xs
xsm
sm
md
lg

กนง.มีมติเอกฉันท์คง ดบ.นโยบายที่ระดับ 1.50% พร้อมเกาะติดการเมือง ลงทุนเอกชน และเงินทุนเคลื่อนย้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ตามคาด! ที่ประชุม กนง.มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ประเมินเศรษฐกิจยังฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมติดตามผลการลงประชามติ 7 ส.ค.นี้ เชื่อไม่มีผลกระทบระยะสั้นต่อเศรษฐกิจ แต่ยังห่วงเรื่องเงินลงทุนภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตมาก ส่วนเม็ดเงินไหลเข้า และทำให้บาทแข็งค่าจะดูแลให้เกิดความเหมาะสม

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่า เศรษฐกิจยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้ในระยะข้างหน้าจะมีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่เงินเฟ้ออาจกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่เคยประเมินไว้เล็กน้อย เพราะแรงกดดันจากราคาพลังงานที่อาจต่ำกว่าคาด ส่วนภาวะการเงินในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ กนง. มองว่า เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ทำได้ต่อเนื่องตามคาด และภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ตามรายได้ และความเชื่อมั่นของครัวเรือนในภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ และการส่งออกสินค้ายังหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงมากกว่าคาด

ในภาพรวม เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อน อาทิ ความไม่แน่นอนภายหลังการลงประชามติในสหราชอาณาจักร (Brexit) ปัญหาภาคการเงินในยุโรป และพัฒนาการทางการเมืองในต่างประเทศ ซึ่งอาจะกระทบต่อความเชื่อมั่น และแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป ในขณะที่ความเสี่ยงในภาคการเงินจีนยังมีอยู่

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.ชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัว คณะกรรมการฯ ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังคงมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ระยะเวลาอาจเลื่อนออกไปบ้าง ขึ้นอยู่กับทิศทางของราคาน้ำมันโลกเป็นสำคัญ

ขณะเดียวกัน กนง.มีการหารือถึงสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ที่จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ซึ่งทาง กนง.มองว่า ต้องรอการลงประชามติออกมาก่อน แต่ประเมินว่าผลกระทบในระยะสั้นต่อเศรษฐกิจคงไม่มี เนื่องจากภาคธุรกิจ และเอกชนไม่ได้แสดงความกังวลอะไรเป็นพิเศษ แต่ยังติดตามสถานการณ์การเมืองหลังทราบผลการลงประชามติ และมองว่าผลกระทบจากต่างประเทศเป็นความเสี่ยงหลักที่อาจจะส่งผลให้ กนง.ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจต่ำลงได้

นอกจากนี้ กนง.ยังห่วงเรื่องเงินลงทุนภาคเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีตมาก เพราะการลงทุนภาคเอกชนจะช่วยเพิ่มการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความสามารถการแข่งขันของไทยได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าการลงทุนภาคเอกชนผูกติดกับการส่งออก ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า และการส่งออกยังหดตัว การลงทุนภาคเอกชนยังไม่เร่งตัวขึ้น

ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลเข้าประเทศไทย ส่งผลกระทบให้เงินบาทแข็งค่านั้น ที่ประชุม กนง.มีการหารือกันว่า สาเหตุที่เงินทุนไหลเข้า เพราะต่างชาติมองว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง แต่ยอมรับว่าบางช่วงเวลาเงินบาทอาจจะแข็งค่ามากเกินไป จนอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของประเทศบ้าง ซึ่งทาง ธปท.มีเครื่องมือในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนหลายเครื่องมือ ไม่ใช่เฉพาะอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ซึ่งในระยะข้างหน้า อัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนมีความผันผวนสูง

ทั้งนี้ กนง.เห็นว่า ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำ และการระดมทุนโดยรวมของภาคธุรกิจ และสินเชื่อครัวเรือนยังขยายตัวได้ แม้ธุรกิจบางกลุ่มมีข้อจำกัดในการได้รับสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักบางสกุล และอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ กนง.เห็นว่า ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

คณะกรรมการฯ เห็นว่า การรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญ เพราะในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น

ในระยะต่อไป กนง.เห็นว่า นโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น