ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ภาวะเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 2 ปี 2559 ขยายตัวเล็กน้อย หลังได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายโครงการเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยอดขายรถยนต์เริ่มกระเตื้อง แต่รายได้ภาคเกษตรยังลด คาดแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาส 3 ยังขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เหตุได้แรงหนุนจากการเร่งรัดใช้จ่ายภาครัฐ ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย
วันนี้ (2 ส.ค. 59) ที่ห้องประชุม 301 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ธปท.สภอ.) จัดแถลงข่าวเศรษฐกิจ ครั้งที่ 3/2559 “ภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไตรมาส 2/2559” โดยมีนายชาญชัย บุรถาวร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ. พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมแถลงข่าว
นายชาญชัย บุรถาวร ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สภอ.เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจภาคอีสานโดยรวมช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2559 ว่าขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งรายจ่ายลงทุนในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้างที่ขยายตัว และยังมีเม็ดเงินที่ส่งผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ (หมู่บ้านละ 200,000 บาท) ที่เริ่มเบิกจ่ายในเดือนมิถุนายน 6,630.5 ล้านบาท และมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) 6,030.7 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินนอกงบประมาณในส่วนของโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและถนน 2,197.4 ล้านบาท
ด้านการบริโภคภาคเอกชนทรงตัวใกล้เคียงกับช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ส่วนการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เนื่องจาก สภาพอากาศที่ร้อนกว่าปีก่อนๆ ส่งผลให้ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายหมวดยานยนต์ปรับลดลงเล็กน้อย เนื่องจากมีการเร่งซื้อในช่วงปลายปี 2558 ก่อนการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์
อย่างไรก็ตาม ยอดขายรถยนต์ในเดือนมิถุนายน 2559 เริ่มปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการจัดโปรโมชั่นของผู้ผลิตรถเพื่อเร่งยอดขายและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่น ส่วนรายได้ภาคเกษตรยังลดลง จากผลผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ผนวกกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ จากความกังวลต่อภาะเศรษฐกิจและภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ทั้งสถาบันการเงินยังชะลอการให้สินเชื่อแก่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่าย
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนยังลดลงจากช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2559 โดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังลดลง ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นถึงกว่า 3 เท่าตัว โดยโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับการส่งเสริมในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2559 ได้แก่ กิจการพลังงานไฟฟ้าจากน้ำมันยางดำและสารเคมีสำหรับการผลิตเยื่อกระดาษ กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานไอน้ำ กิจการผลิตยางเครฟ กิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล และกิจการผลิตไก่ชำแหละ เป็นต้น
ด้านอัตราเงินเฟ้อช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2559 อยู่ที่ร้อยละ 0.67 โดยกลับมาเป็นบวก หลังจากที่ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมกราคม2558 ตามราคาอาหารสด อาหารสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาสูบ และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0
นายชาญชัยกล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ว่าเศรษฐกิจอีสานไตรมาสที่ 3 จะยังขยายตัวต่อไปได้ ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน ที่ BOI ได้อนุมัติไว้หลายโครงการ และที่สำคัญภาวะภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายทำให้คาดการณ์ผลผลิตภาคเกษตรช่วงกลางและปลายปีจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไตรมาสที่ 3 คือ การส่งออกผลผลิตการเกษตร ไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะจีน