xs
xsm
sm
md
lg

In Clips: ธนาคารกลางอังกฤษเตรียมออกมาตรการรับเศรษฐกิจถดถอย แต่ยังหาก้นเหวไม่เจอในวิกฤต BREXIT

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์/เอเจนซีส์ - ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อยู่ท่ามกลางความกดดันให้ต้องตัดสินใจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เพื่อประเมินถึงสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจอังกฤษที่จะเกิดขึ้นจากผลของวิกฤต BREXIT และมาตรการทางการเงินที่ทางอังกฤษจะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขสถานการณ์ หลังจากในวันศุกร์ (29 ก.ค.) ล่าสุด นักลงทุนทั่วโลกต่างผิดหวังที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังไม่ยอมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ออกมา

รอยเตอร์รายงานล่าสุด ว่า ผลสำรวจของรอยเตอร์ต่อบรรดานักเศรษฐศาสตร์ต่าง ๆ ที่ได้เผยแพร่ในวันอังคาร (26 ก.ค.) ได้ชี้ว่า เชื่อว่า ทางธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) น่าจะปรับลดอัตราเบนช์มาร์ก (benchmark) ของธนาคารลง 0.25% จาก 0.50% ในวันที่ 4 สิงหาคม ที่จะถึง แต่มีเสียงส่วนมากเชื่อว่า มาตรการนี้จะไม่ช่วยในการขายบอนด์ครั้งมโหฬารที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้

โดย อดัม โพเซน (Adam Posen) อดีตนักจัดเรตติงประจำ BOE ได้ออกมากระตุ้นให้ทาง BOE หั่นตัวเลขลงเหลือศูนย์ ถึงแม้ว่าผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ มาร์ก คาร์นีย์ (Mark Carney) จะมีความกังวลถึงว่า หากทำเช่นนั้นจะยิ่งเป็นการทำร้ายสถาบันการเงินอังกฤษ และยังเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่า มาตรการที่แข็งกร้าวจะมีขึ้นอีกหลังจากนั้น

ในการให้สัมภาษณ์โพเซน กล่าวว่า “ในขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทางธนาคารกลางอังกฤษจะสามารถตอบสนองในการส่งสัญญาณอย่างชัดแจ้งที่ว่า พวกเขามีความกังวลถึงการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้น และจะทำทุกสิ่งที่จะทำได้เพื่อทำให้สถานการณ์นิ่ง” โดย โพเซน ชี้ว่า “คาดว่า น่าจะเป็นมาตรการแบบ counterproductive ออกมา”

และรอยเตอร์รายงานต่อว่า เชื่อว่าทาง BOE น่าจะใช้มาตรการที่ออกมาชั่วคราว เพื่อช่วยเศรษฐกิจ เป็นต้นว่า กระตุ้นให้ทางธนาคารอังกฤษต่าง ๆ ทำการปล่อยกู้เพิ่มมากขึ้นในระหว่างที่รอสัญญาณที่แน่ชัดในการรับรู้ถึงผลกระทบที่ชัดเจนในวิกฤต BREXIT ที่จะมีต่อเศรษฐกิจออกมา ซึ่งในขณะนี้ ยังไม่มีความแน่ชัดส่งออกมาจาก 2 สถาบันการเงินคุมเศรษฐกิจโลก ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยที่ผ่านมา ธนาคารกลางทั้งสองแห่งนี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าศูนย์แล้ว เพื่อหวังในการกระตุ้นเศรษฐกิจของตัวเองให้ฟื้นกลับ

ซึ่งที่ผ่านมาในช่วง 3 ปีล่าสุด อังกฤษถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด แต่ทว่าการทำประชามติประกาศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 23 มิถุนายน ล่าสุด สร้างความกังวลว่า อังกฤษจะกลับมาเกิดเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้งในช่วงระยะเวลาเฉพาะหน้า พร้อมกับความไม่แน่นอนในสถานการณ์ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงที่อังกฤษต้องใช้ความพยายามในการเจรจาปักหมุดทางการค้ากับสหภาพยุโรปรอบใหม่

