พิเศษฉบับนี้ ศรีสุวรรณ ลับฝีปากไว้คอยท่า วิพากษ์ระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากในสังคมไทย จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา “ใครๆ เขาก็ทำกัน” โดยเฉพาะแวดวงราชการที่กลายเป็นธรรมเนียม “ใครๆ เขาก็ทำกัน” แม้กระทั่งในยุค คสช. ครองเมือง “ใครๆ เขาก็ยังทำกัน”

ท่าทีของ บิ๊กติ๊ก ออกมาชี้แจงกรณีแต่งตั้งลูกหลานเป็นทหารว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน” คุณมีความคิดเห็นอย่างไร

บริบทนี้ผมคิดว่า ท่านปรีชา ไม่เข้าใจว่าสถานการณ์วันนี้กำลังปฏิรูป เพราะพี่ชายท่านฯ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เข้ามาโดยการยึดอำนาจ ต้องการมาเปลี่ยนแปลงบริบทของการเมืองที่มันไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชนมาโดยตลอด เหตุผลหนึ่งก็คือเรื่องที่ก่อนหน้านี้นักการเมืองไม่ว่าจะพรรคการเมืองไหน มักจะแต่งตั้งเครือญาติบุตรหลานเข้ามาเสวยอำนาจมากินตำแหน่ง สังคมวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม พอ คสช. เข้ามา ยึดอำนาจมันทำให้ความคาดหวังของพี่น้องประชาชนอยากจะเห็นว่าพฤติกรรมของนักการเมืองแบบนี้มันควรจะหมดไปแล้ว

พอมาสู่ยุคการปฏิรูปมันก็ควรมีอะไรใหม่ๆ ที่ไม่ไปซ้ำรอยกับนักการเมือง แต่เมื่อ ท่าน ปรีชา ได้แต่งตั้งลูกมาเป็นทหาร โดยไม่สนใจหรืออาจจะคิดไม่ถึงว่าสังคมจะรับรู้ เพราะว่าเอกสารที่มันเผยแพร่ออกมาเป็นเอกสารลับ คิดว่าคงไม่มีใครรู้ แต่ก็อย่างว่าคนในกองทัพไม่ใช่ว่าจะรักท่านไปเสียทุกคน มันก็อาจจะมีคนที่ไม่รักถ่ายเอกสารนี้ออกมาแพร่งพราย พอมันเป็นที่รับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียมันก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันไปเยอะแยะมากมายไปหมด ว่าพฤติกรรมอย่างนี้มันกลับไปซ้ำรอยเดิมกับนักการเมืองในอดีต ท่านมากล่าวอ้างว่า ใครๆ เขาก็ทำกัน มันมาตอบโจทย์ในบริบทนี้ไม่ได้ ที่สำคัญในอดีตอาจจะมีลูกหลานข้าราชการ ลูกหลานนายทหาร มาเป็นทหารเยอะ แต่คนเหล่านั้นเขาไม่ได้เซ็นชื่อไม่ได้เป็นคนอนุมัติให้ลูกหลานเข้ามาเอง เขาอาจจะผ่านขั้นตอนอื่น แต่กรณีของท่านปรีชาเซ็นด้วยลายมือของท่านเอง

ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ข้อ 13 (3) เขาได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ห้ามพิจารณาทางปกครองดังต่อไปนี้ เป็นญาติของคู่กรณี คือเป็นบุตร บุพพการี หรือผู้สืบสันดาน ไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็นพี่น้อง หรือลูกพี่ลูกน้อง นับได้เพียงภายใน 3 ชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันในตำแหน่งนับได้เพียง 2 ชั้น กฎหมายนี้มันเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าแต่งตั้งไม่ได้ แม้จะมีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เข้าใจว่าเป็นมาตรา 4 บอกว่าห้ามไปบังคับใช้กับทหาร เขาก็บอกว่าในกรณีที่อยู่ในช่วงยุทธการ ช่วงมีศึกสงครามห้ามนำกฎหมายนี้ไปใช้จะได้ไม่ต้องไปพะว้าพะวัง แต่ในวันนี้สังเป็นสังคมปกติทั่วไป แล้ว คสช. ไม่ได้มีข้อยกเว้นข้อกฎหมายวิธีปฏิบัติข้าราชการทางปกครอง

