xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ดีแน่! บาทแข็งจากทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น กกร.แสดงท่าทีกังวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกร.ไม่ปรับเป้าหมายเศรษฐกิจ คงระดับ GDP ปีนี้โต 3-3.5% ส่งออก 0- ติดลบ 2% รับกังวลเงินบาทแข็งค่าจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นซึ่งจะต้องติดตามใกล้ชิด หนุนสมาชิกออกไปใช้สิทธิลงประชามติ 7 ส.ค. มองไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไรไร้ผลกระทบด้าน ศก.

นายปรีดี ดาวฉาย นายกสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย เดือนสิงหาคม 2559 ว่า กกร.ยังคงกรอบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้โต 3-3.5% และการส่งออก 0- ติดลบ 2% แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวแต่ก็ยังคงมีหลายปัจจัยที่จะต้องติดตาม คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการขยายตัวทางการท่องเที่ยวมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจกิจโลกที่ยังคงเผชิญความเสี่ยงจาก BREXIT ปัญหาภาคธนาคารในยุโรป และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนที่อาจแข็งค่าจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้น ถือว่ากรณีดังกล่าวน่าเป็นห่วงและต้องติดตามแต่ก็เชื่อว่าภาครัฐได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดในประเด็นนี้

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้เงินบาทได้กลับมาแข็งค่าที่สุดในรอบปี แต่ยังคงเป็นการแข็งค่าที่น้อยกว่าสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค ยอมรับว่ามีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนย้ายของเงินทุนระยะสั้นขณะนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก เพราะควรเป็นการแข็งค่าจากความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าภาครัฐโดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีมาตรการดูแลและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด

สำหรับการไปสิทธิลงประชามติวันที่ 7 สิงหาคมนี้ กกร.สนับสนุนให้สมาชิกไปลงประชามติ ส่วนจะรับหรือไม่รับขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล ในส่วนของการประชุม กกร.ไม่มีการพูดถึงข้อดีข้อเสียในการรับหรือไม่รับ ส่วนตัวมองว่าผลจะออกมาในด้านใดจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจหากรัฐบาลยังเดินหน้าตามโรดแมปที่วางไว้ และไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ส่วนการแสดงความคิดเห็นเชิงสัญลักษณ์ของฝ่ายเห็นต่างก่อนหน้านี้ มองว่าหากไม่ขัดต่อกฎหมายก็เป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ จึงยังไม่สร้างความเสี่ยงใดๆ ต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น