xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัย “นิด้า” ตีแผ่วงการข้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รายงานวิจัย “คุณภาพชีวิตของเกษตรกรภายใต้โครงการจำนำข้าว”ของสำนักวิจัยนิด้า พบปัญหาเกษตรกรชาวนา คือ ปัญหาเชิงซ้อนที่จะมองแบบมิติเดียวคงไม่ได้ อีกทั้งเกษตรกรที่จ้างแรงงานในการผลิต กับเกษตรกรที่ผลิตด้วยตนเองนั้นมีต้นทุนการผลิตต่างกัน และขาดอำนาจในการต่อรอง เป็นที่มาของปัญหาราคาข้าวไม่คุ้มทุน

รวมทั้งมีการเรียกร้องโครงการช่วยเหลือใหม่ ที่จะทำให้เกษตรกร สามารถคาดการณ์จุดคุ้มทุน ประมาณการรายได้ที่แน่นอน ที่จะได้รับเกิดขึ้นหลังฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้นั้น ในส่วนผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ ควรส่งสัญญาณให้เกษตรกรมองเห็นแนวโน้มในอนาคตว่าจะต้องเผชิญอย่างไรบ้าง

แนะรัฐแก้ปัญหาตรงจุด ด้วยมาตรการเฉพาะพื้นที่ โดยให้รางวัลพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อสร้างแรงจูงใจ เป็นขวัญและกำลังใจนำเงินส่วนรางวัลที่ได้มา ไปบริหารจัดการช่วยเหลือเกษตรกรในระดับพื้นที่ต่อไป ตลอดจนสร้างต้นแบบเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำนา และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มสหกรณ์เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ด้านเกษตรกรเองต้องเข้าใจปัญหาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งความต้องการ และกลไกของตลาดโลก ที่มีคู่แข่งทางการค้า และการบริโภคก็มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงควรน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อความยั่งยืน

ข้อมูลวิชาการอิงสถานการณ์ปัจจุบัน

ดร.บุญสม หรรษาศิริพจน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตและตัวชี้วัด สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ข้อมูลในเชิงวิชาการ ที่อิงกับสถานการณ์ข้าวเปลือกซึ่งมีราคาตกต่ำ และนำไปสู่ม็อบชาวนาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประเด็นด้านการเมืองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่บ้าง จากการทำวิจัยพบว่ามีนักการเมืองที่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับเกษตรกรชาวนาใน 2 ระดับ คือทั้งระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ

ขณะที่อีกส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงสีข้าวนั้น พบปัญหาในเรื่องของความไม่เข้าใจกัน และการประเมินค่าใช้จ่ายของการลงทุนในแต่ละส่วนของชาวนา ทั้งนี้จากการเก็บข้อมูลของชาวนา 2 กลุ่ม ซึ่งมีรูปแบบการจัดการต่างกัน กลุ่มแรก คือ ชาวนาที่ทำนาเองทุกกระบวนการ

ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ ชาวนาที่ทำนาแบบจ้างแรงงาน เช่น จ้างปลูก จ้างดูแลรักษา หรือจ้างเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจำนวนมากขึ้น ในกลุ่มนี้ ชาวนาบางส่วนอยู่ในวัยผู้สูงอายุ ทำให้มีความจำเป็นต้องพึ่งพาการว่าจ้าง ในบางขั้นตอนที่ต้องลงแรงและทำอย่างสม่ำเสมอ เช่น ขั้นตอนการบำรุงรักษา หรือการเก็บเกี่ยว

ปัญหาที่พบ คือ กลุ่มที่ทำนาแบบจ้างแรงงาน มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เช่น ในบางพื้นที่ใช้แรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่สามารถรับจ้างแบบไปเช้าเย็นกลับได้ การจ่ายค่าแรงจะเป็นการจ้างเป็นช่วงระยะเวลา และเหมาจ่ายกัน โดยใช้อัตราค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอย่างมาก เพราะค่าแรงนั้นบางครั้งไม่ใช่เพียงแค่อัตรา 300 บาทต่อวัน แต่ยังมีต้นทุนอื่นที่ต้องดูแล เช่นครอบครัวของแรงงานที่ติดตามมาด้วย ก็จะมีค่าอาหารเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งทั้งหมดคือต้นทุนการผลิตของชาวนา