ฉะนั้น ผิดเต็มๆ ท่านฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ ขณะเดียวกัน กฎหมายอื่น ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของปี 2551 ข้อ 5 เขียนไว้ ข้าราชการกระทรวงกลาโหมจะต้องปฏิบัติตามหลักมาตรฐานจริยธรรม ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ไม่ยึดถือประโยชน์ส่วนตน และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ ทีนี้ ท่านไม่ปฏิบัติตามกฎหมายราชการการปกครอง สิ่งที่ท่านทำมาไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นวิธีการปฏิบัติที่ผิด มันก็จะเข้าไปเกี่ยวพันเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามการทุจริต การทุจริตก็คือการปฏิบัติหน้าที่หรือละเลยการปฏิบัติหน้าที่มันก็เข้าข่ายอยู่แล้ว ใน เรื่องนี้ผมก็เลยร้องไปที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร้องไปที่ ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน เพื่อดูเรื่องจริยธรรมเป็นหลัก ร้องไปที่กรรมาธิการว่าด้วยจริยธรรมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มันเป็นเรื่องของจริยธรรม ผมต้องร้องทั้งในประเด็นเรื่องกฎหมายและเรื่องของจริยธรรม ผมยืนยันมาโดยตลอด จริยธรรมมันอยู่เหนือกฎหมาย ข้อกฎหมายผิดแล้ว ดังนั้นเรื่องจริยธรรมผิดยิ่งกว่า

คุณศรีสุวรรณเรียกร้องให้มีการทบทวนคำสั่งเพื่อเป็นบรรทัดฐานของสังคมใช่ไหม

ทางที่ดีผมคิดว่า ไม่ว่าจะท่านปรีชา หรือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ควรจะทบทวนคำสั่งนี้เสีย อย่างน้อยถ้าท่านทบทวนมันจะสง่างามและสร้างความน่าเชื่อถือ เชื่อมั่นกลับคืนมาให้กลับท่านปรีชา ท่านประวิตร รวมทั้งท่านนายกรัฐมนตรีด้วย ในฐานะที่เป็นพี่ชายเป็นลุงเป็นหลานกัน ส่วนนายปฏิพัทธ์ ผมเสนอไปแล้วว่าให้ลาออกไปเสีย อย่างน้อยเป็นการเรียกขวัญและกำลังใจของพี่น้องประชาชน เรียกความเชื่อถือ คสช. ท่านนายกฯ และน้องชายกลับคืนมา

คือถ้าไม่ทำ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่กรณีเล็กๆ นะ มันจะที่มีผลถึงการรับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญด้วย เพราะอย่างลืมว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่เขายังไม่ได้ตัดสินใจ เขามีความเชื่อมั่นศรัทธาท่านนายกฯ ค่อนข้างจะสูง แต่ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวท่านนายกฯ เพราะเห็นวว่าท่านฯ กำลังเอาสีข้างเข้าถูกับกรณีแต่งตั้งหลาน มันก็จะทำให้ความเชื่อมั่นของท่านฯ ลดน้อยลงมา และผมมีความเชื่อมั่นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ได้รับการยอมรับจากคนไทยทั้งประเทศโดยส่วนใหญ่

ก่อนหน้านี้คุณศรีสุวรรณเคยร้องเรียน คสช. ในลักษณะคล้ายกันมาแล้ว และโดนเรียกตัวปรับทัศนคติด้วย

กรณีนั้น ก็ทำให้ผมถูกกองทัพภาคที่ 1 เชิญตัวไปพูดคุย ผมไม่เรียกว่าปรับทัศนคติเพราะทัศนคติผมปรับไม่ได้อยู่แล้ว แต่ว่าเรียกไปพูดคุยทำความเข้าใจกันมากกว่า วิธีปฏิบัติของท่านนายกฯ เป็นอย่างไร เจตนารมณ์ของท่านเป็นอย่างไร ผมก็อธิบายว่าเจตนารมณ์ของผมต้องการรักษากฎหมายต้องการบรรทัดฐานในเชิงกฎหมาย เมื่อผมเห็นสิ่งที่ท่านนายกฯ หรือผู้ใช้อำนาจดำเนินการไม่น่าจะเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องผมก็ต้องใช้กฎหมาย ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ คือร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งเป็นภาระของหน่วยงานตรวจสอบว่าจะดำเนินการไปแล้วมีข้อสรุปอย่างไร

เรื่องล่าสุดนี้เมื่อไม่นานก็มีนายทหารเข้ามาพูดคุยที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน แต่ว่าไม่ได้เชิญตัวผมไป เป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะของการทำงานกันมากกว่า สิ่งที่ผมทำไปก็ยืนยันตามเจตนารมณ์เดิมตามกฎหมาย