โดยไฟแนนเชียลไทม์ สื่อธุรกิจรายงานก่อนหน้านี้ ว่า ในวันพุธ (27 ก.ค.) ที่ผ่านมา ธนาคารลอยด์แบงก์ สัญชาติอังกฤษ ได้ออกมาประกาศการปลดพนักงานออก 3,000 ตำแหน่ง และมีการสั่งปิด 200 สาขา โดยอ้างว่าเป็นผลมาจากวิกฤต BREXIT พร้อมเตือนว่า BREXIT จะทำให้เศรษฐกิจอังกฤษชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งธนาคารแห่งนี้เป็นสถาบันการเงินอังกฤษแห่งแรกที่ได้ออกรายงานผลประกอบการออกมาหลังจากเสร็จสิ้นการลงประชามติประกาศแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ คาร์นีย์ กล่าวต่ออีกว่า ความเป็นจริงแล้วในช่วง 1 สัปดาห์ หลังจากประชามติ BREXIT เขาได้เคยทำนายว่า อังกฤษน่าจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล็อตใหม่ออกมาช่วงหน้าร้อน แต่กระนั้นกลับกลายว่า ทาง BOE ทำให้เหล่านักลงทุนทั่วโลกผิดหวัง เมื่อทางธนาคารกลางอังกฤษยังคงอัตราดอกเบี้ยเดิมต่อไปในเดือนกรกฎาคม สร้างแรงกดดันมากขึ้นให้ต้องลงมือกระทำในเดือนสิงหาคม

รอยเตอร์ชี้ว่า เป็นที่น่าตกใจว่าในขณะนี้ ***ธนาคารกลางอังกฤษ BOE ยังคงไม่มีตัวเลขทางการในมือ เพื่อประเมินถึงผลกระทบวิกฤต BREXIT ที่จะส่งผลหนักที่สุดต่อเศรษฐกิจอังกฤษ ว่า จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่สุดอย่างไร ถึงแม้ว่าแบบสำรวจประเมิน ที่บางครั้งอาจจะไม่แน่นอน ได้ชี้ถึงการตกลงอย่างหนักของความเชื่อมั่นการบริโภค และยังทำนายไปถึงความอ่อนแอในการขยับตัวในภาครวมตลอดทั้งระบบเศรษฐกิจ***

และดูเหมือนว่า ในสัปดาห์นี้ สัญญาณการอ่อนตัวครั้งใหม่ทางภาคเศรษฐกิจของอังกฤษในภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และบริการจะเกิดขึ้นให้เห็นในรายงานที่จะออกมาในช่วงวันจันทร์ - วันพุธนี้ นอกจากนี้ รอยเตอร์ยังชี้ต่อว่า โดยอ้างอิงจากรายงานการสำรวจความเห็นต่อนักเศรษฐศสาตร์ต่าง ๆ เชื่อว่า เมื่อหันไปดูฝั่งเขตเศรษฐกิจยุโรปจะพบว่า PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (purchasing manager indexes) นั้น มีสถานการณ์ไม่ต่างกัน ที่ชี้ไปว่า เศรษฐกิจฝรั่งเศสจะตกในความชะงักงัน ที่ตามมาด้วยทำให้ ECB ต้องออกแรงมาตรการกระตุ้นออกมา ซึ่งคาดว่าน่าจะเร็วที่สุดอยู่ภายในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้

แต่ในทางกลับกัน เมื่อดูไปยังอีกฟากฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก พบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯได้ส่งสัญญาณความแข็งแกร่งออกมา ถึงแม้ว่าจะอ่อนกว่าตัวเลขอัตราเติบโตเบื้องต้นในไตรมาสที่ 2 ที่เคยคาดการณ์เอาไว้ ประกอบกับตัวเลขรายงานการจ้างงานในอเมริกาที่จะออกมาในวันศุกร์ (5 ส.ค.) ซึ่งเชื่อว่า จะมีอัตราการใส่ตัวเลขงานในระบบมากขึ้น

ในขณะที่เฟดสหรัฐฯได้ออกมาส่งสัญญาณถึงความน่าจะเป็นที่อาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งที่ 2 นับตั้งแต่ก่อนการเกิดวิกฤตทางการเงินในปีนี้

รอยเตอร์ยังชี้ต่ออีกว่า เมื่อดูไปถึงชาติร่ำรวยต่าง ๆ พบว่า ภาระการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะตกเป็นภาระของรัฐบาลชาตินั้น ๆ มากกว่าธนาคารกลาง เป็นต้นว่า โตเกียวได้ให้คำมั่นในแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 272 พันล้านดอลลาร์ และในส่วนของอังกฤษ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังคนใหม่ ฟิลิป แฮมมอนด์ (Philip Hammond) เปิดเผยว่า เขาอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงสิ้นปีนี้ หลังจากที่สามารถประเมินถึงความเสียหายอย่างชัดเจนในวิกฤต BREXIT ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนซัมมิต G20 ซึ่งถูกจัดขึ้นในจีนในปีนี้ในช่วงระหว่างวันที่ 23 - 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาติสมาชิกต่างออกมาตกลงว่า จะใช้เงินสาธารณะในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Citi ได้ชี้ไปถึงตัวเลขจากสถาบันการเงินระหว่าประเทศ IMF ว่า ถือเป็นครั้งแรกที่ชาติร่ำรวยต่าง ๆ จะสูญเสียนโยบายการคลังประจำปีในปีนี้นับตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา







กำลังโหลดความคิดเห็น