อย่างไรก็ตาม หากชาวนาคนไหนมีกำลังสายป่านยาวพอก็ใช้ “ทุนของตนเอง” จ้างแรงงานได้ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ชาวนาที่ไม่มีทุนของตัวเองต้องอาศัยการกู้หนี้ยืมสิน โดยใช้ “ทุนของพ่อค้า” หรือ “ทุนจากการกู้ธนาคาร” มาทำนานั้นจะพบปัญหาจากต้นทุนด้าน “ค่าแรง” ที่บวกเข้าไป โดยไม่ได้มีการควบคุมและบริหารจัดการด้านการเงินให้เป็นระบบ

ปัญหาขาดอำนาจการต่อรอง

          สิ่งที่สร้างปัญหาอีกประการ คือ เรื่องการกำหนดราคาขาย เพราะจากงานวิจัย เกษตรกรระบุว่าไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ ทั้งที่โดยธรรมชาติของการขายสินค้าต้องสามารถกำหนดราคาได้ เจรจาต่อรองได้ แต่เกษตรกรวันนี้ไม่มีอำนาจในการต่อรอง พ่อค้า โรงสี หรือผู้ประกอบการว่าอย่างไรก็ต้องทำตามนั้น

          ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีบางส่วนที่มีความจำเป็นด้านการเงินฉุกเฉิน ที่ต้องไปพึ่งพาจากพ่อค้า หรือผู้ประกอบการ ทำให้ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เพราะการจ่ายหนี้สินนั้นใช้ผลผลิตเป็นการจ่าย พ่อค้าจะตีราคาตามราคาตลาด ตัดต้นทุน ตัดหนี้สิน เงินที่จะมาใช้จ่ายของชาวนาก็ขาดหายไป เพราะเป็นการนำเงินในอนาคตมาใช้

           ขณะที่เกษตรกรส่วนที่ไม่มีการกู้ยืมเงิน ไม่มีหนี้สิน จะมีคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่แตกต่างจากกลุ่มที่มีหนี้สิน รวมทั้งสามารถบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้ มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง บอกสิ่งที่ตนต้องการกับพ่อค้า โรงสี หรือผู้ประกอบการได้ ลักษณะการเจรจาจะต่างกันอย่างชัดเจน

ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องนำมาคิดนั้นเป็นปัจจัยเรื่องต้นทุนในแต่ละขั้นตอน เช่นชาวนาให้โรงสีมาซื้อข้าวถึงที่นา ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการขนส่ง การดูแล จะเป็นภาระของโรงสี รายละเอียดเหล่านี้จึงต้องมีการคุยกันอย่างชัดเจนระหว่างชาวนากับผู้ประกอบการ ต้องสร้างความโปร่งใสทั้งสองฝ่าย เช่นจากราคาในสมัยที่มีโครงการจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน

มีการตั้งคำถามว่า ทำไมชาวนาไม่ได้ตามราคาที่ตั้งไว้ จึงต้องคุยให้เข้าใจกันถึงตัวแปรต่างๆ ตั้งแต่การขนส่ง ความชื้น คุณภาพข้าว และอื่นๆ ถึงแม้ชาวนาจะมีความเข้าใจเรื่องเกณฑ์การวัดเรื่องความชื้น แต่ก็ยังมีความกังขา เนื่องจากเครื่องมือวัดความชื้น และบุคลากรที่เป็นผู้ตรวจวัดเป็นของโรงสีทั้งสิ้น ทั้งที่เครื่องมือวัดความชื้นมีราคาไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งสามารถซื้อหามาตรวจสอบเองได้

          นอกจากนี้ยังมีเรื่องพื้นที่จัดเก็บ ซึ่งชาวนามักไม่คำนึงถึงเรื่องนี้ ส่วนใหญ่เมื่อข้าวตั้งท้องก็ขายให้กับโรงสีเลย ไม่มียุ้งฉางเก็บ ทำให้ไม่มีการต่อรองราคา แต่ในส่วนของกลุ่มที่มีสหกรณ์ มีผู้นำที่บริหารได้ดี จะเป็นกลุ่มที่แข็งแรง ไม่มีปัญหาในคุณภาพชีวิต ชาวนาจึงต้องหันมาใช้เครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา ทำให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น 

           ในส่วนของรัฐเอง ก็เคยมีมาตรการในปลายปี 2558 ที่ให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อมองปัญหาให้ถูกจุด ช่วยในเรื่องข้อมูลให้หามาตรการช่วยเหลือเป็นกลุ่ม เนื่องจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาในระดับบุคคลได้
 