ผมมีทางลงให้กับท่านนายกฯ แล้ว ผมทำหนังสือถึง ท่านประวิตร และท่านปรีชา ขอให้ทบทวนการใช้อำนาจแต่งตั้งลูกชายของท่านปรีชาให้มาเป็นทหารเสีย ผมคิดว่านี่คือต้นเรื่องที่ทำให้ท่านทบทวนได้ เพราะว่าท่านไม่มีต้นเรื่องก็อาจจะอีหลักอีเหลื่อ แต่ ณ วันนี้ ผมชงเรื่องให้แล้ว ท่านก็ไปใช้อำนาจเสีย

ประเด็นเกิดขึ้นทำให้นึกถึงเรื่องของ บุตรชายพระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แสดงให้เห็นศักดิ์ศรีของชายชาติทหาร

การที่ลูกท่านฯ (พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 2 ของประเทศไทย) พ.ต.พุทธินารถ พหลพลพยุหเสนา มาสมัครเข้ารับราชการเป็นนายสิบแล้วมีคนมาบอกว่า ควรจะเป็นนายร้อยได้แล้ว เพราะว่าเป็นถึงลูกพระยาพหลฯ แต่ท่านก็ปฏิเสธไปเพราะว่าไม่จำเป็น ยอมรับกฎเกณฑ์ว่าสอบไม่ติดจะไปเป็นได้อย่างไร ท่านอยากที่จะเข้ามาด้วยวิธีการที่ถูกต้อง โปร่งใสมากกว่า ผมคิดว่าเป็นแนวคิดวิธีปฏิบัติเป็นต้นแบบที่ดีของสังคมไทยที่ควรจะเอาเป็นเยี่ยงอย่าง เมื่อเทียบกับกรณีของลูกท่านปรีชามันก็เห็นได้ชัดเมื่อเปรียบกัน

ท่านพระยาพหลฯ ท่านเป็นแบบอย่างที่ดี พระยาพหลฯ ท่านเข้ามาเปลี่ยนแปลงการปกครองในยุคนั้น ถือว่าเป็นยุคที่เสี่ยงต่อชีวิตเสี่ยงต่อบรรพชนของตัวเองทั้งหมด เพราะว่าถ้าทำพลาดก็อาจจะถูกประหารไปทั้ง 7 ชั่วโคตร เพราะฉะนั้นการที่ท่านอาสาเข้ามาเปลี่ยนแปลงในยุคนั้น พ.ศ. นั้นเป็นเรื่องน่าชื่นชมยินดี ถ้าดูในประวัติศาสตร์ อัตชีวประวัติจะเห็นว่าท่านไม่ได้ใช่อำนาจมากมายนัก การเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นก็เหมือนกับตกกระไดพลอยโจนในสถานการณ์ที่ท่านจำเป็นต้องรับ เพราะว่าคนอื่นไม่อาจมาดำรงตำแหน่งได้ แล้วท่านก็ดำรงตำแหน่งไม่นานพอมีคนใหม่มาก็ผ่อนถ่ายอำนาจไป บั้นปลายชีวิตของท่านๆ ก็ไม่มีทรัพย์สินอะไรหลงเหลือ ไม่ได้สร้างสมให้ลูกหลานเยอะแยะ นี่เป็นตัวอย่างที่ดีของนายทหารในสังคมไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเสียหน้าแต่เป็นเรื่องของการผิดพลาดพลั้งเผลอไปบ้าง เมื่อรู้ว่าผิดพลาดผมคิดว่าสังคมไทยให้อภัยครับกับการทบทวน แล้วมาเริ่มนับหนึ่งอย่างเปิดเผยโปร่งใสให้สังคมไทยได้รับรู้ร่วมกัน

สะท้อนระบบอุปถัมภ์อันฝังรากลึกในสังคมไทย คล้ายๆ กรณีตระกูลอยู่บำรุงการแต่งตั้งลูกชายเข้าติดยศตำรวจหรือเปล่า

ตระกูลอยู่บำรุง เป็นตระกูลตำรวจ กรณีของ คุณเฉลิม อยู่บำรุง อาจจะไม่เหมือนกรณีของท่านปรีชา เข้าใจว่าคุณเฉลิมไม่ได้เป็นคนลงนามแต่งตั้งให้ลูกเข้ามา คนที่ลงนามแต่งตั้งอาจจะเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือท่านรัฐมนตรีฝายความมั่นคง จะเปรียบเทียบกรณีลูกท่านปรีชาไม่ได้ แต่เรื่องเหล่านี้มันก็ถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์เยอะ แล้วสังคมตัดสินแล้วว่า สิ่งที่คุณเฉลิมได้ทำไปเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับหรือไม่

