xs
xsm
sm
md
lg

กังวล ศก.ยังไม่ฟื้นตัว ดัชนีเชื่อมั่น ศก.ฐานรากเดือน พ.ค.ปรับตัวลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน เผยดัชนีเชื่อมั่นฯ เดือนพฤษภาคม 2559 ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ระดับ 43.6 คาดยังกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และเศรษฐกิจโลก พร้อมคาดการบริโภคของประชาชนฐานรากจะค่อยๆ ฟื้นตัวปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ปีนี้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (GSI) เดือนพฤษภาคม 2559 สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศ พบว่า GSI เดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 43.6 ปรับลดลงจากเดือนเมษายน ที่ระดับ 44.9 แสดงให้เห็นว่า ประชาชนระดับฐานรากยังคงเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรยังมีราคาต่ำ ส่งผลให้กำลังซื้อในประเทศยังไม่ฟื้นตัวมาก แม้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 ไตรมาส หรือในรอบ 3 ปีก็ตาม แต่ปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อประชาชนฐานรากไม่มาก

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นในความสามารถจับจ่ายใช้สอยเดือนพฤษภาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 68.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2559 อยู่ที่ระดับ 61.3 และดัชนีความเชื่อมั่นในภาระหนี้สินอยู่ที่ระดับ 44.9 เพิ่มขึ้นจาก 40.1 แสดงถึงภาระหนี้สินที่ผ่อนคลายลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาวะเศรษฐกิจ การออม โอกาสในการหางานทำ และการหารายได้เดือนพฤษภาคม 2559 ปรับตัวลดลงจากเดือนเมษายน ขณะที่รายได้และค่าใช้จ่ายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 49.6 มีรายได้พอดีกับค่าใช้จ่าย รองลงมาร้อยละ 35.6 มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย และมีเพียงร้อยละ 14.8 ที่มีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีมีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย ส่วนใหญ่จะทำการกู้ยืมนอกระบบ ร้อยละ 41.4 รองลงมา กู้ยืมในระบบ ร้อยละ 25.8 และหารายได้เสริม ร้อยละ 15.5 ด้านวัตถุประสงค์หลักของการก่อหนี้ คือ เพื่อการอุปโภคบริโภค ร้อยละ 33 ชำระหนี้เดิม ร้อยละ 22.7 และเช่าซื้อที่อยู่อาศัย ร้อยละ 10.9 ซึ่งภาระหนี้ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนฐานราก ทั้งใช้จ่ายน้อยลง ร้อยละ 45.2 หารายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 36.3 กู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.4 และถูกติดตามทวงหนี้ ร้อยละ 1.8

ส่วนการสำรวจปัญหาหนี้นอกระบบในภาวะค่าครองชีพสูงของประชาชนฐานราก พบว่า อันดับ 1 คือ รายได้ไม่พอต่อภาวะค่าครองชีพในปัจจุบัน ร้อยละ 45.4 รองลงมา คือ รายได้ไม่แน่นอน ราคาผลผลิตการเกษตรไม่แน่นอน ร้อยละ 40 และเงินที่หามาได้ส่วนใหญ่ต้องนำมาใช้หนี้ ร้อยละ 28.9

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธุรกิจและเศรษฐกิจฐานราก คาดว่า การบริโภคของภาคประชาชนฐานรากยังฟื้นตัวไม่มากในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก พร้อมคาดการบริโภคของประชาชนฐานรากจะค่อยๆ ฟื้นตัวปลายไตรมาส 2 ถึงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ ตามปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลต่อรายได้ การมีงานทำ ตลอดจนภาระหนี้ และค่าใช้จ่ายของประชาชนฐานราก
กำลังโหลดความคิดเห็น