            จากการสัมภาษณ์ในส่วนของโรงสีเองนั้น ก็มีสมาคมโรงสี มีผู้ประกอบการเป็นสมาชิกดูแลในระดับพื้นที่ มีความช่วยเหลือเกื้อหนุนกันระหว่างชาวนากับโรงสีอยู่แล้ว ในระหว่างที่ผลผลิตไม่มี โรงสีก็มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ต้องดูแลคน เมื่อถึงเวลาที่ต้องไปรับข้าวจากที่นาก็มีต้นทุนทั้งค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการเก็บ การสี การบริหารจัดการเช่นกัน รวมทั้งความชื้นในข้าวบางส่วนที่ทำให้ราคาไม่ได้ตามที่ประกาศ แม้อาจจะได้ถัวเฉลี่ยบางส่วนจากข้าวที่มีคุณภาพดี



ราคาข้าวที่ชาวนาควรได้รับไม่ขาดทุนและอยู่ได้

จากงานวิจัย พบว่านอกจากต้นทุนจากการใช้สารเคมีหรือปุ๋ย มีการขยับปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนของชาวนาเพิ่มขึ้น คือ รูปแบบของการทำนาเองและการจ้างแรงงานนั้น ก็เป็นต้นทุนที่ส่งผลต่อราคาข้าวที่เกษตรกรควรได้รับด้วยเช่นกัน

ในเรื่องของราคาข้าว ที่ชาวนาพอใจและเห็นว่าอยู่ได้นั้น กลุ่มชาวนาที่ผลิตเอง ทำเองทุกกระบวนการ ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ไม่ต้องคำนวณค่าแรงของตนเองที่ลงมือทำนา ไม่มีต้นทุนจากการจ้างแรงงาน ยกตัวอย่างมีต้นทุนการผลิตเพียง 3,000 บาทต่อ 1 ไร่ ถ้าขายข้าวได้ 6,000-9,000 บาท/ตัน ก็สามารถอยู่ได้แบบไม่เดือดร้อน

ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่มีความแตกต่างกับความต้องการของชาวนาที่มีการจ้างแรงงานในการผลิต ที่มีค่าแรงเข้ามาบวกเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นจากปกติ อย่างไรก็ตาม จากการวิจัย ชาวนากลุ่มนี้ยังตอบว่า “พออยู่ได้” หากรัฐซื้อข้าวในราคา 9,000-12,000 บาท/ตัน

หลายตัวแปรที่ก่อปัญหาให้กับชาวนา

ตัวแปรของคุณภาพชีวิตของเกษตรกรคือ รายได้ ครอบครัว และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ความพึงพอใจ และอีกส่วนที่เป็นตัวแปรคือโครงการรับจำนำข้าว เพราะได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำทันที ทำให้มีการเรียกร้องอยากให้มีโครงการแบบนั้นกลับมาอีก

ทั้งนี้พบว่าเกษตรกรไม่ได้ระบุว่า ต้องเป็นโครงการเดิม แต่อยากให้มีโครงการอะไรก็ได้ ที่ทำให้สามารถประเมินรายได้ของตนเองที่จะได้จากการขายข้าวเมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาล เพราะถ้าเป็นข้าราชการประจำ หรือคนทำงานบริษัทเอกชนจะรู้ว่าสิ้นเดือนมีรายรับเท่าไหร่ แต่เกษตรกรเมื่อสิ้นฤดูกาลไม่รู้ ไม่สามารถคาดการณ์รายรับได้ เพราะชะตากรรมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยการบริโภคภายใน ซึ่งประเด็นนี้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ ต่างร่วมมือกันหามาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการซื้อข้าวภายในประเทศ

แต่ปัจจัยการบริโภคภายนอก ซึ่งประเด็นนี้ผู้ส่งออกจะทราบกลไกตลาดโลก ทั้งปัจจุบันและแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเกษตรกร ดังนั้นช่วงเวลาก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อชาวนา จึงควรมีการส่งสัญญาณให้เตรียมตัวเตรียมใจไว้บ้าง
ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ดูเหมือนการแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นจุดที่มีการเชื่อมต่อค่อนข้างมาก และมีความอ่อนไหว (Sensitive) มากด้วยเช่นกัน
ดร.บุญสม หรรษาศิริพจน์ นักวิจัย สำนักวิจัย สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
แนะรัฐเลี่ยงแก้ปัญหาด้วยมาตรการเดียวทั่วประเทศ