เมื่อสังคมไทยมีบทเรียนกับเรื่องนี้เรื่องของคุณเฉลิม ล่าสุด เรื่องของคุณปรีชา ผมคิดว่าวันนี้ไม่ควรจะหยุดนิ่งเฉย และปล่อยเป็นไปตามยถากรรม เป็นไปตามผู้มีอำนาจ เพราะเป็นอย่างนั้นความเป็นธรรมในสังคมไทยจะไม่เกิดขึ้น เพราะทุกคนหวังพึ่งพิงแอบอิงผู้มีอำนาจ มันก็จะนำไปสู่การกระทำขัดแย้งในสังคม นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ นำไปสู่การช่วงชิงกันต่อไป ฉะนั้น ในยุคปฏิรูปมันต้องออกแบบระบบสังคมใหม่ตั้งมีระบบระเบียบ ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลย “ใครๆ เขาก็ทำกัน” เป็นคำพูดที่ควรจะเอาไปกลบฝังดินได้แล้ว
 
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการออกมาทำหน้าที่ในฐานะนักกฎหมายของผม จะเป็นการนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานที่ดีกับแวดวงข้าราชการไทย โดยเฉพาะแวดวงทหารซึ่งเป็นที่เชื่อถือของพี่น้องประชาชนคนไทยมาโดยตลอด สิ่งที่ผมทำไปได้ทำให้มีการดำเนินการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในสังคม

คุณกำลังบอกว่าระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย ต้องได้รับการแก้ไข

ระบบอุปถัมภ์มันเป็นประโยชน์ในบางส่วน ไม่ใช่ข้อเสียทั้งหมด แต่ว่าการเอาคนเข้าสู่ราชการที่ต้องมากินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนคนทั้งประเทศ มันควรจะใช้ระบบคุณธรรมมากกว่าระบบอุปถัมภ์ ระบบคุณธรรมก็คือผ่านขั้นตอนการคัดเลือกเข้ามาอย่างเปิดเผย โปร่งใส และก็ตรวจสอบได้ อย่าลืมว่าคนไทย ลูกหลานคนไทยที่เรียนปริญญาตรีหรือจบปริญญาโท แล้วมีความต้องการอยากจะเป็นทหารผมว่ามีเต็มแผ่นดินไทย โดยเฉพาะคนที่จบนิเทศศาสตร์อยากจะเป็นทหารก็เยอะแยะไป ดูในเว็บบอร์ดพันทิปเขาก็ตั้งกระทู้กัน ผมก็จบนิเทศศาสตร์ ทำอย่างไรถึงจะได้เป็นทหารอย่างลูกท่านปรีชาบ้าง?

ถ้าระบบคุณธรรมเหล่านี้มันเข้มแข็ง ระบบอุปถัมภ์มันก็จะลดน้อยไป ผมไม่เห็นด้วยที่เราจะมาให้ความสำคัญกับระบบอุปถัมภ์มากกว่าระบบคุณธรรม หลายๆ คนที่เขาเรียนจบปริญญาตรีมาเหมือนกัน แล้วบางคนอาจจะมีความรู้ความสามารถมากกว่า คนที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นนายทหารเสียอีก โดยประวัติ โดยเกรดเฉลี่ย โดยกิจกรรม โดยความสามารถ หลายคนผมคิดว่ามีความสามารถเหนือหลานท่านนายกรัฐมนตรี มีความสามารถเหนือลูกท่านปรีชา

ดูจากประวัติการทำงานของคุณ มีการดำเนินการฟ้องร้องตรวจสอบภาครัฐหลายเรื่องด้วยกัน

ครับ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมทำมันไม่ได้ประสบความสำเร็จไปเสียทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยมันก็เป็นบรรทัดฐานของสังคมได้อย่างมหาศาล บางคดีที่ผมฟ้องร้องไปก็เป็นประโยชน์ทำให้หน่วยงานของรัฐไม่ก้าวล่วงการใช้อำนาจอย่างนั้นอีกต่อไป บางเรื่องสามารถประหยัดเงินงบประมาณของแผ่นดินไปได้ หรืออย่างกรณีมาบตาพุดก็นำไปดูการเปลี่ยนแปลงการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้ว่า ณ วันนี้ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ สิ่งเหล่านี้ผมดำเนินการมาโดยตลอดด้วยจิตสำนึกของคนไทยที่ผมเรียนมา 5 - 6 ปริญญา และอยากเอาองค์ความรู้เหล่านี้มาตอบแทนสังคม แล้วก็จะทำอย่างนี้ตลอดไป ฉะนั้น จะมีใครมาปรับทัศนคติผมเป็นไปไม่ได้ เพราะทัศนคติผมทำงานเพื่อส่วนรวม