สำหรับวิธีการแก้ปัญหาที่พบจากงานวิจัยนั้น หากมองจากปัญหาและความต้องการของเกษตรกรในแต่ละภาค พบว่าแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งปัญหาที่แตกต่างกัน และมีระดับความรุนแรงที่ต่างกัน รวมไปถึงปัญหาในปัจเจกบุคคลที่ต่างกัน

ขณะที่สถานการณ์ในความเป็นจริงวันนี้ มาตรการช่วยเหลือของรัฐใช้เกณฑ์ของความเสมอภาค และเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ จึงเป็นการใช้มาตรการเดียวกันทั้งประเทศ แต่ปัญหาที่ตามมาคือ ทำให้แก้ปัญหาไม่ตรงจุดในบางพื้นที่ เมื่อมาประเมินจึงได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน เหมือนการรักษาไม่ถูกโรค และการแก้ปัญหาของเกษตรกรชาวนาจะไม่จบ แต่จะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังไปนั้น รัฐบาลทุกสมัยให้ความสำคัญกับการดูแลปัญหาเรื่องข้าวมาโดยตลอด และมีการใช้งบประมาณที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัย พบว่ารัฐบาลมีมาตรการและแนวทางในการแก้ไขเป็นรูปธรรม ที่เป็นไปตามผลการวิจัย เช่น เรื่องการปลดหนี้ การสร้างสวัสดิการให้กับเกษตรกร มีการออก พ.ร.บ.สวัสดิการของเกษตรกร เพื่อสร้างชีวิตที่มั่นคงให้กับเกษตรกร และผลของการวัดความสุขของเกษตรกรนั้น พบว่าเกษตรกรยังมีความสุข

สำหรับปัญหาด้านผลผลิตที่ยังคงมีอยู่นั้น เราวิเคราะห์ว่ารัฐบาลไม่ควรแก้ปัญหาด้านเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่ควรเป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบ อย่ามองแค่กลไกตลาดอย่างเดียว ไม่อย่างนั้นจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบปีต่อปี

ตัวอย่างเช่นพื้นที่ทางภาคอีสาน เช่นที่จังหวัดสุรินทร์บางแห่ง ไม่มีแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ จะทำอย่างไร เราจึงต้องมาดูปัจจัยการผลิต เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ไม่มีแหล่งน้ำในพื้นที่ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก องค์ประกอบต่างๆ ของการผลิตจึงต้องนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด และรัฐต้องไปแก้ปัญหาที่สาเหตุ
ทหารเกี่ยวข้าวช่วยชาวนาจังหวัดปทุมธานี ลดต้นทุนการผลิต (9 พฤศจิกายน 2559)
ดังนั้นทางออกที่สำคัญ คือ ให้ชาวนามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยที่รัฐช่วยเหลือเกื้อหนุนแนะแนวทางที่มีความเป็นไปได้ ให้จริงใจต่อกันและมีเป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตชาวนาดีขึ้น

ส่วนปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ เป็นบทบาทหน้าที่ของรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือ ในลักษณะการรวมกลุ่มสหกรณ์แล้วสะท้อนปัญหานั้นมาที่รัฐ รวมถึงสร้างต้นแบบที่ดี โดยดึงเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จในการทำนา มีฐานะดี มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ไม่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งมีกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ นำคนเหล่านี้มาเป็นต้นแบบให้เกษตรกรที่พบปัญหา

ในระดับพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ ควรสร้างแรงจูงใจโดยให้รางวัล จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยแก้ปัญหา โดยให้รางวัลเป็นขวัญและกำลังใจ นำเงินรางวัลที่ได้มา ไปบริหารจัดการช่วยเหลือเกษตรกรในระดับพื้นที่ต่อไป

ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากความช่วยเหลือจากรัฐแล้ว ต้องมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดหรือพฤติกรรมของเกษตรกรด้วยเช่นกัน คือ สร้างความตระหนักให้มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และต่ออาชีพตัวเอง รวมถึงมีความอดทน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องข้าวมาโดยตลอด รวมถึงยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นทางแก้ปัญหาแบบยั่งยืนให้เกษตรกรอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่เดือดร้อน มีกินมีใช้อย่างพอเพียง อย่างไรก็ดี การปรับพฤติกรรมวิถีชีวิตของคนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง



กำลังโหลดความคิดเห็น