ถามเรื่องการคุกคาม มีอยู่เรื่อยๆ เนืองๆ เพราะสิ่งที่ผมทำไปเป็นการไปขัดแย้งกับการต่อผู้มีผลประโยชน์กลุ่มผู้มีอำนาจค่อนข้างจะเยอะ ก็มีคำขู่ผ่านโทรศัพท์บ้าง ผ่านคนรู้จักบ้าง มาเรื่อยๆ แต่ผมก็ไม่ค่อยจะใส่ใจให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก แต่ก็รับฟัง ระมัดระวังตัวเองเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ถึงปริวิตกหรือเกรงกลัวทำให้ตัวเองหยุดที่จะไม่ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของตนเอง ขอให้ระวังตัวนะ ระวังจะไม่ปลอดภัย ลูกปืนราคาไม่กี่บาทหรอก อย่าเอาขมิ้นมาแลกกับเกลือนะ อาจจะก้าวล่วงไปถึงครอบครัว ครอบครัวไม่ปลอดภัย แต่ก็เป็นเรื่องที่ผมรับทราบมาแล้วตั้งแต่ต้น รับสถานการณ์นี้มาหลายต่อหลายต่อครั้ง เข้าใจครับ (กลัวโดนอุ้มไหม?) ไม่กลัว ชีวิตเราอยู่ได้ไม่เกิน 120 ปี ถ้ามันจะมีใครปองร้าย ผมคิดว่าชีวิต ณ วันนี้ ครึ่งชีวิตแล้วผมคิดว่าเราได้ทำอะไรเพื่อสังคมเพื่อประเทศชาติมาพอสมควร ถ้าสามารถทำได้ต่อไป ผมคิดว่ามันก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต่อพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะคนที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ยังมีคนอีกเยอะที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับความเดือดร้อนจากอำนาจรัฐ จากนายทุน จากผู้ประกอบการ ซึ่งการที่ผมเข้าไปช่วยทางกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ช่วยฟรีด้วยซ้ำ ก็จะทำให้ประชาชนเขามีหวัง กำลังใจในการที่จะทำหน้าที่ปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ขณะที่เรายังต่อกรอำนาจรัฐได้ ทำไมชาวบ้านจะสู้ไม่ได้ มีขวัญกำลังใจให้กันและกัน

มีกระแสวิพากษ์ว่า คุณออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์บางประการรวมทั้งดิสเครดิตทหาร

ต้องดูประวัติการทำหน้าที่ของผมด้วย อย่ามาตำหนิเพราะว่าคนที่ผมดำเนินการเป็นคนที่ท่านรักท่านชอบ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าจะเป็นยุคอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, คสช. ผมก็ตรวจสอบมาโดยตลอดและต่อเนื่องมาอยู่แล้ว ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับผมเลยอาจจะมีความเสี่ยงภัยด้วยซ้ำ มาตำหนิว่าผมมีผลประโยชน์ มีเป้าหมายซ่อนเร้น ไม่มีครับ! ผมตรงไปตรงมาอยู่ไปแล้ว (การที่คุณเคยลงรับเลือกตั้งจึงถูกมองว่าสร้างกระแสสร้างฐานเสียง?) ผมลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประมาณปี 2557 เหตุที่ผมลงเพราะว่าบทบาท ส.ว. ในยุคนั้นทำหน้าในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และการแต่งตั้งคนไปดำรงตำแหน่ง ผมคิดว่าบทบาทตรงนี้เหมือนที่ทำอยู่ปัจจุบันนี้ แล้วมันไม่ไปอิงแอบกับฝ่ายการเมือง ผมจึงคิดว่า ถ้าผมเข้าไปอยู่ในตำแหน่ง ส.ว. ได้จะทำประโยชน์ให้กับสังคมเหมือนกับที่ผมทำมาในเชิงการตรวจสอบได้มากกว่า เพราะมันไปอยู่ในฐานอำนาจในระบบนิติบัญญัติแห่งชาติ จะบอกว่าหลังจากนี้ผมจะไปเป็นนักการเมืองมีชื่อเสียงแล้วลงสมัครหรือเปล่า ผมปฏิเสธเลย ไม่มีทาง!



กำลังโหลดความคิดเห็น